ภาคประชาสังคมชวนปชช. ร่วมค้าน ร่างกฏหมาย SEC หวั่นซ้ำรอย EEC

ภาคประชาสังคมชวนประชาชน ร่วมค้าน ร่างกฏหมายระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC หวั่นซ้ำรอย EEC นักกฏหมาย ระบุว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจรัฐบริหารเอื้อประโยชน์ต่างชาติ ขาดการมีส่วนร่วมประชาชน สร้างเขตปกครองพิเศษทางเศรษฐกิจ


การเสวนาเรื่อง "ภาคใต้จะถูกยึดด้วย พ.ร.บ. SEC จัดขึ้นหลังเป็นที่แน่ชัดว่า คณะรัฐมนตรี เตรียมผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ภายในเดือนกันยายนนี้ จากที่มีอยู่แล้ว 2 ร่างเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย จึงเป็นห่วงว่ากฏหมายนี้จะเป็นที่มาให้ภาคใต้ถูกยึด เพราะการกำหนดให้ 4 จังหวัดที่อยู่ในกฏหมาย SEC คือ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี และให้อำนาจคณะกรรมการบริหาร SEC ที่แม้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะรัฐมนตรี รวมถึงผูัทรงคุณวุฒิ มีอำนาจการบริหาร ในการกำหนดผังเมือง สิทธิภาษี ที่ดิน และการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งตัวร่างกฏหมายยังลอกมาจาก กฏหมาย EEC ในภาคตะวันออก ที่ถูกเรียกว่ากฏหมายที่เป็นบิดาแห่งการยกเว้น


ขณะที่นักวิชาการด้านกฏหมายชี้ให้เห็นปัญหาของร่างกฏหมาย EEC ที่อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการให้อำนาจคณะกรรมการบริหาร SEC มากเกินไป การละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน และสร้างระบบยกเว้นในกฎหมาย ยกเว้นสิทธิ์ในการถือครองที่ดินและอาคารชุดของคนต่างด้าว ที่ไม่ต้องได้รับการอนุญาตตามกฎหมายที่ดิน ยกเว้นกฎหมายราชพัสดุ ยกเว้นกฎหมายคนเข้าเมือง ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว กฎหมายศุลกากร ควบคุมการประกอบวิชาชีพ ทำให้การตรวจสอบทำได้ยากขึ้น และนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ ปัญหาเรื่องควบคุม ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจตามหลักการแบ่งแยกอำนาจหากประชาชนจะคัดค้าน น่าจะทำได้หลังกฏหมายผ่านรัฐสภา สามารถยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้


ตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ EEC ชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น และประชาชนไม่เคยได้มีส่วนร่วม หรือแม้กระทั่งการยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด ใช้เวลา 4 ปียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี จึงเรียกร้องให้มีการเสนอร่างกฏหมายการพัฒนาภาคใต้ฉบับบประชาชน ควบคู่ไปให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา


น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, กล่าวว่า ร่างนี้ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แย่งยึดทรัพยากรของประชาชน โดยมีมาจากยุทธศาสตร์ชาติ มีมติจาก ครม. ทั้ง 4 ภาค อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ย้ำว่า มีการศึกษาแล้วเสร็จไปแล้วทั้ง 4 ภาค ต่อมาจะมีการทำผังเมือง ที่เปลี่ยนข้อกำหนดต่าง ๆ จึงเกิดคำถามว่าส่วนร่วมของประชาชนอยู่ตรงไหน เพราะมีการกำหนดพื้นที่มาแล้วตั้งแต่ต้น คณะกรรมการในการดูแลมาจากคณะรัฐมนตรีเกินกว่าครึ่ง มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย อนุมัติแผนภาพรวม และอนุญาตให้สิทธิหรือสัมปทาน ประกาศกำหนดพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ ย้ำว่า การแย่งยึดแรกคือทรัพยาการที่ดิน เพื่อนำมาทำอุตสาหกรรมที่วางแผนไว้


วงเสวนาอยากให้รัฐบาลกลับไปทบทวน EEC ก่อนที่จะเสนอ SEC ก่อนจะถูกคัดค้านจากประชาชน

โดย parichat_p

7 ก.ค. 2567

75 views

EP อื่นๆ