ซีพีเอฟ ยันไม่ใช่ต้นตอ 'ปลาหมอคางดำ' ระบาด ด้าน ก.เกษตรฯ ประกาศมาตรการรับซื้อ

วันนี้ ก็มีความเคลื่อนไหวจากผู้บริหารศูนย์วิจัยสัตว์น้ำ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ที่ออกมายอมรับว่า เคยนำเข้าปลาหมอคางดำมาเพื่อการวิจัยเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ก่อนจะทยอยตายจนเกือบหมด พร้อมทั้งยังนำซากที่เหลือดองส่งให้กรมประมงไปแล้วด้วย



นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ของซีพีเอฟ กล่าวว่า ได้มีการทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2553 ถึงวันทำลายในเดือนมกราคม 2554 มั่นใจได้ว่า บริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง และด้วยความรอบคอบตามหนังสือชี้แจงที่ได้นำส่งไปยัง คณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม



นายเปรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานรัฐ ตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน อันประกอบด้วย

1.ทำงานร่วมกับกรมประมงในการสนับสนุนให้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น

2.ทำงานร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ

3.สนับสนุนภาครัฐในการจัดกิจกรรมจับปลา

4.สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำร่วมกับสถาบันการศึกษา

5.สนับสนุนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ



นอกจากนี้ ยังได้ระบุถึง หนังสือชี้แจงไปยังคณะกรรมาธิการฯ ที่มีรายละเอียดว่า ในปี 2553 บริษัทได้นำเข้าปลาจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งพบว่ามีปลาสุขภาพไม่แข็งแรง และมีการตายจำนวนมากในระหว่างทาง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง



ทั้งนี้ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงมีการตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยมีการทำลายซากปลาตามมาตรฐาน และแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554



นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คณะผู้ตรวจเยี่ยมจากกรมประมง เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัท ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขอข้อมูลจำนวนลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และการบริหารจัดการ



ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มอีกครั้ง ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้ชี้แจงถึงวิธีการทำลายปลาทั้งหมด โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว และยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว



อีกด้านหนึ่งายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้เปิดเผยว่า ได้เก็บตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ใส่ขวดโหล ดองฟอร์มาลีนโหลละ 25 ตัวส่งให้กรมประมง ตามกระบวนการขั้นตอนที่กรมประมงระบุไว้ในปี 2554



และขอยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดเนื่องจากทำตามขั้นตอนของกรมประมงทั้งหมด และยืนยันว่าทำลายซากปลาเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นกรรมาธิการจะเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และอธิบกรมประมง เพื่อนำซากปลามาตรวจหาดีเอ็นเอเปรียบเทียบ กับปลาที่ระบาดอยู่ขณะนี้



ด้าน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ว่า ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันในการดำเนินแผนมาตรการระยะเร่งด่วน คือการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และรับซื้อในราคา 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นที่พอใจของตัวแทนเครือข่ายชาวประมง โดยตนได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในระหว่างที่รอของบกลางในการรับซื้อเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วน และมอบหมายให้กรมประมงประสานกับจังหวัดเพื่อตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า สำหรับมาตรการอื่นๆ ให้ดำเนินการคู่ขนานกันไป

โดย panwilai_c

16 ก.ค. 2567

55 views

EP อื่นๆ