'กรมประมง' แถลง 6 มาตรการกำจัด 'ปลาหมอคางดำ' ยันไม่เคยได้รับซากปลาจากเอกชน

ข่าว 3 มิติ ยังตามต่อ กรณีปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการรุกรานและแพร่กระจายของ "ปลาหมอคางดำ" ล่าสุด "กรมประมง" ตั้งโต๊ะแถลงถึงแนวทาง 6 มาตรการ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งคำถามถึงสาเหตุและต้นตอการระบาด อธิบดีกรมประมง บอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบ แต่ยืนยันได้ว่า ที่ผ่านมา มีเอกชนเเค่รายเดียวที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า "ปลาหมอคางดำ" ตรวจสอบในระบบ-ไม่ปรากฏหลักฐานแจ้งฝังกลบหรือทำลาย และที่ผ่านมา "กรมประมง" ก็ไม่เคยได้รับตัวอย่างซาก "ปลาหมอคางดำ" ตามที่กล่าวอ้าง



บางช่วงจากถ้อยเเถลงอธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขเเก้ว ที่ยืนยันว่า การนำเข้า"ปลาหมอคางดำ" ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากทวีปเเอฟริกา ในห้วงที่ผ่านมามีเเค่รายเดียว คือ "ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปลาของ "CPF" ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว



เเม้การเเถลงครั้งนี้ จะเน้นไปที่เเนวทางเเก้ปัญหา ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ร้อยเอกธรรมนัส ที่กำหนดเป็นมาตรการ 6 ข้อ เช่น การผ่อนผันเครื่องมือที่ใช้ล่าปลาหมอคางดำ การปล่อยพันธุ์ปลานักล่า การสนับสนุนรับซื้อไปเเปรรูป ไปจนถึงการวิจัยเปลี่ยนโครโมโซมให้เป็นหมัน



เเต่ดูหมือนว่าประเด็นที่หลายฝ่ายจับจ้อง คือสาเหตุเเละต้นตอของการเเพร่ระบาด โดยมองว่าใครหรือองค์กรใดก็ตามที่มีส่วนทำให้เกิดผลกระทบ ก็ควรจะออกมายอมรับ หรือมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น



ก่อนหน้านี้ CPF ได้ส่งเอกสารชี้เเจงผ่านสื่อมวลชน ใจความช่วงหนึ่ง

ระบุถึงเหตุผลที่ตัดสินใจหยุดการวิจัย หลังพบปัญหาปลาตายเรื่อย ๆ จึงทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลาซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปให้กรมประมงตั้งเเต่ปี 2554 เเล้ว



-ข้อมูลนี้ ขัดเเย้งกับคำตอบของกรมประมง ที่ยืนยันว่า "ไม่เคยได้รับเเจ้งการทำลาย เเละที่ผ่านมาก็ไม่เคยได้รับตัวอย่างซาก"ปลาหมอคางดำ"ตามที่กล่าวอ้าง" กรมเคยไปตรวจสอบที่ฟาร์ม เเต่ผู้ดูเเลอ้างว่าจุดที่ฝังทำลาย กลายเป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างไปเเล้ว



ส่วนกรณีที่มีรายงานว่า ประเทศไทยเคยส่งออกปลาหมอคางดำ ในฐานะปลาสวยงาม ไปในหลายประเทศ ช่วงปี 2556-2559 จนกรมประมงต้องออกประกาศห้ามในปี 2561 จุดนี้เป็นประเด็น เพราะถูกเครือข่ายอนุรักษ์บางส่วนมองว่า อาจเป็นเบี่ยงเบนให้เข้าใจว่า ปลาหมองคางดำในประเทศไทย ไม่ได้มีเเค่ 2พันตัวจาก CPF เรื่องนี้อธิบดีกรมประมง บอกว่า ไม่ยืนยันเเละขอกลับไปตรวจสอบให้ชัดก่อน



นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการติดตามปัญหา เเละเป็นผู้ที่เปิดประเด็นนี้ในสภา มาฟังการเเถลงวันนี้ด้วย โดยนายณัฐชา บอกว่า ต้องขอบคุณกรมประมง ที่กล้าให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เเต่ก็เห็นได้ชัดว่า กระบวนการติดตามไม่รัดกุม ทำให้ปลาที่มีอนุภาพทำลายล้างสูงหลุดรอดไปได้



ปลาหมอคางดำ จัดอยู่ในบัญชีสัตว์ห้ามนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการนำเข้าขณะนั้น กรมประมงอธิบายว่า มีกลไกควบคุมโดยตั้งคณะกรรมการมาหนึ่งชุด เรียกย่อว่าคณะกรรมการไอบีซี มีเงื่อนไข 2 ข้อ



1 ให้เก็บตัวอย่างครีบดอง และรายงานผลกลับมายังคณะกรรมการ และ 2 เมื่อยกเลิกการวิจัยจะต้องทำลาย และรายงานผล พร้อมส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำกลับมาที่กรมประมง



พรุ่งนี้ คณะอนุกรรมาธิการที่ติดตามเรื่องนี้ เรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับมาให้ข้อมูล เพื่อเเสวงหาข้อเท็จจริงเเละร่วมกันหาทางออกจากวิกฤต"ปลาหมอคางดำ"

โดย panwilai_c

17 ก.ค. 2567

39 views

EP อื่นๆ