อนุกมธ.จ่อเรียก CPF แจงปม 'ปลาหมอคางดำ' ด้านสภาทนายฯ รับเป็นเจ้าภาพฟ้องเรียกค่าเสียหาย

เกาะติดปัญหาเเละผลกระทบที่เกิดจากการเเพร่ระบาดของ ปลาหมอคางดำ วันนี้ อนุกรรมาธิการฯที่ติดตามปัญหาปลาหมอคางดำ ของสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล หนึ่งในนั้นก็คือ"กรมประมง" โดยกรรมาธิการฯได้ซักถามในหลายประเด็น ทั้งการขออนุญาตนำเข้า กระบวนการทำลาย ที่มาของการระบาด และข้อกฎหมายในการเอาผิดกับเอกชนที่ทำผิดเงื่อนไข



ที่ประชุมอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาฯผลกระทบนำเข้าปลาหมอคางดำ สภาผู้แทนราษฎร เชิญหลายหน่วยงานมาให้ข้อมูล ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็คือ อธิบดีกรมประมง "นายบัญชา สุขแก้ว" นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย / สภาทนายความ / นักวิชาการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้เชิญตัวเเทนจาก CPF



-ประเด็นหลักที่ซักถาม ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การดำเนินงานของกรมประมง "นายบัญชา" ยืนยันว่า มีเพียงบริษัทเดียวที่ขอนำเข้าในช่วงปลายปี 2553 การอนุญาตครั้งนั้น กรมประมงกำหนดเงื่อนไขการนำเข้า คือ



1.ต้องเก็บตัวอย่างครีบดองในน้ำยา ส่งให้สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด

2.เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้รายงานผลการศึกษา หากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ให้ทำลาย เเละแจ้งกรมประมงเข้าตรวจสอบ

3.กรณีไม่ทำตามจะไม่อนุญาตในครั้งถัดไป



ระหว่างนั้น นายเเพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมาธิการ ได้ขอตัวอย่างครีบเพื่อให้หน่วยงานและนักวิชาการตรวจสอบ DNA จะได้รู้ว่าปลาที่กำลังแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์เดียวกับ ที่เอกชน ขออนุญาตนำเข้ามาหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ อธิบดีกรมประมง บอกว่า ขอกลับไปดูข้อมูลให้ชัด เพราะเป็นข้อมูลเมื่อ10 ปีมาแล้ว



ประเด็นต่อมา นายเเพทย์วาโย ถามเรื่องการเอาผิดกับเอกชนที่ไม่ได้ทำตามเงื่อนไข ตามที่กรมประมงบอกว่า ไม่มีข้อมูลการส่งตัวอย่างปลาที่ดองในขวดโหลมาให้ แต่เอกชนยืนยันว่าส่งแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเอกชนไม่ทำตามเงื่อนไข ตามกฎหมายจะเอาผิดอย่างไรได้บ้าง



อธิบดีกรมประมง ยอมรับว่า กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอกับการเอาผิด จึงขอให้ทางอนุกรรมาธิการ และสภาผู้แทนราษฎร ช่วยผลักดันเพิ่มโทษในกฎหมายให้มีโทษทางอาญา และโทษทางปกครอง



อีกประเด็นที่เป็นผลมาจากการให้ข้อมูลของผู้บริหาร CPF ที่บอกว่า ได้ทำลายซากปลาหมอคางดำที่นำเข้ามา และส่งหลักฐานให้กรมประมงไปตั้งแต่ปี 2554 หลังจากนั้นอาจหลุดจากตลาดปลาสวยงาม เพราะมีข้อมูลการส่งออกถึงปีละ 5-6 หมื่นตัว



ประเด็นนี้ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองประธานอนุกรรมาธิการฯ ตั้งคำถามมีการส่งออกจริงหรือไม่



อธิบดีกรมประมง ยอมรับว่า ตัวเขาก็ตกใจเรื่องนี้หลังจากที่นักข่าวถาม เพราะไม่มีข้อมูล จึงตั้งทีมค้นคว้าเรื่องนี้ก็พบว่า มีการส่งออกปลาเมื่อปี 2556-2559 จากไทยจริง / ส่งออกไป 17 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย / รัสเซีย / โปแลนด์ / ปากีสถาน/ เป็นต้น มีผู้ส่งออก 11 ราย มีปลาทั้งสิ้น 230,000 ตัว



ซึ่งปลาที่นำมาส่งออกจะมาจากสองส่วน คือ การเพาะเลี้ยง กับปลาที่เกิดตามธรรมชาติ เพราะปลาชนิดนี้ก่อนปี 2561 ไม่ได้เป็นสัตว์น้ำควบคุมที่ห้ามครอบครอง แต่หลังปี 2561 มีการกำหนดชัดเจนว่าห้ามทั้งนำเข้าและห้ามส่งออก



ด้านผู้บริหาร CPF นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ เมื่อวานนี้มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ ยังคงยืนยันว่า ปลาหมอคางดำที่่กำลังระบาดไม่เกี่ยวกับบริษัทฯ เคยนำเข้ามาเมื่อ 14 ปีก่อนเเต่ก็ทำลายหมดแล้ว โดยมีเอกสารบันทึกชัดเจน แต่ก็ไม่รู้มีใครลักลอบเอาเข้ามาหรือไม่ ไปฟังการชี้เเจงบางช่วงจากผู้บริหาร CPF



อีกด้านหนึ่งมีความเคลื่อนไหวจาก นายกฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชน ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ สคส. บอกว่า รัฐต้องประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เเละบริษัทนำเข้าปลาหมอคางดำ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ก็สามารถฟ้องร้องความเสียหายได้ ซึ่งทางสมัชชาฯยินดีสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้




ข้อมูลจากกรมประมง พบพื้นที่ปลาหมอคางดำเเพร่ระบาดเเล้วอย่างน้อย 16 จังหวัด หลังจากนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ จะนัดวันเเละเวลาเข้าไปตรวจสอบที่กรมประมง เเละจะเรียกบริษัท CPF นำหลักฐานมาชี้เเจง ส่วนความเสียหายเเละผลกระทบ ล่าสุด มีรายงานจากอนุกรรมาธิการฯว่า ทางสภาทนายความ จะรับเป็นเจ้าภาพในการฟ้องเรียกค่าเสียหายสิ่งแวดล้อม

โดย panwilai_c

18 ก.ค. 2567

67 views

EP อื่นๆ