กมธ.วิสามัญฯ ไม่ตัดนิรโทษกรรมคดี ม.112 จ่อให้สภาพิจารณา สิ้น ก.ค.นี้

กรรมาธิการนิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ตัดมาตรา 112 ออกจากร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณา โดยให้เวลาแต่ละพรรคการเมืองกลับไปร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับรายงานของกรรมาธิการ ขณะที่กรรมาธิการจากพรรคภูมิใจไทยคัดค้านการนิโทษกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ม.110 และ ม.112



วันนี้หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส. พรรคเพื่อไทยในฐานะประธานกรรมาธิการ ได้สรุปการทำงานของกรรมาธิการว่า ขณะนี้เกือบได้ข้อยุติทั้งหมด สรุปได้คือ



1. ควรมีการนิรโทษกรรมการกระทำที่มีเหตุแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีคำนิยามความผิดที่ชัดเจน จะกำหนดในผนวกแนบท้ายรายงาน ซึ่งมติในที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์



2. ที่ประชุมมีมติในกรณีความผิดต่อชีวิต ความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่นความผิดกรณีตามมาตรา 288 และมาตรา 289 ไม่รวมเข้ามาอยู่ในการนิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นการประทุษร้ายต่อชีวิต ไม่ใช่การกระทำผิดต่อรัฐฝ่ายเดียว ทำให้บุคคลล้มตาย



3. ความผิดที่เกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 คณะกรรมาธิการเห็นว่าเป็นความผิดที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และการทำงานของกรรมการเป็นการศึกษา หาแนวทางตรากฏหมาย จึงมีมติว่าไม่โหวตว่าชนะแพ้ แต่จะส่งความเห็น 3 ประเภท ประกอบด้วยประเภทแรกเห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม ประเภทที่สอง ให้มีการนิรโทษกรรม โดยไม่มีเงื่อนไข ประเภทที่สามให้นิรโทษกรรมแบบมี มาตรการเงื่อนไข เช่น ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ให้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ และมาตรการป้องกันกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งจะชี้แจงในเอกสารรายงาน



ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน สส. พรรคก้าวไกล ระบุว่าหลังจากนี้แต่ละพรรคการเมืองจะกลับไปทำร่างกฎหมายในแบบฉบับของตนเอง โดยนำข้อมูลข้อเสนอและความเห็น ทั้งความเห็นที่เป็นเอกภาพหรือความเห็นต่างร่างเป็นกฏหมาย ส่วนการส่งให้สภาพิจารณาคงจะเป็นการลงมติรับรายงานหรือไม่ พร้อมกับให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อรายงาน ส่วนการนิรโทษกรรมตามมาตรา 112 และมาตรา 110 อาจจะต้องมีการพิจารณาถึงเงื่อนไขมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ



นายชัยธวัช ระบุว่าส่วนตัวเชื่อว่าหลังจากที่กรรมาธิการได้นำเสนอรายงาน และสภาสภาได้พิจารณาพิจารณาแล้ว คิดว่าอาจจะมีหลายพรรคการเมืองยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของตัวเอง ซึ่งหลักการใหญ่เห็นด้วยตรงกันว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นมาตรการคลี่คลายความขัดแย้ง แต่อาจจะเห็นไม่ตรงกันในรายละเอียดบางอย่าง ซึ่งหลังจากนี้ร่างของพรรคก้าวไกลจะหารือที่ประชุม สส.พรรค ปรับปรุงร่างให้สอดคล้องกับรายงานกรรมาธิการ



ขณะที่นายประดิษฐ์ สังขจาย และ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.พรรคภูมิใจไทย แถลงย้ำจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ต่อแนวทางตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในความผิดในคดีความ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 ซึ่งเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

โดย panwilai_c

18 ก.ค. 2567

89 views

EP อื่นๆ