สังคม

เปลี่ยนดินให้เป็นเงิน! ชาวบ้านนครพนม ขุดดินปั้นครกส่งขายทั่วไทย โกยเงินปีละกว่า 10 ล้านบาท

โดย parichat_p

10 ส.ค. 2565

145 views

นครพนม - ภูมิปัญญาชาวบ้าน อ.ท่าอุเทน สืบสานอาชีพขุดดินปั้นครกขาย มานานกว่า 30 ปี ยกระดับเป็นอาชีพหลัก ปั้นครกส่งขายทั่วประเทศ การันตีครกตำดีสุดในไทย ได้เปรียบเรื่องดินวัตถุดิบมีคุณภาพจากธรรมชาติ ไม่มีส่วนผสม สร้างรายได้งาม เงินสะพัดปีละหลาย 10 ล้านบาท ออเดอร์รับไม่อั้นทั่วไทย


วันนี้ (10 สิงหาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ บ้านกลาง ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม นับเป็นอีกหมู่บ้านที่น่าสนใจ ถึงแม้หลายพื้นที่จะประสบปัญหาจากโรคโควิดระบาด ส่งผลต่อเศรษฐกิจ การค้า แต่สำหรับชาวบ้านกลาง ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน ถือว่าได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากมีอาชีพหลัก นอกจากการทำการเกษตร ยังมีการพัฒนาต่อยอดนำภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่น


จากวิถีชีวิตขุดดินปั้นครกใช้ในครัวเรือน ต่อยอดพัฒนาเป็นอาชีพในการขุดดินปั้นครกขาย มายาวนานกว่า 30 ปี จนกระทั่งปัจจุบัน กลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดปีละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จากการปั้นครกส่งขายทั่วประเทศ โดยชาวบ้านกลาง จะใช้เวลาว่างเว้น จากการทำการเกษตรทำไร่ทำนา หันมาขุดดินในพื้นที่ท้ายหมู่บ้าน ซึ่งมีความได้เปรียบ


เนื่องจากในพื้นที่ บ้านกลางมีดินที่เป็นคุณสมบัติพิเศษ ที่สามารถนำมาปั้นครกได้ โดยไม่ต้องมีส่วนผสม เพียงใช้ดินธรรมชาติที่ขุดมาสามารถ นำมาผ่านขบวนการตามแบบฉบับภูมิปัญญาชาวบ้าน และปั้นครก เข้าเตาเผาก่อนส่งขาย สร้างรายได้ มหาศาล ที่สำคัญ ปัจจุบันยังเป็นหมู่บ้านผลิตครกคุณภาพ ที่ดีที่สุดในไทย ส่งออกขายไปทั่วประเทศ บางครอบครัว สามารถสร้างรายได้เดือนละนับแสนบาท


นายสุนทร ชื่นชม อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านกลาง ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน ประธานเครือข่ายเครื่องปั้นดินเผา เปิดเผยว่า สำหรับบ้านกลาง ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจสำคัญของ จ.นครพนมเนื่องจากมีรายได้จากการปั้นครกขายทั่วประเทศ โดยนำอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบทอดจาก บรรพบุรุษ มานานกว่า 30 ปี เริ่มจากการปั้นในครัวจนประสบความสำเร็จ เป็นที่ต้องการของตลาด จึงปั้นส่งขาย จนมีชื่อเสียง เนื่องจากเป็นครกที่ดีมีคุณภาพ เพราะมีปัจจัยพื้นฐาน คือวัตถุดิบเรื่องดิน ที่ขุดมาจากท้ายหมู่บ้าน เป็นดินที่มีคุณภาพเหมาะกับการปั้นครกที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ไม่ต้องมีส่วนผสม


ส่วนในอดีตชาวบ้านจะใช้วิธีการปั้นแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จนมีการพัฒนาใช้เครื่องทุ่นแรง ทำให้สามารถปั้นได้จำนวนมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยแต่ละวันบางครอบครัวจะสามารถปั้นได้ไม่ต่ำกว่า วันละ 40 -50 ใบ นอกจากนี้ปัจจุบันมีการพัฒนาทำแบบพิมพ์ เข้ามาช่วย ทำให้ปั้นครกได้จำนวนมากขึ้น

นายสุนทร ชื่นชม กล่าวอีกว่า ส่วนขนาดครกจะมี ประมาณ 5 ขนาด ขายราคาส่งตั้งแต่ใบละ 20 – 150 บาท ตามขนาด สำหรับขั้นตอนการปั้นไม่ยุ่งยากใช้ความชำนาญตามภูมิปัญญาชาวบ้าน นำดินที่ขุดมาจากท้ายหมู่บ้าน หรือซื้อจากชาวบ้านด้วยกัน คิวละ ประมาณ 350 บาท ปั้นได้ประมาณ 80 -100 ใบ แล้วแต่ขนาด ก่อนที่จะปั้น จะนำดินมาทุบแช่น้ำบ่มให้เกิดความนุ่ม ประมาณ 1 – 2 คืน ก่อนนำมานวดด้วยมือให้ละเอียด หรือเข้าเครื่องบด ออกมาเป็นแท่ง


ก่อนที่จะนำไปแบ่งเป็นส่วน ลักษณะเป็นแท่งยาว เพื่อสะดวกในการปั้นขึ้นรูป เริ่มจากฐานครก ไปจนถึงปากครก พอเก็บรายละเอียดขึ้นรูปสำเร็จ จะต้องนำครกไปตากแห้งโดยธรรมชาติ ประมาณ 4-5 วัน ก่อนที่จะเข้าเตาเผา ประมาณ 4-5 วัน ก่อนที่จะนำออกมาพร้อมขาย ซึ่งต้องมีความชำนาญพอสมควร และเป็นอาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ


ปัจจุบันยังได้มีการสืบทอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ไม่ให้อาชีพปั้นครกสูญหาย ปัจจุบันทำให้ชาวบ้าน ทำอาชีพปั้นครก เกือบ 500 ครัวเรือน แต่ละปีมีรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดไม่ต่ำกว่า ปีละ 50 ล้านบาท เพราะมีตลาดต้องการไม่อั้น เนื่องจากเป็นครกที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากดินมีคุณภาพสูงเหมาะสำหรับปั้นครก โดยครกที่ดีจะต้องเป็นเนื้อหินหยาบ ไม่เรียบเกินไป ซึ่งดินในพื้นที่จะมีคุณสมบัติพิเศษ คือเป็นดินเหนียว พอเข้าเตาเผาออกมาจะเป็นลักษณะคล้ายครกหิน จึงมีคุณภาพ

คุณอาจสนใจ

Related News