สังคม

วสท.คาดคานสะพานพระราม 2 ถล่ม อาจเพราะรื้อถอนผิดขั้นตอน เตรียมรื้อคานที่เหลือออก

โดย chutikan_o

2 ส.ค. 2565

106 views

นายก วสท. ลงพื้นที่ตรวจสอบสะพานถล่ม ถนนพระราม 2 ชี้จากการตรวจเบื้องต้น เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการรื้อถอนผิดขั้นตอน ทำให้คานรับน้ำหนักไม่สมดุลจนร่วงลงมา ระบุร่วมหารือกรมทางหลวง เตรียมรื้อคานส่วนที่เหลืออยู่ออกทั้งหมด เพื่อเปิดการจราจรให้ประชาชนสัญจรได้อย่างปลอดภัย คาดแล้วเสร็จคืนนี้



เวลา 12.00 น. ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) พร้อมทีมวิศวกร เดินทางมาที่จุดเกิดเหตุชิ้นส่วนสะพานกลับรถถล่ม บริเวณถนนพระรามที่ 2 กิโลเมตรที่ 34 เพื่อตรวจสอบโครงสร้าง หาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น



ภายหลังการตรวจสอบ ดร.ธเนศ กล่าวว่า การตรวจสอบวันนี้ ได้เห็นเพียงแค่สภาพชำรุดคงค้าง แต่ไม่เห็นตัวคานหลักที่ร่วงลงมาแล้วและได้ถูกเคลียร์ออกไปแล้ว ทั้งนี้ เบื้องต้นสามารถคาดการณ์ถึงสาเหตุที่เป็นไปได้สูงว่า อาจเกิดจากขั้นตอนของการรื้อถอน ซึ่งโดยปกติการก่อสร้างทั่วไป จะต้องสร้างจากด้านล่างขึ้นด้านบน ส่วนการรื้อถอน ก็ต้องรื้อตรงกันข้ามกัน คือจากด้านบนลงด้านล่าง



โดยในกรณีของสะพานนี้ ลักษณะโครงสร้าง จะมีตัวคานหลักรูปตัวไอ และมีคานซอยเป็นตัวยึด 4 อัน แล้วปูพื้นทับลงไป ส่วนแบริเออร์แผงกันตก จะถูกนำมายึดกับบริเวณส่วนที่ยื่นออกมาของคานหลัก ซึ่งต้องติดตั้งส่วนนี้เป็นขั้นตอนท้ายๆ ดังนั้น ในขั้นตอนของการรื้อถอน ก็ควรจะต้องรื้อตัวแบริเออร์แผงกันตกนี้ก่อน แล้วค่อยไล่ลำดับการรื้อถอนกลับมา

แต่เท่าที่เห็นจากการตรวจสอบเบื้องต้น มีการรื้อส่วนที่เป็นตัวพื้นออกก่อนแบริเออร์ ทำให้น้ำหนักที่ลงบนตัวคานหลัก ไม่สมดุล โดยตัวคานที่เคยถูกทับด้วยพื้น ไม่มีน้ำหนักอะไรทับไว้แล้ว แต่ส่วนริมของคานที่ยื่นออกมายังต้องแบกรับน้ำหนักของแบริเออร์ ทำให้อาจเกิดการบิดได้ จนในที่สุดคานก็ร่วงลงมา ทั้งนี้ ข้อสันนิษฐานดังกล่าว เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นเกิดจากเรื่องใด ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นความประมาทได้หรือไม่ เพราะตนเองก็ไม่เห็นการทำงานที่แท้จริง ต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง ข้อสันนิษฐานเป็นการคาดการณ์จากสภาพที่เห็นเท่าที่เหลืออยู่เท่านั้น

ส่วนการควบคุมงานโดยวิศวกร ปกติแล้วการก่อสร้างทุกที่จะต้องมีวิศวกรควบคุมอยู่แล้ว หากไม่มีถือว่ามีความผิด แต่กรณี ยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องตั้งขึ้นมาตรวจสอบต่อไป

ส่วนสาเหตุเรื่องการเสื่อมสภาพของตัววัสดุนั้น ก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด โดยอุบัติเหตุอาจมีหลายสาเหตุประกอบกัน แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นเพราะการเสื่อมสภาพจากเหตุไฟไหม้หรือไม่

ดร.ธเนศ กล่าวอีกว่า ตนเองได้ไปร่วมประชุมกับอธิบดีกรมทางหลวง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด โดยต้องดูความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลักว่าจะมีความเสี่ยงในการสัญจรไปมามากน้อยแค่ไหน ซึ่งได้ให้ข้อสรุปไปว่า หากจะมีการตรวจสอบหรือแก้ไขซ่อมแซมต่อไป ควรจะต้องถอดโครงสร้างเดิมที่เหลืออยู่ออกก่อน ซึ่งทางอธิบดีกรมทางหลวง ได้มีคำสั่งแล้วว่า ให้ดำเนินการรื้อคานอีก 4 อันที่เหลืออยู่ออกทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ไม่ต้องกังวลว่าคานจะร่วงลงมาอีก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการทันทีในคืนนี้ คาดว่าวันพรุ่งนี้น่าจะสามารถเปิดการจราจรในถนนเส้นทางหลักได้

และหลังจากนี้ กรมทางหลวง และ วิศวกรรมสถานฯ จะเร่งตรวจสอบโครงสร้างของสะพานอย่างละเอียด โดยการสแกน 3 มิติ และเก็บตัวอย่างไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม ต้องขออภัยประชาชนด้วย หากมีการดำเนินการที่ล่าช้าหรือผิดพลาดไป

และนอกจากสะพานที่เกิดเหตุแล้ว บนถนนพระราม 2 ตลอดเส้นทาง ยังมีสะพานลักษณะนี้รวมแล้ว 16 จุด ซึ่งปกติแล้วสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะมีการบำรุงรักษาอยู่เสมออยู่แล้ว แต่หลังจากนี้ กรมทางหลวงและวิศวกรรมสถานฯ จะเข้าไปตรวจสอบสะพานเหล่านี้เพิ่มเติมด้วย และต้องกำชับขั้นตอนการซ่อมแซมให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ หากประชาชนพบว่าสิ่งก่อสร้างใดมีรอยร้าวลึกเป็นแนวตรงยาว ไม่ว่าจะที่พื้นหรือผนัง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเร่งแก้ไขได้ทันที

ขณะที่ นายณรงค์ รักน้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้เดินทางมาพูดคุยกับนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยที่จุดเกิดเหตุด้วย โดยกล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่จังหวัดต้องเร่งแก้ไขเป็นอย่างแรกคือปัญหาการจราจร เพราะอุบัติเหตุทำให้ต้องปิดถนน เพราะความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งได้มีทางวิศวกรรมสถานฯ และสภาวิศวกร เข้ามาช่วยเป็นตัวกลาง ให้คำแนะนำเรื่องทางเทคนิค เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ได้เร็วที่สุด โดยวันนี้ ทางแขวงทางหลวง ได้ยืนยันแล้วว่า จะเร่งดำเนินการถอดโครงสร้างคานที่เหลืออยู่ออกให้เร็วที่สุด และคาดว่าจะเปิดการจราจรได้ในเช้าวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีความกังวลเรื่องความมั่นใจในการใช้ถนนของประชาชนหลังจากนี้ เพราะหากประชาชนไม่มั่นใจ เวลาขับรถก็จะคอยมองด้านบน มองจุดต่างๆ ไม่มองทางข้างหน้า ซึ่งอาจทำวห้เกิดอุบัติเหตุได้อีก ดังนั้น อีกสิ่งสำคัญคือต้องทำให้ประชาชนมั่นใจในการใช้ถนนของกรมทางหลวง ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือแนวทาง พูดคุยข้อมูลกับกรมทางหลวงถึงการตรวจสอบจุดเสี่ยงต่างๆ โดยรวมระยะทางบนถนนพระราม 2 ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร มีระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร มีสะพานกลับรถ 8 สะพาน เป็นสะพานเก่าประมาณ 3-4 สะพาน

และหากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากความประมาท ทางจังหวัดถือว่า จะต้องทำงานร่วมกัน ร่วมรับผิดชอบกับกรมทางหลวงด้วย ไม่ได้มองว่าทางจังหวัดเป็นผู้เสียหาย เพราะคนที่เสียหายจริงๆ คือประชาชน ซึ่งเบื้องต้นทางจังหวัดได้ติดต่อครอบครัวของผู้เสียหายไปแล้ว รวมถึงภาคเอกชนในพื้นที่ด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News