สังคม

เร่งตรวจ DNA คนไทยในมาเลเซีย ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ ช่วยให้มีสัญชาติ ตั้งเป้าจบปัญหาใน 5 ปี

โดย panwilai_c

29 พ.ค. 2567

179 views

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหลายหน่วยงาน เปิดโครงการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ซึ่งทำมาต่อเนื่อง 7 ปีแล้ว ในปีนี้มีผู้สนใจมากขึ้น เพื่อจะได้มีสัญชาติไทย มีบัตรประชาชน ได้สิทธิการศึกษา และการทำงาน โดยกระทรวงยุติธรรม ตั้งเป้าจะให้ปัญหานี้หมดไปภายใน 5 ปี



เด็กชายวัย 14 ปี คนนี้ยิ้มอย่างมีความหวัง ที่จะได้ใบสตูบัตร และจะมีบัตรประชาชนใบแรก มีสัญชาติไทย เช่นเดียวกับพี่น้องทั้ง 5 คน ในครอบครัว จะได้เดินทางกลับประเทศไทย กลับบ้านเกิดของพ่อ ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส และได้เรียนหนังสืออย่างถูกต้องแล้ว



เช่นเดียวกับแม่ของเด็กหญิงวัย 8 ขวบ เธอพาลูกมาเข้าโครงการตรวจ DNA เพราะลูกเกิดในมาเลเซีย แต่ด้วยความไม่เข้าใจ และความยากลำบากในการติดต่อราขการไทย เพราะแม่ทำงานในมาเลเซีย ทำให้ที่ผ่านมาเธอเสียใจ ที่ลูกตกในสภาพคนเถื่อน ไม่มีสัญชาติ การได้โอกาสตรวจดีเอ็นเอ จะทำให้ลูกของเธอ ซึ่งเป็นคนเดียวในครอบครัว ได้มีสัญชาติไทย



มีคนไทยในมาเลเซีย อีกหลายพันคนที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร จนกลายเป็นคนไร้สัญชาติในมาเลเซีย และยังตกสำรวจ



โครงการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร โดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ กระทรวงยุติธรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอบต. และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงเริ่มต้นมา 7 ปีแล้ว



ตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องมาจนปี 2563-2565 มีการยกเว้นไปเพราะสถานการณ์โควิด มาเปิดอีกครั้งในปี 2566 ซึ่งมีผู้มาเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น จากปี 2560 ที่มีผู้สมาลงทะเบียน 74 คน ปี 2561 จำนวน 90 คน ปี 2562 จำนวน 92 คน ปี 2566 จำนวน 97 คน และปี 2567 จำนวน 235 คน ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกปี โดยในปี 2566 ทางสถานกงสุลใหญ่ สามารถออกใบสูติบัตร ให้ 89 คน และได้เปิดศูนย์ One Stop Service ที่อำเภอโกลก จ.นราธิวาส ออกบัตรประชาชนให้ 70 คน เป็นความสำเร็จที่สร้างความภาคภูมิใจ เพราะทำให้คนไทยในมาเลเซีย ได้รับสัญชาติไทย สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง และมีโอกาสทางการศึกษา



นายวรวีร์ ไชยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 7 ปีที่ผ่านมา เป็นผลสำเร็จที่ได้ช่วยเหลือให้คนไทยในมาเลเซีย ได้สถานะความเป็นคนไทยกลับคืนมา และจะกลายเป็นต้นแบบไปดำเนินการในเมืองอื่นๆ เช่นกัวลาลัมเปอร์ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เห็นความสำคัญของโครงการนี้ ให้ดำเนินการจนกว่าจะแล้วเสร็จ เชื่อว่าปัญหาจะทุเลา ภายใน 3 ปี และจะแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 5 ปี



นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า โครงการนี้มองข้ามมิติความมั่นคง มามุ่งเน้นมิติเศรษฐกิจและปากท้อง เพราะการได้สิทธินี้ ทำให้คนไทยในมาเลเซียที่ไม่มีสถานะบุคคล ได้รับสิทธิทางการศึกษา การทำมาหากิน การเข้าถึงสถานพยาบาล ที่มีทาง สปสช.มาร่วมด้วย และอยากเชิญทางกระทรวงพารพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาร่วมด้วย เพราะมีเด็ก และบางคนเป็นหญิงตั้งครรภ์ จะได้ทราบสิทธิที่ได้รับเมื่อมีบัตรประชาชนไทย



ขณะที่ นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอบต.เปิดเผยว่า ติดตามโครงการนี้มาหลายปี เห็นถึงผลดีที่เกิดขึ้นกับคนไทย เมื่อไปติดตามผลก็จะพบว่าทุกคนเหมือนได้ชีวิตใหม่ จึงต้องขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนโครงการนี้ และขยายผลให้เกิดผลสำเร็จมากขึ้น เช่นการเปิดศูนย์พยาบาล และปลดล็อกทำบัตรประชาชนใบแรกให้กับประชาชนได้ที่สถานกงสุลใหญ่ เพราะที่ผ่านมา หลังได้ใบสูติบัตรแล้ว ยังไม่สามารถข้ามแดนไปทำบัตรประชาชนได้ ทำให้ยังเกิดความยุ่งยากในการเดินทาง หากเป็นไปได้ที่หน่วยงานราชการไทย ทั้งกรมการปกครอง และทางกระทรวงการต่างประเทศได้หารือร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ ก็จะทำให้โครงการนี้ได้ผลอย่างรอบด้านมากขึ้น



นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ อธิบดีกรมการกงสุล เปิดเผยว่า การช่วยเหลือคนไทยที่มีสถานะตกหล่น เป็นโครงการที่ดี ที่กรมการกงสุล พร้อมสนับสนุนให้เกิดขึ้น จึงต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมดำเนินการจนปีนี้มีผู้มาลงทะเบียนจำนวนมาก ส่วนปัญหาการออกบัตรประชาชนใบแรก จะทำที่สถานกงสุลใหญ่ได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องมีการแก้ไขระเบียบ เพราะการทำบัตรประชาชน ต้องมีชื่อในทะเบียนราษฎรเสียก่อน ในขั้นตอนนี้คงต้องเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกัน เพราะระเบียบต่างๆมีขึ้นเพื่อป้องกันการซื้อขายสัญชาติที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เมื่อมีเทคโนโลยีในการตรวจสอบสถานะได้มากขึ้น ก็อาจจะมีการแก้ไขระเบียบให้สามารถอำนวยความสะดวกให้คนไทยได้มากขึ้น เพราะยังมีคนไทยในหลายประเทศ ที่มีปัญหาสถานะตกหล่น จะได้ประโยชน์ด้วย



สำหรับขั้นตอนในการตรวจ DNA สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อจะได้นำไปออกเอกสารใบสูติบัตร แล้วนำไปเข้าทะเบียนบ้านในประเทศไทย เพื่อทำบัตรประชาชน การได้โอกาสเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ อย่างเช่นครอบครัวนี้ มีลูกสาว 4 คนเกิดในมาเลเซีย คนโตอายุ 29 ปี จนถึงคนที่ 4 อายุ 17 ปี ก็หวังด้วยว่า เมื่อมีบัตรประชาชนไทย จะได้เรียนหนังสือต่อในระดับที่สูง และมีโอกาสได้ทำงานที่ดีขึ้น

คุณอาจสนใจ

Related News