สังคม

เปิดแผนกำจัดกากขยะเคมี รง.แวกซ์ กาเบ็จฯ อะไรคือปัญหาที่แก้ไม่จบ?

โดย panwilai_c

5 ก.พ. 2566

79 views

กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเดินหน้าแก้ปัญหากากขยะสารเคมีโรงงานแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซนเตอร์ จังหวัดราชบุรี ด้วยวิธีการของภาครัฐเอง แต่บริษัทนี้ต้องจ่ายค่าดำเนินการทั้งหมด หลังจากก่อนหน้านี้ เปิดโอกาสให้โรงงานดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 31 มกราคมที่ผ่านมา แต่พบว่าแล้วเสร็จบางส่วนเท่านั้น ส่วนมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ เห็นว่าถึงเวลาที่ภาครัฐต้องดำเนินการจริงจัง เพื่อเป็นต้นแบบแก้ปัญหามลพิษ ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม



ผ่านพ้นกำหนด ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้โรงงานแวกซ์ กาเบจ รีไซเคิล เซนเตอร์ จ.ราชบุรี ดำเนินการขนย้ายขยะเคมีหรือของเสียปนเปื้อน ออกไปกำจัด ด้วยแผนของโรงงานเองแล้ว ซึ่งกำหนดดังกล่าวสิ้นสุดเมื่อ 31 มกราคมที่ผ่านมา แต่การดำเนินการของโรงงานแล้วเสร็จบางส่วนเท่านั้น



ทำให้ล่าสุดกรมโรงงงานอุตสาหกรมมีหนังสือแจ้งไปยังโรงงานแล้วว่า ภาครัฐจะเข้าไปดำเนินการเอง แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ต้องรับผิดชอบ



ข่าว 3 มิติ ได้รับการยืนยันจากนายอานันท์ ฟักสังข์ อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ว่าระหว่างได้หารือกับกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเร่ง สำรวจปริมาณของเสียตกค้างทั้งหมด ทั้งที่เป็นดินปนเปื้อนจากบริเวณเพลิงไหม้ และของเหลวตกค้าง ทั้งที่ถูกเคลื่อนย้ายจากอาคารเพลิงไหม้ไปอาคารอื่น และที่เก็บไว้ในอาคารอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว เพื่อให้ทราบปริมาณแน่ชัด จากนั้นสองสัปดาห์จากนี้ จะกำหนดแผนการเคลื่อนย้ายอย่างละเอียด และกำหนดทีโออาร์ เพื่อหาบริษัทเอกชนมาดำเนินการย้ายของเสียตกค้างเหล่านี้ไปบำบัด



มูลนิธิบูรณะนิเวศ หนึ่งในองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามปัญหานี้มาตลอดเห็นว่าปัญหาของที่นี่ชัดเจนในทุกมิติ เหมาะสมที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการจริงจัง ให้เป็นต้นแบบการแก้ปัญหามลพิษ



ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังเห็นว่าหากรัฐบาล และภาคราชการเพิกเฉยหรือไม่ดำเนินการเรื่องนี้ให้ลุล่วง จะเกิดการต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรม เพราะกังวลต่อผลกระทบจากมลพิษ และในที่สุดก็กระทบต่อการพัฒนาประเทศด้วย



ก่อนหน้านี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอของงบกลางไป 90 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเคลื่อนย้ายขอเสียตกค้าง รวมถึงการสำรวจ ฟื้นฟูและแก้ปัญหาน้ำบาดาลให้ชุมชน แต่สำนักงบประมาณ แจ้งให้แยกส่วนของแต่ละหน่วยงาน ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เสนอแยกส่วนเฉพาะการย้ายกากขยะเคมีไปบำบัดประมาณ 60 ล้านบาท



เป้าหมายหลักระยะแรกคือ ของเหลวและดินปนเปื้อนจากอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ รวมถึงของเหลวในถังที่อยู่ในอาคารหลังต่างๆ ถือเป็นงานระยะแรก จากนั้นจะเป็นของเหลวในบ่อ หรือบ่อน้ำชะกาก ที่พบว่ามีเก็บสะสมอยู่ในโรงงาน เมื่อการดำเนินการในระยะเร่งด่วนแล้วเสร็จ จึงจะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือการบำบัดและฟื้นฟู ซึ่งมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้องและเสนอของบประมาณใหม่อีกครั้ง



โรงงานนี้ เมื่อปี 2562 เคยถูกแจ้งความดำเนินคดีตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เรียกค่าเสียหายกว่า 36 ล้าน 2 แสนบาท แต่คดียังไม่แล้วเสร็จ กระทั่งเกิดเพลิงไหม้เมื่อ 16 มิถุนายนปีที่แล้ว ถูกฟ้องเรียกค่าดำเนินการกับเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวรวม 2 ล้าน 8 แสนบาท และ ถูกแจ้งความผิดตามพรบ.วัตถุอันตรายคดีทั้งหมดยังไม่แล้วเสร็จเช่นกัน

คุณอาจสนใจ

Related News