สังคม

กมธ.เชิญผู้เกี่ยวข้องปมพิพาทที่ดินเขาใหญ่แจงรอบ 2 ชี้พบ 10 ราย ได้ส.ป.ก.ไม่อยู่ในพื้นที่

โดย panwilai_c

6 มี.ค. 2567

77 views

การประชุมร่วมของ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก. กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และคณะกรรมาธิการฯ ต่างเชื่อว่าข้อพิพาทนี้จะได้ข้อสรุป ก็ต่อเมื่อทำแผนที่วันแมป แล้วเสร็จ ส่วนนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เห็นว่าการที่กรมแผนที่ทหาร ไม่ยึดหลักหมุดเดิม จะทำให้แนวเขตคลาดเคลื่อน



การประชุมร่วมครั้งที่สอง ของสองกรรมาธิการฯในวันนี้ คณะกรรมาธิการได้ ส่งเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมอุทยาน เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตลอดจนหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่มาร่วมชี้แจง



แต่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งหนังสือแจ้งคณะกรรมาธิการฯว่าไม่สามารถมาชี้แจง เนื่องจากติดภารกิจเร่งด่วน และเป็นประธานวันสถาปนาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร



เช่นเดียวเลขาธิการส.ป.ก. ที่แจ้งว่าไม่สามารถมาชี้แจงได้ และไม่ส่งผู้แทนมาชี้แจงแทน ทำให้ในวันนี้ไม่มีตัวแทนส.ป.ก. ทั้งส่วนกลางและส.ป.ก.นครราขามา มาชี้แจงในที่ประชุมแม้แต่คนเดียว



ช่วงแรกของการประชุม กรรมาธิการที่ดินฯได้รายงานการลงพื้นที่บ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี ที่พบว่าพื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ ไม่เหมาะสม ออก ส.ป.ก.



และระหว่างลงพื้นที่ มีชาวบ้านมายื่นหนังสือว่า ได้ยื่นรายชื่อขอที่ดินทำกิน ต่อ ส.ป.ก แล้ว แต่ไม่ปรากฎรายชื่อว่าจะได้รับ แต่รายชื่อที่ปรากฎเป็นคนหมู่บ้านอื่น จึงขอให้ ป.ป.ช.ไปดูรายชื่อมีความเชื่อมโยงกลุ่มนายทุนหรือไม่



โดยเฉพาะจุดที่สามที่ลงพื้นที่ คือบ้านกุดคล้า ต.หมูสี เป็นพื้นที่ระหว่างป่าตาม พ.ร.ป่าไม้ 2484 กับป่าจำแนก ซึ่งมีสภาพเป็นเขาลาดชัน ไม่เหมาะจะเป็นพื้นที่การเกษตร เกรงว่าอาจมีการเปลี่ยนมือแล้วนำไปใช้ผิดหลักเกณฑ์



ขณะเดียวกัน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยาน ได้ชี้แจงข้อตกลงของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้หารือร่วมกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พร้อมตั้งคำถามถึงกรมแผนที่ทหาร ว่ายึดโยงจากหมุดใดในการระบุแผนที่



และย้ำว่าวันนี้ต้องพูดให้ชัดเจน เพราะแผนที่เป็นตัวกำหนดว่าใครทำผิดกฎหมาย การทำผิดระเบียบแค่ว่ากล่าวตักเตือน แต่หากพื้นที่ดังกล่าวเป็นของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คนที่เข้าไปดำเนินการ ถือว่าทำผิดกฎหมายมีโทษทางอาญาต้องถูกดำเนินคดี และระบุว่าหาก one mam ออกมาโดยไม่ชอบ ตนก็จะสู้ในชั้นศาล



ขณะที่ผู้แทนกรมแผนที่ทหาร ชี้แจงถึงการให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจ ยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯไปชี้จุดด้วย และระบุว่าการสำรวจและรังวัดยึดหลักวิชาการ และได้รับมอบหมายให้ไปสำรวจ เพราะกรมแผนที่ทหาร ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคของวันแมป ที่ไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าว



พร้อมอธิบายถึงการบันทึกในสมุดรังวัดแผนที่ ว่ามีการเดินผ่านร่องช้างเขาใหญ่ทำให้ทราบเส้นแนว และการลงพื้นที่ไม่เจอหมุดไม้ เจอแต่หมุดเสาปูนซีเมนที่ถูกนำไปปักไว้ จึงดูเรื่องภูมิประเทศ คลอง ร่องน้ำ และพบเขาช่องลม ที่น่าจะเป็นจุดสำรวจเดิมเมื่อปี 2503 และการเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศในทุกปี ตั้งแต่ 2496-2555



อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ อธิบายแย้งจากภาพถ่าย ว่าในปี 2525 มีแนวกันไฟป่า และปี 2526 เริ่มมีปัญหาที่ทำกิน ในแปลงปลูกป่า และมีการเผาป่า ซึ่งขณะนั้นประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแล้ว จึงมีการปลูกป่าซ่อมแซมในเขตอุทยานฯ ไม่ใช่แปลงเสื่อมโทรมของป่าจำแนก พร้อมตั้งข้อสังเกตุการไปเดินสำรวจตามร่องห้วย โดยไม่ยึดหมุดทำให้พื้นที่ขยับออกไปห่างจากหลักเดิม ที่มีอยู่อย่างถูกต้องตามหลักหมุดตามแนวเขตพระราชกฤษฎีกา และการเดินเอาร่องห้วย และสอบถามประชาชนจะทำให้แนวเขตไม่ตรง



นายชัยวัฒน์ ยังยืนยันว่าเขาลูกช้างอยู่ในอุทยานเขาใหญ่ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย มีถนนเป็นแนวแบ่งเขตอุทยานแห่งชาติ การพิจารณาแผนที่จะต้องยึดแผนที่แนวท้ายพระราชกฤษฎีกาเป็นหลัก และขณะนี้มีคณะกรรมการวันแมพ ซึ่งจากปี 2550 ครม.ให้ถ่ายทอดแผนที่ขนาด 1 ต่อ 4,000 และ ส.ป.ก.ก็ต้องไปถ่ายทอดแผ่นที่ขนาด 1 ต่อ 4,000 แล้วนำมาทาบกับแผนที่ของกรมอุทยานฯ เพื่อให้คณะกรรมการวันแมพพิจารณา ตามที่มีการพิจารณาตกลงเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา



อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวว่าแม้จบในเรื่องแผนที่ แต่จะจบทุกอย่างไม่ได้ การออก ส.ป.ก.เจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะต้องมีความผิด พร้อมย้ำว่าการออก ส.ป.ก.ในพื้นที่ดังกล่าวยังประกาศทับที่นิคมสร้างตนเองด้วย



ส่วนตัวแทนสำนักงานกฤษฎา ระบุว่า การพิจารณาจะต้องยึดแนวเขตที่มาก่อนเป็นที่ตั้ง ที่ผ่านมากฤษฎาเคยท้วงติง การประกาศเขตปฎิปรูป เป็นเขตอำเภอของ ส.ป.ก. ไม่ใช่พื้นที่เฉพาะที่แยกออกมาที่จะดำเนินการปฏิรูป



ขณะที่ตัวแทน ป.ป.ช. กล่าวว่ามีการส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง เสนอคณะกรรมการพิจารณาหาผู้กระทำผิด กรณีมีชื่อผู้ที่ไม่อยู่ในข่ายจะได้รับ ส.ป.ก.



นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ได้มอบหลักฐานรายชื่อ ผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก.จำนวน 58 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มี 10 ราย ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่แต่ได้รับกระจัดสรรที่ดินทำกินจาก ส.ป.ก.ให้ตัวแทน ป.ป.ช.



ทั้งนี้นายสุริยน พัชรครุภานนท์ รองผู้อำนวยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ยืนยันว่าจะมีการลงสำรวจพื้นที่เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งคณะที่ประชุมก็เห็นด้วยและจะร่วมลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน โดยเชื่อว่าทุกอย่างจะได้คำตอบ ที่คณะกรรมการวันแมป เป็นสำคัญ



หลังเสร็จสิ้นการชี้แจงในห้องกรรมาธิการ นายชัยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ไม่กังวลใจเรื่องที่ถูก ส.ป.ก.แจ้งความดำเนินคดีกรณีถอนหมุด เพราะจะเป็นโอกาสของการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องแนวเขต และตามหลักแล้วการออกไปรังวัดหรือปักหลักปักหมุด ต้องใช้แผนงาน แผนเงิน จ้างแรงงาน ต้องใช้รถยนต์ขนหลักไปปักให้กับชุมชน พร้อมทั้งมีช่างรังวัดไปปักด้วย ไม่ใช่อยากจะขีดเส้นปักที่ใดก็ได้



นอกจากนี้ ยังระบุกรณี้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่าจะลงพื้นที่อีกรอบ นำเครื่องมือของแต่ละหน่วยงานไปด้วยเพื่อให้เกิดความกระจ่าง



ส่วนที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าให้ยึดเส้นของแผนที่ทหาร จะทำให้เส้นของกรมแผนที่ทหาร มีสถานะเหนือเส้นแผนที่ของหน่วยงานอื่นหรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้รับรองว่าเส้นของแผนที่ทหารเอามาใช้ในเคสนี้ แต่วันนี้ ส.ป.ก. เอาเส้นนี้มาฟ้องว่าอยู่ในเขต ส.ป.ก. ถึงมาแจ้งความตน ซึ่งในหลักการก็ต้องคุยกัน แต่ตนไม่ได้โกรธ ก็ถือว่าเป็นไปตามที่คาดหมายไว้อยู่แล้ว เส้นนี้ต้องมาตกลงกันครั้งต่อไป ว่าจะต้องเริ่มแบบไหนถึงจะถูกที่สุด

คุณอาจสนใจ

Related News