‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านฉลุย! อีก 120 วัน เตรียมใช้ ชาติแรกในอาเซียน LGBTQ+ ฉลองใหญ่วันนี้ที่รอคอย

ที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 130 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง สร้างประวัติศาสตร์ชาติแรกอาเซียน มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ขณะที่เครือข่าย LGBTQIAN+ แห่ขบวนประกาศชัยชนะสมรสเท่าเทียม 3 จุดใหญ่ ส่วนทำเนียบจัดงานยิ่งใหญ่ รมว.ร่วมยินดีเพียบ


วานนี้ (18 มิ.ย.67)  ที่รัฐสภา  ในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ ที่มีพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งผ่านการพิจารณาในชั้น สส. และคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีกลุ่ม LGBTQIAN+ และภาคประชาชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย


โดยการประชุม นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  ในฐานะประธานกรรมาธิการ  รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ว่า ได้ศึกษา เปรียบเทียบร่างกฎหมายอย่างรอบคอบ ได้ตั้งประเด็นข้อสังเกตในชั้นกรรมาธิการ ได้พิจารณาดูรายชื่อกฎหมาย สิทธิ หน้าที่ของคำว่าสามีภรรยา นอกจากนี้ยังได้พิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยร่างฉบับนี้มีทั้งสิ้น 69 มาตรา  ไม่มีการแก้ไข  ไม่มีกรรมาธิการสงวนความเห็น แต่มีการตั้งข้อสังเกตที่สำคัญมาก และมี สว. แปรญัตติ จำนวน 3 คน มีผู้สงวนคำแปรญัตติ 2 คน


จากนั้นเป็นการพิจารณารายมาตรา โดยมาตราที่ 2 ที่กำหนดให้กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน ซึ่งพลตำรวจโทศานิตย์ มหถาวร ไม่เห็นด้วยและขอแปรญัตติ ได้อภิปรายว่า เรามีการโต้เถียงกันมาตลอด ตนตั้งคำถามว่า ทำไมถึงประกาศไม่ให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และถ้าเราไปดูเนื้อใน ไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ ในการร่างกฏหมายควรจะให้สภาหรือวุฒิสภาได้รับรู้ถึงกฎหมายลูกด้วย


“ท่านมักจะตีกินอยู่เรื่อย แล้วให้ออกเช็คเปล่าให้เขาไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรี เป็นไปตามที่อธิบดีไปออกประกาศกำหนด  ไปออกระเบียบข้อบังคับ เขาไม่เคยให้พวกเราได้ดูเลยครับท่านประธาน ผมจึงอยากเรียกร้อง เชื้อเชิญ ขอความเห็นใจ เมตตาปราณีกับน้องๆที่เขารอกฎหมายฉบับนี้มานาน ขอให้มันเร็วกว่านี้ได้หรือไม่ ถ้าได้จะเป็นอนุโมทนาหรือคุณูปการอย่างสูงเลยครับ” พลตำรวจโทศานิตย์กล่าว


ขณะที่นายจิตรพรต พัฒนสิน กรรมาธิการ ชี้แจงว่า การกำหนดวันใช้บังคับของกฎหมาย บางบริบทขึ้นอยู่กับกฎหมายรอง การเตรียมการของหน่วยงานราชการส่วนต่างๆ เพื่อรองรับการบังคับใช้ของกฎหมาย จริงอยู่ที่กฎหมายนี้ไม่มีกฎหมายรอง  แต่ในทางปฏิบัติ เช่น การจดทะเบียนครอบครัว ก็มีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการปรับแก้จากให้บังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 120 วัน


พลตำรวจโทศานิตย์ ลุกขึ้นกล่าวต่อว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เปลี่ยนแค่ถ้อยคำเท่านั้น ตนรู้สึกอึดอัดใจกับคำตอบของผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้  ไม่ได้เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้เลย


“ไปถามคนนั้นมา คนนี้มา ผมก็ถาม ไม่รู้ว่าไปถามคนไหน ท่านก็อ้างไปเรื่อยหรือเปล่าไม่ทราบ ผมไม่ได้เจตนาให้ร้าย การที่จะเร็วกว่า 5 วัน  เดือนหนึ่ง น่าจะเป็นคุณูประการต่อคนที่เขารอคอย ถ้าสัญญาว่าจะให้แล้วขอผลัดไปอีก 4 เดือน ท่านเมตตาได้หรือไม่ มันจะเป็นต้องศึกษาอะไรมากมาย ท่านไม่ต้องไปซักซ้อมทำความเข้าใจอะไรเลย ก็เรียนด้วยความเคารพว่ากฎหมายบ้านเรามันเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรเลย แล้วก็อ้างนู่นนี่นั่น” พลตำรวจโทศานิตย์ กล่าว


ทำให้นางสาวปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม กรรมาธิการ ลุกขึ้นชี้แจงว่า การประกาศใช้เร็วเป็นความต้องการของภาคประชาชนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ฝั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะต้องมีความพร้อมด้วย นอกจากบุคลากรแล้ว ยังต้องมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ด้วย ไม่ใช่แค่กระดาษที่จะพิมพ์ แต่รวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพราะต้องมีระบบฐานข้อมูล กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีผลกระทบแค่กรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นทั่วประเทศและทุกกระทรวง เรามองเรื่องความพร้อมสำคัญ ดังนั้นจึงมองว่า 120 วันนั้นเพียงพอ


หลังให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นครบทั้ง 69 มาตรา โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม  ด้วยคะแนนเห็นชอบ 130 เสียง / ไม่เห็นชอบ 4 เสียง / และงดออกเสียง 18 เสียง และมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้สามารใช้บังคับได้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 120 วัน

---------------------

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจาก สว.ส่วนใหญ่ เห็นพ้องเหมือนคณะกรรมาธิการ โดยมีสมาชิกอภิปราย 1-2 คนในแต่ละมาตรา  ซึ่งหนึ่งในคนที่เป็นที่สังเกต คือ พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร เป็น สว.ที่ขอสงวนคำแปรญัตติแทบทุกมาตรา โดยพยายามเปลี่ยนนิยามของคำ เช่น คำว่าคู่สมรส เปลี่ยนเป็นสามีภรรยาหรือคู่สมรส , คำว่าบุคคล เปลี่ยนเป็นชายและหญิง หรือผู้หมั้น


โดยในที่ประชุม พลเอกวรพงษ์ ย้ำว่า ตนไม่เห็นด้วยกับวิธีการและหลักการในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ การเอาคำว่าสามีภรรยา เพศชาย เพศหญิงออกไป และใช้คำอื่นมาแทน เช่น คู่สมรส คู่หมั้น ซึ่งไม่ได้ระบุเพศที่ชัดเจนมาแทน โดยอ้างว่าเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม การแก้ไขแบบนี้ตนถือว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรงที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมไทย และอยู่ในสภาพที่เปราะบาง การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สถาบันครอบครัวพังทลายเร็วขึ้น


“ถ้าถามว่าครอบครัวประกอบด้วยใครบ้าง ถามเด็ก ถามใคร ถามผู้ใหญ่ ถามที่โรงเรียน เขาก็จะบอกว่าประกอบด้วยพ่อแม่ลูก  พ่อคือผู้ชาย  แม่คือผู้หญิง  หรืออาจจะบอกว่า  ประกอบด้วยสามีภรรยาและบุตร  สามีคือผู้ชาย  ภรรยาคือผู้หญิง บุตรก็ว่าไป คำพวกนี้ เขามีความหมาย และระบุเพศไว้ชัดเจนว่าเพศอะไร เพศกำเนิด ที่สำคัญคือ คำว่าสามีภรรยาจะปรากฏอยู่ในกฎหมายฉบับนี้เป็นที่แรก เพราะเกิดจากการสมรส ถ้าเอาออกไปจะหายไปจากสารบบภาษาไทย จะสะเทือนถึงสถาบันครอบครัว ไปถึงเรื่องเพศชายเพศหญิง” พลเอกวรพงษ์ กล่าว


พลเอกวรพงษ์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขตรงนี้จะบานปลายต่อไปอีก  เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดี ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร  ตนจึงบอกว่า การแก้กฎหมายแบบนี้ไม่ได้เป็นการยกระดับ LGBTQ ขึ้นมาให้เท่าเทียมกับเพศชายเพศหญิง แต่เป็นการกดเพศชายเพศหญิงลงไปให้เท่ากับ LGBTQ จะทำให้ภาพเบลอไม่ชัด


“LGBTQ ก็จะไปเรียกร้องให้แก้แบบเรียน มหาดไทยต่างๆ เพื่อให้เข้าไปในกลุ่มของท่าน ทะเบียนสมรสก็ออกแบบใหม่อีกแล้ว ไม่มีผู้ชายชื่ออะไร ผู้หญิงชื่ออะไร ผมติดใจการแก้ไขกฎหมาย ทำไมท่านถึงไม่เอะใจ ว่ากฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง” พลเอกวรพงษ์ กล่าว


พลเอกวรพงษ์ ระบุว่าการแก้ไขกฎหมายแบบนี้ได้ 10 เสีย 90 สังคมสภาพครอบครัวถูกเซาะกร่อนทำลาย ถ้าไม่ตั้งใจก็ถือว่าดี แต่ถ้าตั้งใจก็ถือว่าแย่มาก ตนขอให้พอ ยังกลับตัวทัน พร้อมขอให้เพื่อนสมาชิกฟังตนอธิบายด้วยความรอบคอบก่อนที่จะลงมติ

---------------------

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Karnjana Sathaworn  โพสต์ภาพบรรยากาศในห้องประชุม ภายในอาคารรัฐสภา ซึ่งจัดเป็นสถานที่ให้ภาคประชาชนและกลุ่ม LGBTQIAN ได้ร่วมติดตามการประชุมวุฒิสภา ขณะประชุมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม  โดยทันทีที่ประกาศผลการลงมติ และประธานในที่ประชุมประกาศปิดการประชุม กลุ่มผู้ที่เฝ้าติดตามภายในห้องดังกล่าว ก็พากันโห่ร้องแสดงความยินดี และโบกธงสีรุ้ง ส่งยิ้มให้กันอย่างมีความสุข โดยผู้โพสต์ ได้ระบุข้อความว่า


 “วินาทีประวัติศาสตร์ มันจบแล้วครับนาย สมรสเท่าเทียม approved ชาติแรกใน ASEAN ประเทศที่ 3 ใน ASIA  #ภูมิใจในการเดินทางครั้งนี้ #ดีใจกับทุกคน”

---------------------

ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล กล่าวถึงที่ประชุมวุฒิสภา ผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ระบุว่านี่เป็นวินาทีประวัติศาสตร์ของไทย ยืนยันว่าความรักของประเทศไทย ไม่ได้เลือกเพศสภาพ ขณะเดียวกัน ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในประเทศเป็นไปได้ แม้ว่าจะเกิดในวันการเมืองดูยุ่งเหยิงในสายตาของต่างประเทศ


วันนี้ต้องชื่นชมในการต่อสู้ของพี่น้องประชาชน รัฐบาลก่อนหน้านี้ และทุกพรรคการเมือง ซึ่ง 18 มิถุนายน 4 ปีที่แล้ว ก็เป็น สส.ของพรรคก้าวไกลเองที่ยื่นกฎหมายและเห็นถึงการต่อสู้ที่เริ่มตั้งแต่สมัยนั้น เพราะฉะนั้นเป็นความดีความชอบ สิ่งใดที่ประชาชนต้องการ พรรคการเมืองก็ทำให้ได้

---------------------

บรรยากาศงานเลี้ยงที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ภายหลังร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) ผ่านการพิจารณาในวาระ 2-3 วุฒิสภา สมัยวิสามัญ ซึ่งมีการจัดซุ้มนิทรรศการ บริเวณสนามหญ้า และปูพรมเป็นถนนสีรุ้งแห่งความเท่าเทียม รอบทางเดินหน้าตึกไทยคู่ฟ้า


นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแจกของที่ระลึกสีรุ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ให้กับผู้เข้าร่วมงาน อาทิ ธงจิ๋ว, พัด, สายสะพาย และเข็มกลัด เป็นต้น ขณะที่จุดไฮไลต์เช็กอิน คือ มือลมสีรุ้งขนาดยักษ์ และยังมีกิจกรรมอีกมากมาย ทั้ง workshop เพนต์สีแห่งความเท่าเทียม ตู้สติกเกอร์ ซุ้มดอกไม้ และจุดถ่ายภาพแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม


ขณะที่ภายในงานมีบุคคลสำคัญจากหลากหลายวงการเข้าร่วมงานด้วย อาทิ เอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ, นายคชาภา ตันเจริญ หรือ มดดำ, นายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือ วู้ดดี้, นายเขมรัชต์ สุนทรนนท์ หรือ ดีเจอ๋อง, นายธนัชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล หรือ ดีเจบุ๊คโกะ และ นายไพฑูรย์ ขำขัน หรือ เจ๊แขก เจ้าของร้าน ขนมครกเจ๊แขกแหกปาก จ.นครปฐม


ทั้งนี้ ในเวลาประมาณ 17.00 น.ภาคประชาชนได้ขึ้นรถแห่ขบวน หรือ Pride Caravan จากรัฐสภา พร้อมแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม มายังสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล


จากนั้นเวลา 17.05 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับหน้าที่เป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรี ที่ป่วยเป็นโควิด-19 พร้อมด้วย รัฐมนตรี ได้ต้อนรับกลุ่ม LGBTQIAN+ และภาคประชาชน ซึ่งเดินขบวนแรลลี่ฉลองสมรสเท่าเทียม จากสภาผู้แทนราษฎร มายังทำเนียบรัฐบาล


ขณะที่ตัวแทนคู่รัก LGBTQIAN+ กล่าวว่า รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว รู้สึกขอบคุณ และอยากบอกว่า วันนี้เป็นวันที่มีความสุขที่สุด ซึ่งเป็นวันที่รอคอยมาเกือบทั้งชีวิต และไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีวันนี้ อยากให้จารึกวันที่ 18 มิถุนายนไว้ ที่ประเทศไทยกล้าหาญมาก ที่ได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง และเห็นความเท่าเทียมของมนุษย์ ยอมรับว่า วันนี้รู้สึกตื่นเต้น จนขนลุกน้ำตาไหลออกมา


จากนั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ขึ้นกล่าวรายงานว่า กว่า 12 ปี ที่กฎหมายฉบับดังกล่าวได้เข้าสภา ฉบับแล้ว ฉบับเล่า ผ่านบ้าง ตกบ้าง เกือบจะผ่านบ้าง ซึ่งวันนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านสภาแล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา หน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคม ยืนยันว่า งานนี้ไม่ใช่การเมือง เพราะไม่มีรัฐบาล ไม่มีฝ่ายค้าน แต่งานนี้ทำเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน และจากนี้ไปชาว LGBTQIAN+ จะสามารถแต่งงาน และอยู่ร่วมทำมาหากินด้วยกันเป็นครอบครัว มีสิทธิไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การจัดทรัพย์สินสมรสของคู่สมรส เป็นผู้จัดการทางอาญา รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้จากภาครัฐ เช่น ประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาล


พร้อมกับเชิญชวนหากใครต้องการจะแต่งงาน มาแต่งงานที่ประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และในปี 2030 ประเทศไทยจะเสนอเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride


ก่อนที่ นายภูมิธรรม จะมอบของที่ระลึก และช่อดอกไม้แห่งความเท่าเทียมให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ และภาคประชาชน และปล่อยขบวนจากทำเนียบรัฐบาล ไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วย

---------------------

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการพักรักษาอาการป่วยโรคโควิดที่บ้านพัก ได้โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชั่น X หรือทวิตเตอร์ แสดงความยินดี หลังจากที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม  โดยระบุข้อความว่า


“ผมขอชื่นชมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจากหัวใจ ที่เราช่วยกันผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จนผ่านมาถึงจุดนี้ พวกเราต่อสู้เรียกร้องกันมายาวนาน เพราะเราเชื่อในสิทธิที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันของคนทุกคน วันนี้เป็นเวลาของเราทุกคนแล้วครับ


กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกันได้แล้ว คู่รักที่แต่งงานกันยังมีสิทธิทุกอย่างตามกฎหมายเช่นเดียวกับสามี-ภรรยาทุกคู่ วันนี้ เรามีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เราจะเดินไปด้วยกันต่อ เพื่อผลักดันกฎหมาย และข้อเรียกร้องอื่น ๆ อีก


งานฉลองที่ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ เราฉลองให้กับความสำเร็จที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ฉลองให้กับจุดเริ่มต้นของความรักที่เท่าเทียม ‘ความหลากหลาย’ ไม่ใช่ ‘ความแตกต่าง’ ขอให้ทุกความรักงดงาม และเต็มไปด้วยพลังครับ”


และยังโพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า  “Today we celebrate another significant milestone in the journey of our Equal Marriage Bill. I am proud of the collective effort of all stakeholders which reiterates the power of “unity in diversity” of the Thai society. We will continue our fight for social rights for all people regardless of their status. As we celebrate today, we are proud to be a Pride Friendly Destination and look forward to bringing World Pride to Thailand in 2030”

---------------------

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์แสดงความยินดีหลังจากที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติเห็นชอบกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยระบุว่า


“ตอนเป็นนายกฯ เราฝันเห็นภาพคู่รักทุกคู่มีสิทธิเท่ากัน รัฐบาลและสภาฯในขณะนั้นจึงเริ่มผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพราะเราเชื่อว่า ถ้าเริ่มต้นนับ 1 ได้ก่อน ไม่นานจะถึงเส้นชัยได้แน่นอน


เส้นทางการต่อสู้ยาวนานมาจนถึงวันนี้ วันที่ กฎหมายสมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นในประเทศไทย นี่คือความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชน รัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ คนไทยทุกคน คู่รักทุกคู่ จะสามารถแต่งงานกันได้ และจะมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ


ดิฉันดีใจมาก ที่เคยได้เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางสายนี้ และยินดีกับความสำเร็จของกฎหมาย ‘ความรัก’ เราเลือกได้ด้วยหัวใจ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ดิฉันภูมิใจกับทุกคนเสมอค่ะ
---------------------

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ. นี้ อย่างมาก โดยนายกรัฐมนตรีพูดเสมอว่า ในฐานะประชาชนก็มีความเชื่อมั่นถึงความเท่าเทียมในสังคม และต้องการผลักดันประเด็นนี้ให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งในประเทศและเป็นภาพลักษณ์ที่งดงามของไทยในเวทีโลก นายกรัฐมนตรีตระหนักดีถึงความรักในทุกรูปแบบ และเข้าใจดีถึงการรอคอยของพี่น้อง LGBTQIAN+ การรวมพลังกันต่อสู้มาอย่างอดทน ซึ่งในวันนี้ถือเป็นอีกวันที่คนไทยได้เฉลิมฉลองไปด้วยกัน และแสดงความยินดีให้กับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย และยืนยันที่จะเดินด้วยกันเพื่อผลักดันกฎหมายและข้อเรียกร้องอื่นๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลจัดงานฉลองในวันนี้ ให้กับความสำเร็จที่กฎหมายเท่าเทียมผ่าน ฉลองให้กับความรักที่เท่าเทียม “ความหลากหลาย” ไม่ใช่ “ความแตกต่าง”


โดยในโอกาสนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้กล่าวยินดีที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย ขอขอบคุณวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานราชการ เอกชน ภาคประชาสังคม พี่น้องประชาชนทุกคน จากนี้ไปพี่น้องชาวหลากหลายทางเพศจะสามารถสมรส เป็นครอบครัว มีสิทธิการจัดการทรัพย์สินสมรส การจัดการทางอาญา มรดก การยินยอมให้รักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐในฐานะคู่สมรสทั้งประกันสังคม การกู้ร่วมในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้


วันนี้ รัฐบาลยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนความเท่าเทียม ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน และที่ 3 ในเอเชีย ที่สามารถแต่งงานภายใต้ความหลากหลายได้ พร้อมขอยืนยันว่าไทยเราเดินหน้าโดยไม่ทิ้งใคร ไม่ทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง ขอเชิญชวนทุกคนเดินทางมาประเทศไทย


ทั้งนี้ นายชัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลขอให้คำมั่น จะเดินหน้านำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยสู่การเป็น Pride Friendly Destination ผลักดันสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ของบุคคลทุกเพศ ให้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม สนับสนุนทุกกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2030 ไทยจะขอรับการสนับสนุนเป็นเจ้าภาพงาน World Pride 2030 และรัฐบาลจะดำเนินการด้านที่เกี่ยวข้อง โดยยังมีกฎหมาย และกิจกรรมที่พร้อมจะผลักดัน เพื่อการที่จะสนับสนุนพี่น้องชาวLGBTQIAN+ ทุกคน

--------------------

เพจเฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกล โพสต์แสดงความยินดีที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา โดยระบุว่า  


 “สิ้นสุดการรอคอย #สมรสเท่าเทียม ผ่านแล้ว เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายในปีนี้


18 มิถุนายน 2563 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อก้าวไกล ยื่นร่างสมรสเท่าเทียมเข้าสภาฯ


18 มิถุนายน 2567 สมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาวาระ 2-3 ในชั้น สว.


ตลอดการเดินทาง 4 ปี จากจุดเริ่มต้นที่มีคำถามว่า “ทำเรื่องอื่นก่อนไหม” “สังคมพร้อมหรือยัง” “เรื่องนี้จะเป็นไปได้หรือในสังคมไทย” แต่การรณรงค์ขับเคลื่อนอย่างแข็งขันของหลายภาคส่วน ทำให้สมรสเท่าเทียมเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ปลุกกระแสความตื่นตัว การตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการสมรส ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเคยถูกพรากไป


จนถึงวันนี้ “ความเปลี่ยนแปลง” ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว


พรรคก้าวไกลขอร่วมเฉลิมฉลองกับก้าวสำคัญของความเท่าเทียมในสังคมไทย และขอบคุณทุกคนที่เดินบนเส้นทางนี้ร่วมกัน


#คืนสิทธิ์คืนศักดิ์ศรีให้เราเท่ากัน”

--------------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Htqps0ViHcY
















โดย nattachat_c

19 มิ.ย. 2567

181 views

EP อื่นๆ