เทคโนโลยี
เกาะติดประชุม COP28 แบงก์ใน UAE ผนึกกำลังทุ่ม 9.4 ล้านล้านบาท ให้ 'การเงินสีเขียว'
โดย panwilai_c
4 ธ.ค. 2566
44 views
ในการประชุมว่าด้วยปัญหาด้านสภาพอากาศแห่งสหประชาชาติ หรือ COP28 ธนาคารหลายแห่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ผนึกกำลังกันทุ่มงบประมาณกว่า 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9.4 ล้านล้านบาท) ให้กับ "การเงินสีเขียว" หรือ Green Finance
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม COP28 ให้คำมั่นสัญญาว่า จะจัดสรรงบประมาณให้กับ "การเงินสีเขียว" ซึ่งเป็นการเพิ่มกระแสการเงิน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ให้ไหลเข้าสู่กิจกรรมโลกธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมูลค่า 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 ผ่านธนาคารต่าง ๆ คำมั่นสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้น จากความร่วมมือกันของระบบธนาคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อปล่อยเงินกู้เพิ่มเติมแก่โครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้คำสัญญานี้มีขึ้น หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บอกว่าจะให้เงิน 30,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1 ล้านล้านบาท) สำหรับโครงการด้านสภาพอากาศ
นอกจากนี้ ในการประชุมนี้ กองทุนพลังงานอาหรับ หรือ เอพิคอร์ป (APICORP) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแบบพหุภาคีที่มุ่งเน้นการทำงานในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ยังประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 34,000 ล้านบาท) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าด้วย ซึ่งการลงทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ 5 ปี ที่จะดำเนินงานสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ด้านพลังงานในระดับภูมิภาค ไปสู้เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิ ไปจนถึงปี 2571
ขณะเดียวกัน การประชุมในครั้งนี้ก็เกิดเรื่องราวดราม่าขึ้นมาเล็กน้อย หลังจากมีคนนำคลิปวิดีโอของสุลต่าน อัล จาเบอร์ ประธานการประชุม COP28 ที่เคยแสดงความคิดเห็นว่า การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อจำกัดอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส "ไม่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รองรับ" ออกมาเปิดเผย ซึ่งคลิปดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง
ล่าสุด สุลต่านอัลจาเบอร์ ได้ออกมาแถลงตอบโต้ โดยบอกว่า เขายังคงเชื่อมั่นและเคารพหลักการทางวิทยาศาสตร์ เรื่องราวที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากความสับสนและการบิดเบือนความจริง พร้อมกับโจมตีเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นความพยายามในการทำลายตำแหน่งประธานการประชุม COP28 ของเขา
ขณะที่ด้านนอกที่ประชุม มีบรรดากลุ่มต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้การประชุมครั้งนี้มีผลเป็นรูปธรรมและให้เพิ่มงบประมาณสำหรับกองทุนเยียวยาด้านสภาพอากาศที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่ รวมถึง ยุติการสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
เช่นเดียวกันกับนักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นที่พากันแต่งตัวเป็นตัวการ์ตูน ปิกาจู และถือป้ายเรียกร้องให้ยุติการสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ ผู้ประท้วงยังแสดงความรู้สึกผิดหวังต่อจุดยืนของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมตำหนิว่า "ไม่กระตือรือร้น"
นอกจากนี้ ทางด้านสเตลลา แมคคาร์ทนีย์ (Stella McCartney) ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวอังกฤษ ก็เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายควบคุมอุตสาหกรรมแฟชั่นให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เธอนำเสื้อผ้าที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืน มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เธอร่วมก่อตั้งขึ้นมา มาจัดแสดงในการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะมีส่วนต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 10% มากกว่าการขนส่งทางเรือและเครื่องบินระหว่างประเทศรวมกัน