สังคม

แพทย์เตือนยังต้องยกการ์ด ใส่หน้ากากยังจำเป็น คนทั่วไปควรฉีด 4 เข็ม อย่าเสี่ยงติดโควิด มันไม่คุ้ม

โดย nattachat_c

27 มิ.ย. 2565

22 views

วานนี้ (26 มิ.ย. 65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า


“ตอนนี้ติดกันเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ และวัยทำงาน ที่สำคัญคือ household transmission จากเด็กๆ ที่ติดจากโรงเรียนและเพื่อนๆ ไปสู่คุณพ่อคุณแม่ และผู้ใหญ่สูงอายุในบ้าน ตัวเลขที่รายงานนั้นไม่สะท้อนสถานการณ์จริง เพราะเลือกรายงานเฉพาะที่ป่วยมาโรงพยาบาล และที่ตายโดยไม่มีโรคร่วม”


“ช่วงที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เราเห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าอะไรควรทำ ควรเชื่อ และควรปฏิบัติ โรคประจำถิ่นนั้น ไม่ต้องมาเถียงหรือหาจังหวะประกาศ เพราะโดยธรรมชาติแล้วการระบาดที่เรื้อรัง กระจายไปทั่วอย่างยาวนานดังที่เป็นมานั้น เป็นการตีตราโดยอัตโนมัติว่าโรคระบาดนั้นจะคงอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะซาลง แต่ก็จะพบไปบ่อยในพื้นที่ที่ระบาดเรื้อรังยาวนานมากกว่าที่อื่น”


“ย้ำอีกครั้งว่า โรคประจำถิ่น ไม่ได้แปลว่ากระจอก ธรรมดา เอาอยู่ แต่ทำให้ป่วยได้มากหากปะทุขึ้นรุนแรง หรือป้องกันตัวไม่ดีพอ และจะทำให้ตายได้ รวมถึงเกิดผลกระทบระยะยาวจากโรคได้ นอกจากนี้ โควิด-19 นั้น เรายังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะทำนายทายทักได้แม่นยำว่าเชื้อไวรัสจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต และยาหรือวัคซีนที่มี หรือที่ใช้อยู่นั้น ก็มีข้อจำกัด และความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ”


โดยมาตรฐานสากลที่ยอมรับกันในวงการแพทย์นั้น เน้นการใช้ยาที่ได้รับการพิสูจน์ตามขั้นตอนมาตรฐานจนแน่ใจว่าปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการรักษาประชาชนในแต่ละประเทศ จึงต้องประเมินศักยภาพของระบบสุขภาพให้ดีว่า โดยแท้จริงแล้วพร้อมเพียงใด และมีประสิทธิภาพเพียงใด


“การปฏิบัติตัวจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยข้างต้นเป็นสำคัญ มิใช่เฮโลสาระพาตามกันไปสู่กิเลสและมายาคติในการใช้ชีวิตเสรี ไม่ใส่หน้ากาก ไม่ป้องกันตัว โดยนึกว่ากระจอก เอาอยู่ เพียงพอ ได้มาตรฐานระดับโลก ทั้งที่ไม่ใช่การประคับประคองตัวให้อยู่รอดปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีสติ ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่หลงเชื่อต่อกิเลส คำลวง ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท”


วัคซีนช่วยได้แน่นอน ในแง่ลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และเสียชีวิต แต่ไม่ได้การันตี 100% แม้ได้รับวัคซีน ก็ยังติดเชื้อได้ ป่วยได้ ตายได้ และเป็น Long COVID ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน การใส่หน้ากากนั้นจึงยังจำเป็นมาก

--------

และยังมีอีกโพสต์ว่า


"กราฟจาก Financial Times แสดงให้เราเห็นชัดเจนว่า Omicron แต่ละสายพันธุ์ตั้งแต่ BA.1, BA.2 จนมาถึง BA.4 และ BA.5 นั้นส่งผลให้เกิดการระบาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยไม่สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจนว่าตัวใหม่จะเบากว่าตัวเก่า

หลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่นั้นมีสมรรถนะในการแพร่มากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิมหลายเท่า เพราะดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การระบาดในแต่ละประเทศจะหนักหนาสาหัสแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เห็นชัดเจนดังนี้

หนึ่ง "การฉีดวัคซีนและเงื่อนเวลาของการระบาด"

หากมีการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมสูง โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ระบาด ก็จะมีอัตราการป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตต่ำ

แต่หากฉีดวัคซีนครอบคลุมน้อย หรือฉีดมานานไม่ได้รับเข็มกระตุ้น แล้วเกิดการระบาดปะทุขึ้นในช่วงที่ระดับภูมิคุ้มกันในประชากรลดต่ำลง ก็จะพบอัตราป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

สอง "เสรีการใช้ชีวิตและพฤติกรรมป้องกันตัว"

แม้จะฉีดวัคซีนไปมากน้อยเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จะมีโอกาสติดเชื้อได้ ป่วยได้ และเป็น Long COVID ได้

ความเสี่ยงในการติดเชื้อ แพร่เชื้อ จนป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล จะยิ่งมากเป็นเงาตามตัว หากประเทศนั้นๆ เปิดเสรีการใช้ชีวิต โดยคนในสังคมไม่ได้ระมัดระวังป้องกันตัวอย่างดีพอ เช่น ไม่ใส่หน้ากากระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เฮฮาปาร์ตี้กันสุดเหวี่ยง ฯลฯ ก็จะพบว่าการระบาดในระลอกหลังก็จะทำให้ติดเชื้อ และป่วยมากขึ้นกว่าเดิมได้ แม้จะมีอัตราฉีดวัคซีนครอบคลุมสูงก็ตาม

...นี่คือบทเรียนที่เห็นชัดเจนจากลักษณะการระบาดของประเทศทั่วโลก

และกลับมาสะท้อนให้คนไทยเราต้องระมัดระวังตัวให้ดี

เพราะสองปัจจัยข้างต้นคือตัวกำหนดชะตาการระบาดของเรา

สถานะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของเราในปัจจุบันนั้น มีประชากรได้เข็มกระตุ้น (เข็มสาม) ไปแล้วเพียง 42.4% นอกจากนี้หากดูกลุ่มเสี่ยง เช่น คนที่สูงอายุได้เข็มกระตุ้นไป 46.2% ในขณะที่เด็กเล็กอายุ 5-11 ปี เพิ่งได้ครบสองเข็มไปเพียง 39.2%

ส่วนสภาพสังคมทุกวันนี้ เราย่อมเห็นชัดเจนว่าเปิดเสรีการใช้ชีวิต เพื่อให้ทำมาค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน และทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้มากคล้ายในอดีต

แต่ต้องเน้นย้ำว่าพฤติกรรมการป้องกันตัวนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง สถานการณ์ระบาดช่วงนี้เพิ่มขึ้นมากหากสังเกตคนรอบตัวที่ติดเชื้อ โดยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รายงานเข้าสู่ระบบ

"การใส่หน้ากาก"เสมอเวลาตะลอนนอกบ้าน เป็นหัวใจสำคัญที่จะลดความเสี่ยง

ย้ำอีกครั้งว่าจำเป็นมาก

นอกจากพบเคสเด็กที่ติดเชื้อจากสถานศึกษาแล้วนำมาแพร่แก่คนในครอบครัว ทั้งพ่อแม่ และผู้สูงอายุแล้ว คนวัยทำงานก็ติดเชื้อกันมากขึ้น ทั้งจากที่ทำงาน รวมถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปร่วมงานเลี้ยงฉลองในโอกาสต่างๆ

เมื่อคืนได้ทราบมาว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ไปงานปาร์ตี้เลี้ยงส่งเพื่อนร่วมงาน ติดกันไปเป็นสิบคน รวมนักศึกษาด้วย ก็ถือเป็นบทเรียนที่นำมาย้ำเตือนให้ระมัดระวังกันให้ดี เพราะหากติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ก็จะนำมาแพร่ให้แก่เพื่อนร่วมงาน รวมถึงคนที่เราไปพบปะหรือดูแลได้จำนวนมาก

ขอนำสิ่งที่ตนเองปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันเวลาต้องไปงานที่มีคนจำนวนมาก มาแชร์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม

1. ประเมินดูว่างานนี้จำเป็นต้องไปหรือไม่

2. หากต้องไป หรืออยากไปมาก ก็วางแผนให้ดีว่าจะทำอะไรบ้าง โดยดูรายละเอียดของงานที่จะไป หากเป็นไปได้ก็เลือกงานที่มีคนน้อย และมีมาตรการรักษาความสะอาดและตรวจคัดกรองก่อนเข้าร่วมงาน

3. จัดเวลาเผื่อ โดยไปกินอาหารมื้อนั้นให้เรียบร้อยที่บ้าน หรือที่ร้านโปร่งโล่งใกล้สถานที่ที่จัดงาน เพื่อจะได้เลี่ยงการกินดื่มที่ไม่จำเป็นระหว่างเข้าร่วมงานที่มีคนจำนวนมาก  

4. ในงาน พบปะผู้คน พูดคุยทักทายได้ โดยใส่หน้ากากเสมอ พยายามเลี่ยงการสัมผัสตัวคนอื่น หากสัมผัสกันจับมือกันกอดกัน ก็ใส่หน้ากากและล้างมือทุกครั้ง

5. หากเป็นงานสัมมนายาวนานเป็นวัน ครอบคลุมการกินดื่มหลายมื้อ หากนำอาหารมาแยกกินได้ก็จะดี แต่หากกินดื่มรวมกัน ก็กินดื่มโดยใช้เวลาสั้นๆ ระหว่างกินดื่มจะไม่พูดคุย หากจะพูดคุยก็ใส่หน้ากากก่อนเสมอ ล้างมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังจับอุปกรณ์หรือภาชนะต่างๆ ของสาธารณะ

6. หลังกลับจากงาน คอยสังเกตอาการของตนเองว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ และติดตามข่าวคราวจากกลุ่มผู้ไปร่วมงานด้วยว่ามีปัญหาการเจ็บป่วยไม่สบายหลังจากไปร่วมงานหรือไม่ จะได้จัดการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

...เหล่านี้คือสิ่งที่ปฏิบัติอยู่ และทำได้หากคิดจะทำ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของตัวเราและการให้ความสำคัญ

ณ จุดนี้ ความใส่ใจด้านสุขภาพ การป้องกันตัวเอง จะเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของเราและคนใกล้ชิด

เพื่อจะได้ปลอดภัยไปด้วยกัน

COVID-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก

ติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

ที่สำคัญคือเรื่องภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด..." 

-----------

ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย และการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ว่า ขณะนี้สถานการณ์การครองเตียงผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลศิริราช เพิ่มขึ้นชัดเจน


แต่สาเหตุของการเข้ารักษาตัวเป็นเพราะโรคประจำตัวที่มีอยู่อาการแย่ลง จึงต้องเข้า รพ. แต่ก่อนทำการรักษาต้องตรวจหาเชื้อก่อน ทำให้ทราบว่าติดโควิด-19 ด้วย จึงต้องแยกไปอยู่หอผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนข้อมูลผู้ป่วยที่อาการรุนแรงยังไม่เพิ่มขึ้น แต่ รพ.ศิริราช ก็เตรียมรับมือไว้


ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตามหลักการเรื่องนี้ประกาศเพื่อบอกว่าไม่ได้บังคับให้สวมหน้ากากแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าต้องถอดหน้ากากออก โดยเฉพาะตอนนี้ ที่มีเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ตนเชื่อว่า ประชาชนจะระวังตัวมากขึ้น เพราะยังต้องเฝ้าติดตามความรุนแรงของโรค โดยคาดว่าอีก 2 สัปดาห์ จะเห็นภาพชัดเจนของ BA.4 และ BA.5 มากขึ้น

-----------

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยของเชื้อโอมิครอน ว่า สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 พบข้อมูลมาหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป ที่พบอัตราติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นเป็นหมื่นรายต่อวัน ซึ่งข้อมูล ณ ขณะนี้พบว่า

  • สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เริ่มไปทดแทนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เนื่องจาก BA.4 และ BA.5 แบ่งตัวเร็วกว่า
  • แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า รุนแรงมากกว่า เพราะยังไม่มีหลักฐานการป่วยจนเข้านอนในโรงพยาบาล อาการรุนแรงถึงเสียชีวิตที่ชัดเจนเพียงพอ ถือเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม


อย่างไรก็ตาม การที่มีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นมองได้ 2 แง่ คือ 1.ตำแหน่งการกลายพันธุ์ และ 2.คนเริ่มผ่อนคลายมาตรการหน้ากากอนามัย จึงมีโอกาสที่แพร่กระจายได้มากขึ้น รวมถึงกิจกรรมสังคมที่มากขึ้นด้วย ทั้งนี้หลายประเทศก็ไม่ได้ตรวจหาเชื้อกันแล้ว ดังนั้น ที่เห็นผลตรวจเป็นหมื่นราย แสดงว่า ยอดจริงต้องมากกว่านั้น


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่เห็นความรุนแรงที่ชัดเจน คือ วัคซีน อย่างที่เคยย้ำว่า หากฉีดมากกว่า 3-4 เข็มขึ้นไป ก็จะช่วยลดความรุนแรงได้แม้จะมีการกลายพันธุ์ แต่ไวรัสยังเป็นโคโรนาตัวเดิม ข้อเตือนใจสำหรับไทยที่เปิดประเทศมีผู้เดินทางเข้าเป็นหมื่นคน ดังนั้น เมื่อตรวจพบเจอก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เมื่อมีการเดินทางก็มีแนวโน้มจะกระจายไปได้มากขึ้นด้วย


สิ่งที่ต้องย้ำคือ 1.วัคซีน เพราะข้อมูลการศึกษาของ BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มว่าอาจจะเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่ยังไม่ต้องไปเทียบกับเดลต้า เพราะไม่มีหลักการว่าจะรุนแรงมากกว่า คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ได้ศึกษาข้อมูลประชากรกว่า 5 แสนคน พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ป้องกันติดเชื้อได้ ร้อยละ 25 แต่ถ้าฉีด 4 เข็ม ก็จะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 70-75


สำหรับผมแนะนำให้ฉีด 4 เข็ม ในกลุ่มคนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ก็เป็นเข็มที่ 5 ได้เลย ซึ่งหลายคนก็ได้รับแล้ว” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า 2.คนไทยต้องกระชับตัวเอง เพราะบังคับนักท่องเที่ยวได้ยาก ดังนั้น ต้องป้องกันตนเองด้วยมาตรการเดิมคือ สวมหน้ากากอนามัย/ผ้า เว้นระยะห่าง และล้างมือ เพราะเรายังมีเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคนเคยติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้สั้นสุดกี่เดือน และติดเชื้อซ้ำจะมีผลต่ออวัยวะภายในร่างกายอย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าสั้นกว่านั้น เนื่องจากโอมิครอนทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ แต่คนจำนวนหนึ่งติดจริง แต่มีอาการน้อย จึงไม่ได้ตรวจ ดังนั้น จริงๆ ที่เราเคยพูดว่าจะติดเชื้อซ้ำได้ใน 4-6 เดือน ก็อาจจะสั้นกว่านั้น เพียงแต่คนไม่ได้ตรวจ


ทั้งนี้ ข้อมูลที่เห็นได้ว่า BA.4 และ BA.5 ติดเชื้อได้เร็ว ตนเห็นว่าภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจลดลงเร็วกว่าตอนที่ป้องกัน BA.2 ฉะนั้น คนกลุ่มเสี่ยง 608 ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อครบ 4 เดือน ส่วนคนที่ติดเชื้อซ้ำ ต้องบอกว่าลองโควิด (Long Covid19) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นได้ทุกสายพันธุ์ บางคนมีอาการทำให้ชีวิตประจำวันลดลง เช่น สมองตื้อ ผมร่วง ดังนั้น หากมีสายพันธุ์ที่กระจายเร็วกว่าเดิม การติดเชื้อก็จะไม่คุ้มกับลองโควิด


คนที่หายแล้วติดอีกซ้ำๆ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีหรือไม่มีผลกระทบกับภาพรวมสุขภาพ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะติดเชื้อซ้ำ เพราะตอน BA.2 ที่ไม่ลงปอด เราสบายใจ แต่มา BA.4 มีสมมติว่ามีข้อมูลพิสูจน์ชัดว่าอาการรุนแรง เล่นงานปอด นั่นก็เรื่องใหญ่ หากทุกครั้งที่ติดแล้วจู่โจมปอด ก็ทำลายเนื้อปอดที่อาจไม่ฟื้นตัวกลับมาง่ายๆ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว


เมื่อถามว่า BA.4 และ BA.5 จะเป็นคลื่นระบาดรอบใหม่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โอกาสที่จะกลับมาระบาดมากแบบระลอกเดลต้าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะคนฉีดวัคซีนกันมาก ระวังตัวมากขึ้น ซึ่งขอเน้นย้ำว่าเรายังคงต้องป้องกันตัวเองให้มากขึ้น หากพบว่าเริ่มมีสัญญาณรุนแรงมากขึ้น เราก็เตรียมกลับมายกการ์ด

----------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/KnZsjICcZeI


คุณอาจสนใจ

Related News