สังคม

“ครอบครัว-รัฐ-กฎหมาย” ใครคือผู้ร้าย ในวันที่ ‘เด็ก’ และ ‘อาชญากร’ คือคนเดียวกัน

โดย paweena_c

27 ก.พ. 2567

41 views

ปัจจุบันเกิดปัญหาเด็กและเยาวชนก่อเหตุอาชญากรรม ไม่เว้นแต่ละวัน และหลายกรณีเป็นเหตุอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เด็ก 14 กราดยิงกลางห้างดัง” หรือ แก๊ง “ลูกตำรวจ” ที่สระแก้ว ซึ่งอุ้มฆ่า “ป้าบัวผัน” อย่างเหี้ยมโหด 

แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุคนในสังคมก็แสดงความโกรธแค้น เพราะเป็นที่รู้กันว่ามีกฎหมายคุ้มครองเด็ก โดยหากเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ต้องรับโทษ

ตามมาด้วยเสียงเรียกร้อง ให้ปรับแก้กฎหมาย ลดอายุของผู้ที่สามารถรับโทษตามกฎหมาย

ท่ามกลางความร้อนแรงของกระแสยกเลิกกฎหมาย ‘พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มารับผิดชอบคดีดังกล่าวด้วยตนเองบอกว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาและเตรียมเสนอ ‘ปรับลดเกณฑ์อายุเด็กทำผิด’ ให้ได้รับโทษ จากเดิมอายุ 15 เป็น 12 ปี และเพิ่มโทษผู้ใหญ่ รวมถึงการเอาผิดพ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลยด้วย


‘กฎหมายเด็ก’ ควรปรับแก้ หรือแค่ที่มีก็ดีอยู่แล้ว

เบื้องต้นเราลองมาดูกันว่ากฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้อย่างไรบ้าง  โดยแบ่งเป็นกลุ่มอายุ 4 กลุ่ม และมาตรการในการลงโทษก็มีความแตกต่างกัน

โดยกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา  73-76  
1. ผู้ที่อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำความผิดไม่ต้องรับโทษ
2. ผู้ที่อายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิดก็ไม่ต้องรับโทษเช่นกัน แต่ให้ศาลมีอำนาจสั่ง ‘มาตรการพิเศษ’ เพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิด

หมายความว่า ผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 หากทำผิดไม่ต้องรับโทษ  เพียงแต่หากเกิน 12 ปี  ก็ให้ศาลสั่ง “มาตรการพิเศษ” เพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำความผิด

3. ผู้ที่อายุ 15-18 ปี ถ้าทำผิด กฎหมายเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจ  ศาลอาจตัดสินลงโทษหรือไม่ก็ได้  แต่ถ้าลงโทษให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงโทษก็ให้กำหนดมาตรการฟื้นฟู
4. ผู้ที่อายุ 18-20 ปี ถ้าทำผิดต้องรับโทษ แต่ศาลอาจลดโทษ 1/3 หรือกึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายบัญญัติเรื่องนี้ไว้ ไม่ได้เป็นการเขียนขึ้นมาลอยแต่อย่างใด  หากแต่เป็นการเขียนล้อ เพื่อให้เป็นไปตาม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child -CRC) ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามไว้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งระบุว่า การที่เด็กกระทำความผิดแล้วนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาแบบเต็มรูปแบบ อาจจะสร้างบาดแผลทางจิตใจ และการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ไทยเคยมีการปรับเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญา จากเดิม 10 ปี แก้ไขเป็น 12 ปี โดยมีเหตุผลทางการแพทย์รองรับคือ เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี การเจริญเติบโต ความรู้ผิดชอบยังไม่เต็มที่ โดยเกณฑ์ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม สังคมก็ยังคงมองเป็นสองมุม โดยมุมแรกเห็นว่ากฎหมายเกี่ยวกับเด็กของไทยที่มีอยู่ตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะให้มองภาพรวมตอนนี้ ไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กอยู่ 4 ตัว ได้แก่

“พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546, ประมวลกฎหมายอาญา (ม.73-76) และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

ซึ่งกฎหมายแต่ละตัว ก็ดูพร้อมที่จะทำงานสอดรับกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเด็ก ดังนั้นคำถามต่อมาคือ ‘ควรหรือไม่ ที่จะปรับแก้กฎหมายเด็ก’

ประเด็นดังกล่าวมีความเห็นจาก รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์  พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ‘การลงโทษเด็กมีอยู่สองแบบ คือ 1.วิธีการตาต่อตา ฟันต่อฟัน และ 2.วิธีการลงโทษเพื่อแก้ไขพฤติกรรม แต่การลงโทษแบบแก้ไขพฤติกรรมนั้นเป็นทางเลือก เพราะเชื่อว่า ไม่มีใครพกมีดพกปืนมาเกิด จึงควรให้โอกาสเด็กในการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรม

ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลมีอำนาจสั่ง 'มาตรการพิเศษ' ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดได้

แต่ส่วนตัวมองว่าในอนาคตอาจมีการปรับแก้กฎหมายเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบันเด็กโตเร็ว และกฎหมายที่อยู่อาจจะไม่เท่าทัน จึงควรพิจารณาปรับแก้กฎหมาย กล่าวคือ “ปรับปรุงเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง และต้องคำนึงถึง ‘เกณฑ์ของอายุเด็ก’ ที่สอดคล้องกับมาตรการสากล หรือ ‘พฤติการณ์แห่งคดี’ ในการก่ออาชณากรรมแต่ละครั้ง”


‘เด็กทำผิด’ เกิดจากอะไร โทษครอบครัวได้ไหม ใครคือผู้ร้ายที่แท้จริง

“การแก้กฎหมายไม่ช่วย ยิ่งการยกเลิกแล้วไปใช้กฎหมายแบบผู้ใหญ่ ยิ่งส่งผลกระทบต่อ กลุ่มเด็กเปราะบาง”

อาจารย์โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เเละรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด มองว่า วัตถุประสงค์ของกฎหมายเด็กและเยาวชน คือการมอบโอกาสให้เด็กสามารถกลับตัวกับใจได้ แต่หากแก้กฎหมายหรือยกเลิกไปเลย เด็กก็จะไม่มีโอกาสกลับเข้ามาสู่สังคม และจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาหนักขึ้น

วิธีการแก้ปัญหาคือ ต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว ต้องเลี้ยงลูกให้ดีงานตามมาตรฐานจริงๆ ไม่ใช่ดีที่สุดของคนเลี้ยง แต่ต้องดีตามมาตรฐานสังคม ขณะเดียวกันประชาชนก็ควรที่จะช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่อง เนื่องจากส่วนมากหากเกิดเหตุ ก็มักจะเกิดซ้ำ ๆ ในพื้นที่เดิม

“ถ้าประชาชนได้รับผลกระทบก็ต้องแจ้งตำรวจ และถ้ากลัวว่า คนทำผิดถูกจับไปแป๊บเดียวเดี๋ยวก็กลับออกมา ก็อย่าจะบอกว่าขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการทางกฎหมาย”


อาชญากรเด็ก รัฐต้องร่วมรับผิดชอบ

ขณะที่มีมุมมองเรื่อง ‘สถาบันครอบครัว’ ต่อความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาเด็ก ‘ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ’ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มธ. เสนอในวงสัมมนาวิชาการ ‘อาชญากรเด็กเป็นเองไม่ได้ : ใครต้องรับผิดชอบ’ ระบุว่า จริง ๆ แล้วพ่อแม่ก็มีส่วนในการกระทำความผิดของเด็ก เพราะถือว่าเป็นต้นตอของปัญหาและเป็นผู้สนับสนุน ที่ผ่านมาในหลายประเทศที่มีการออกกฎหมายลงโทษพ่อแม่ แต่ก็ยังไม่สามารถลดปัญหาเด็กทำความผิดลงได้ แล้วการแก้ปัญหาต้องเริ่มที่จุดไหน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 ระบุ บิดามารดาจะต้องเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ส่วนมาตรา 1567 และ 1571 ระบุถึงอำนาจของพ่อแม่ในการปกครอง และอีกหลายมาตราที่คอยพร่ำบอกว่า “พ่อแม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลลูก เพราะมีความใกล้ชิดและมีอำนาจการปกครอง ถ้าไม่ทำหน้าที่ก็อาจจะได้รับผลร้าย คือการถอนอำนาจการปกครองและให้คนอื่นมาดูแล”

กฎหมายเหล่านี้คือสิ่งรัฐพยายามสร้างขึ้นมา เพื่อกำหนด ‘กรอบหน้าที่ของพ่อแม่’ ในการดูแลปกครองลูก คำถามคือบทบาทเหล่านี้เป็นของครอบครัวเพียงอย่างเดียวจริงหรือ แล้วรัฐมีหน้าที่ทำอะไร

“ที่ผ่านมารัฐทำหน้าที่สั่งอย่างเดียว สั่งว่าพ่อแม่ต้องทำตามกฎหมาย ต้องเลี้ยงลูกให้ดี ๆ แต่รัฐเองกลับไม่มีการสนับสนุนปัจจัยมารองรับความรับผิดชอบ ไม่สนับสนุนภาระการเลี้ยงลูกของพ่อแม่เท่าที่ควร”

ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏออกมาในตอนนี้คือ ‘คนไม่อยากมีลูก’ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนการเลี้ยงเด็ก

“ถ้าจะมองว่าใครจะต้องมารับผิดชอบอย่างเดียวมันก็คงไม่จบ ทุกส่วนจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ครอบครัวที่เข้มแข็งมีส่วนสำคัญ แต่ที่จะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างแรกเลย คือรัฐจะต้องจริงจังกับเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ผศ.ดร.เอมผกา กล่าว


การเพิ่มโทษ อาจทำให้เด็กเป็นปีศาจมากกว่าเดิม?

“เมื่อเด็กทำผิด แล้วจะลงโทษพ่อแม่อย่างเดียว แต่ไม่มีแรงสนับสนุนจากภาครัฐเลย นี่คือระเบิดเวลาลูกใหม่”

ความเห็นจาก ‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการ บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงกรณี ‘การเอาผิดกับพ่อแม่’ ที่ปล่อยปละละเลยให้ลูกไปกระทำผิด โดยมองว่าอาจไม่ตอบโจทย์ หากปราศจากระบบสนับสนุนที่มีคุณภาพจากภาครัฐ ที่จับต้องได้และมีคุณภาพ เพราะนั่นคือการโยนภาระให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่อาจจะเกินการรับมือ และอาจเป็นระเบิดเวลาในบ้าน เพราะมีความหวัง ความกลัวที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือจะต้องได้รับการสนับสนุนเอ็มเพาเวอร์เมนท์จากภาครัฐจากราชการหรือภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง

ภาระความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของพ่อแม่ อาจเป็นการสร้างความกดดัน และเพิ่มหลุมดำให้กับเด็ก เมื่อบ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัย เด็กก็ถูกขับให้ไปเจอกับระบบนิเวศทางสังคม ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

‘ป้ามล’ ย้ำหนักแน่นว่า “ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร” ทุกคนมีที่มาที่ไป และเชื่ออย่างยิ่งว่าสาเหตุที่เด็กทำย่อมมีแรงกระตุ้นมาจากปัจจัยแวดล้อม และสิ่งที่มีส่วนสำคัญที่สุดคือครอบครัว

ดังนั้นการกระโจนไปบอกว่า “เด็กทำผิดร้อยเปอร์เซ็นต์” หรือบอกว่า “ต้องทำกฎหมายเด็กให้รุนแรงขึ้น” เหล่านี้เป็นความล้มเหลวของระบบนโยบาย เพราะหลุดจากความคิดเรื่องการเฝ้าระวัง และการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ยิ่งจะทำให้ไม่ได้เขากลับคืนมา และเขายิ่งอาจจะกลายเป็นปีศาจมากกว่าเดิมได้

มุมมองจากผู้อำนวยการบ้านกาญจนามองว่า การแก้ไขเรื่องนี้ให้ดีที่สุดคือ ‘การโอบกอด’ และดูว่าเด็กบาดเจ็บที่ตรงไหน แล้วรักษาให้ถูกที่ ให้ดีที่สุด เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น เราต้องเพิ่มวินัยเชิงบวก ใช้วิธีการมีอำนาจร่วมกับเด็ก ปฏิเสธอำนาจแนวดิง และทำให้เด็กมีเพาเวอร์


‘อุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้’ แก้ไขได้ด้วยการสร้างความภูมิใจในตัวเด็ก

‘ป้ามล’ เล่าถึง ‘เด็กคนหนึ่ง’ ที่เข้ามาในบ้านกาญจนา และเผยถึงเรื่องราวในอดีตว่า “ครั้งแรกที่เขาลั่นไก ไม่มีคนตาย แต่มีคนปราบปลื้ม และภูมิใจในตัวเขา ดังนั้นครั้งที่สองที่ลั่นไก จะต้องมีคนตาย เพื่อให้คนเหล่านั้นภูมิใจในตัวเขามากขึ้น”

นี่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เด็กคนนี้ต้องการ คือการยอมรับ ต้องการการมีความหมาย และเมื่อย้อนมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา หลายเคสที่เด็กกระทำความผิด มีสาเหตุที่มาคล้าย ๆ กัน

คำถามคือ “ทำไมครอบครัวและโรงเรียน ไม่เรียนรู้ และทำให้เด็กเกิดความภูมิใจให้ได้ แต่กลับกลายเป็นอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้ ผู้ไร้ค่า”

และก่อนจะแก้กฎหมาย แก้อายุ-เพิ่มโทษเด็กก่ออาชญากรรม คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง มองเห็นปัญหานี้แล้วหรือยัง เพราะสิ่งที่ควรจะเป็นคือการที่โรงเรียน, คณะกรรมการคุ้มครองเด็กของจังหวัด, พม., รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จะต้องป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิน ๆ ไม่ปล่อยให้เด็กออกจากระบบ

“เพราะเมื่อใดที่ประตูโรงเรียนปิดใส่เด็ก ประตูคุกก็จะเปิดต้อนรับเด็ก” ป้ามล ทิ้งท่าย


คุณอาจสนใจ

Related News