สังคม

ผลตรวจสอบ “ไม่พบทุจริต” ปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อ แนะทบทวนวิธีจัดซื้อจัดจ้าง

โดย nicharee_m

24 ม.ค. 2566

292 views

คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้าง โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เผย ไม่พบว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการนอกเหนือจากขอบเขตงาน แต่เสนอให้ปรับปรุงกระบวนการ เพื่อลดงบประมาณ และทบทวนแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างเป็นแบบประกาศเชิญชวนทั่วไป

จากกรณีโครงการปรับปรุงป้ายชื่อ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ

โดยคณะกรรมการฯ ได้แบ่งการตรวจสอบเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง พบว่า รฟท. ไม่ได้ดำเนินการนอกเหนือจากขอบเขตงาน และเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิม ที่ รฟท.รายงานว่าได้ตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งติดตั้งไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่ามีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท.ของการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดย รฟท. อาจทบทวนเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และประหยัดงบประมาณของ รฟท.ให้ได้มากที่สุด เช่น ทบทวนรายละเอียดของวัสดุ เทคนิคที่ใช้ที่อาจทำให้การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และวิธีการจัดทำ และติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิม, ทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และจำนวนและเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง เสนอให้ใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบัน มาปรับปรุงเพื่อใช้ติดตั้งแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะยังอยู่ในสภาพดี และสามารถนำมาปรับปรุงเหมือนกับตัวอักษรใหม่ได้

ทบทวนค่างานออกแบบที่อาจต่ำลงกว่าเดิมได้ เนื่องจากเป็นงานที่ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งทบทวนงานเผื่อเลือก (Provisional Sum) ที่อาจสามารถปรับลดได้ อาทิ การทบทวนความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และอาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น

ประเด็นที่ 2) ความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงคณะกรรมการฯเห็นว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. แม้จะเป็นการใช้ดุลยพินิจตีความระเบียบกฎหมายในกรอบอำนาจหน้าที่โดยอาศัยเหตุและผลความจำเป็นตามที่เข้าใจ และ รฟท.ได้ชี้แจงมาข้างต้นไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ก็สมควรหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพัสดุกรมบัญชีกลางให้ชัดเจน

นอกจากนี้ รฟท. ควรศึกษาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม รอบคอบ และสอดคล้อง กับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 โดยอาจพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการของกฎหมาย ที่เห็นควรให้ใช้วิธีการพิจารณาเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง  ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน

นอกจากนี้ เห็นควรให้ รฟท. พิจารณาทบทวนตรวจสอบกระบวนการสืบราคาให้เกิดความครบถ้วนชัดเจน และดำเนินการให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางการประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลางเกี่ยวกับการขอจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ตามขั้นตอนต่อไป

รองปลัดกระทรวงคมนาคม แจ้งว่าได้รายงานผล การตรวจสอบไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ส่วนข้อเสนอแนะทั้งหมด จะถูกนำไปปฏิบัติตามหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการหรือบอร์ดของ รฟท.พิจารณา ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องรายงานมายังกระทรวงคมนาคมตามระเบียบอยู่แล้ว

ส่วนกรณี รฟท.กล่าวอ้างว่า เป็นเพราะกระทรวงคมนาคมกำหนดในระเบียบว่าต้อง “เร่งรัด” การดำเนินโครงการนั้น ชี้แจงว่า การระบุคำดังกล่าวในระเบียบโครงการ เป็นปกติของการกำหนดให้แผนการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐรวดเร็วเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ก็ต้องคำนึงถึงระยะเวลาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพด้วย


คุณอาจสนใจ

Related News