สังคม

กฎหมาย “ฉีดให้ฝ่อ” หยุดการคุกคามทางเพศได้จริงหรือไม่

โดย paweena_c

18 ส.ค. 2565

154 views

กฎหมาย “ฉีดให้ฝ่อ” หยุดการคุกคามทางเพศได้จริงหรือไม่

วุฒิสภา เพิ่งผ่านร่างกฎหมาย “ฉีดให้ฝ่อ” หรือที่เรียกว่า ร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ…  เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา


สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่อาจเกิดขึ้น ประกอบด้วย 4 มาตรการได้แก่ 1. แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด 2. มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ 3. มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และ 4. มาตรการคุมขังฉุกเฉิน


ซึ่งในส่วนของการ “ฉีดให้ฝ่อ” อยู่ในมาตรการส่วนแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด เป็นมาตรการทางการแพทย์ ในการให้ยากดฮอร์โมนเพศชายกับผู้กระทำผิด โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และอายุรศาสตร์อย่างน้อย 2 คน ทำการประเมิณ หากเห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้ และได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด จึงจะดำเนินตามมาตรการดังกล่าวได้


ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ผู้ที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เชื่อว่า การใช้หลักจิตวิทยา และแนวทางการแพทย์ เข้ามามีส่วนในการบังคับคดี จะสามารถป้องกัน ยับยั้งอารมณ์ ของผู้ต้องหาที่ได้กระทำผิดซ้ำได้ โดยได้ศึกษาแนวทางการลงโทษตามอาชญวิทยาของต่างประเทศ เช่นประเทศเกาหลี ที่มีการใช้กฎหมายดังกล่าว และสามารถลดการทำผิดซ้ำได้



"ฉีดให้ฝ่อ" ลดฮอร์โมน หนึ่งในวิธีรักษา หวังคุมพฤติกรรม

บางส่วนอาจมีคำถามว่า การฉีดให้ฝ่อดังกล่าว จะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขังหรือไม่ ประเด็นดังกล่าว ดร.พัชรินทร์ บอกว่า อยากให้มองว่าการฉีดเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา เนื่องจากผู้กระทำผิดบางคนก็เหมือนคนป่วย ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เพราะฮอร์โมนพุ่งพล่าน


มาตรการดังกล่าวที่ต้องได้รับความยินยอมจากนักโทษ ก็จะมีการเสนอเงือนไขแลกเปลี่ยน เช่นการบอกว่า เมื่อฉีดแล้ว ตัวนักโทษเองจะสามารถควบคุมตัวเองได้ และไม่กลับมาการทำซ้ำอีก หรือการเสนอว่าจะมีการลดโทษให้ และไม่ถูกคุมขังต่อ แต่สำหรับบางกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ให้ความร่วมมือในการฉีด ก็จะทำการพิจารณา และประเมิณมาตรการอย่างอื่น เช่นอาจจะคุมขังต่อหลังการพ้นโทษ หรือสามารถสั่งคุมขังฉุกเฉินหลังพ้นโทษได้


ในการฉีดให้ฝ่อ จะทำในผู้กระทำผิดที่พ้นโทษแล้ว และเตรียมออกสู่สังคม แต่มีแนวโน้มว่ายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงฉีดฮอร์โมนเพื่อยับยั้งความต้องการทางเพศ เพื่อไม่ให้ออกมาข่มขืนซ้ำ จะฉีดทุก 3 เดือน ไม่ใช้การฉีดให้ฝ่อแบบถาวร ซึ่งเดิมที่ไม่มีกฎหมายฉบับนี้ เมื่อพ้นโทษไปรัฐจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้


“นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ และมาตรการดังกล่าวไม่ถือว่าสุดโต่ง แต่เป็นการพยายามสร้างสมดุล โดยถามความสมัครใจของผู้ต้องขังแลกเปลี่ยนกับการลดโทษ และอยากให้มองในมุมที่ว่า สิทธิของคนที่จะอยู่อย่างปลอดภัยในสังคม จึงควรหยุดสิทธิของคนที่จะละเมิดสิทธิของคนอื่น”ดร.พัชรินทร์ กล่าว



เร่งผลักดันกฎหมาย สร้างความปลอดภัยให้สังคม


สอดคล้องกับความเห็นจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นกระทรวงที่ดูเรื่องการบังคับใช้ มองว่า การทำตามพรบ.ดังกล่าวนี้ จะเป็นการล็อก และควบคุมนักโทษกลุ่มนี้ ในกรณีที่พ้นโทษออกมา และเป็นไปเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม โดยกระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว แล้วจะเสนอเป็นข้อกฎหมายต่อไป


และจากเหตุการณ์ฆ่าข่มขืนในอดีต ตั้งแต่กรณี ‘สมคิด พุ่มพวง’ หรือ ‘ไอซ์ หีบเหล็ก’ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ กระทรวงยุติธรรม อยากเร่งให้กฎหมายดังกล่าวแล้วเสร็จ


ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวว่า เมื่อกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมคือ การที่สังคมคอยเป็นหูเป็นตา เช่นเมื่อผู้พ้นโทษไปอยู่ในพื้นที่ใด ก็ให้ประชาชนแจ้งไปยังฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่ เพื่อช่วยกันเฝ้าระวัง หรือมีการใส่กำไลอีเอ็ม เพื่อติดตามระบุตำแหน่ง และให้กรมราชทัณฑ์แจ้งชุมชน หรือกำหนดพื้นที่สำหรับผู้กระทำผิดที่พ้นโทษดังกล่าว


“มั่นใจเหลือเกินว่า กฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์แก่สังคมจริง ๆ เมื่อเราได้กฎหมายฉบับนี้มา จากนี้ คดีฆาตกรต่อเนื่อง คดีข่มขืนแล้วฆ่า จะต้องถูกควบคุม และสังคมจะปลอดภัยมากขึ้น” ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าว



แพทย์มองต่าง แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

ขณะเดียวกัน มุมมองจากแพทย์กลับสวนทางกัน โดยมองว่า การฉีดให้ฝ่อ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพื่อลดการเกิดเหตุคุกคามทางเพศซ้ำได้ กลับกัน การกระทำดังกล่าว ยิ่งเป็นการสร้างปมในใจ แล้วยิ่งส่งเสริมให้เกิดการก่อเหตุซ้ำได้อีก


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า การลงโทษ คือการทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม แต่การฉีดให้ไข่ฝ่อเพื่อลดฮอร์โมน แล้วหวังว่า เมื่อปล่อยออกมาจะไม่ก่อเหตุซ้ำเพราะฮอร์โมนหายไป จึงไม่ใช่คำตอบ เพราะหากผู้กระทำไม่ทำร้ายทางเพศ เขาก็สามารถทำร้ายทางอื่นได้


สิ่งที่ทำให้เกิดการกระทำคือแรงจูงใจ การแก้ปัญหา จึงต้องย้อนดูภูมิหลัง สภาพแวดล้อม สังคม ที่ผู้กระทำผิดนั้นเติบโตขึ้นมาประกอบด้วย


“กระบวนการเมื่อถูกคุมขัง จะต้องมีมาตรการเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจัง ดูแลสภาพจิตใจ ก่อนปล่อยออกมา เพราะล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเพศอย่างเดียว การบำบัดทางจิตและพฤติกรรม สำหรับคนที่ถูกจับเข้าไปในเรือนจำ ก็เป็นสิ่งสำคัญ”



"ฉีดให้ฝ่อ" ยิ่งมีปมยิ่งก่อเหตุ?

นายแพทย์อดิศักดิ์ มองว่า การฉีดให้ไข่ฝ่อ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เหมือนการทำร้ายคนด้วยกัน เป็นความรุนแรงที่ล้างด้วยความรุนแรง คำถามคือถ้าบอกว่า ลดฮอร์โมนแล้วจะไม่ก่อเหตุ แล้วที่ผ่านมาได้ตรวจหรือไม่ ว่าคนที่ก่อเหตุมีฮอร์โมนเพศสูงกว่าปกติ จึงควรมีการศึกษาผลว่า จริง ๆ แล้วการลดฮอร์โมนนั้นช่วยหรือไม่ เช่น ควรมีการวิจัยบ่งบอกว่า ปริมาณฮอร์โมนสูงเท่าไหร่ ที่จะมีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมทางเพศ หรือสามารถใช้ยาอื่นเพื่อลดฮอร์โมน แทนการฉีดไข่ฝ่อได้หรือไม่


“คนที่ไปล่วงละเมิดทางเพศคนอื่น มีปัจจัยจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภูมิหลัง เขาเติบโตมาอย่างไร ในวัยเด็กบางคนก็ถูกทำร้ายทางเพศมา แต่สุดท้ายกลับมาคิดว่าการก่อเหตุมีปัญหามาจากฮอร์โมนเพศสูง จึงฉีดให้ไข่ฝ่อ แบบนี้ ถ้าเขาก่อความผิดทางเพศไม่ได้ เขาก็ไปก่อความผิดทางอื่นแทน”



ข่มขืนให้ ประหาร-ขังลืม-ฉีดให้ฝ่อ เป็นความสะใจสังคม?

“เวลาใครโดนมันก็เสียใจทั้งนั้น เราโกรธแทน ไม่ชอบคนที่มาทำร้ายคนอื่น เพียงแต่ว่าวิธีการทั้งหมดคือ เราไม่อยากให้เขาออกมาทำร้ายคนอื่นอีก จึงต้องดูว่าความตั้งใจในวิธีการลงโทษนี้ มันได้แค่สะใจหรือเปล่า และเมื่อออกมาแล้ว เขายังสามารถทำร้ายคนอื่นได้อีกหรือไม่”


นายแพทย์อดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่า ความคาดหวังต่อคนที่กระทำผิดคือ เขาควรได้รับการเรียนรู้และบำบัดพฤติกรรม การที่มีเรือนจำ คือการมีความหวัง ที่จะทำให้ผู้กระทำผิดสำนึกผิด แล้วกลับออกมาสู่สังคม และไม่ทำในสิ่งที่เคยทำไป ซึ่งการที่จะหวังอย่างนั้นได้ จึงต้องมีกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการบำบัดพฤติกรรม และกระบวนการสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ ทั้งหมดนี้เพื่อทำความเข้าใจว่าผู้กระทำผิด ทำไปเพื่ออะไร เพราะอะไร แล้วออกมาใหม่จะอยู่อย่างไรในสังคม



เข้าใจภูมิหลัง บำบัดพฤติกรรม ก่อนปล่อยตัว

สังคมมนุษย์อยู่ร่วมกัน มีคำว่าสิทธิมนุษย์ มีการสร้างเรือนจำ ทั้งหมดอยู่บนความคาดหวังที่เชื่อว่า คนส่วนหนึ่งออกมา จะไม่ได้กลับเข้าไปอีกเพราะมีการเปลี่ยนพฤติกรรม แต่คนที่เปลี่ยนพฤติกรรมได้ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนที่เข้าไปด้วยเรื่องบางอย่าง ซึ่งเขาไม่ได้มีพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงเดิมอยู่แล้ว แต่อาจจะด้วยอารมณ์โกรธชั่ววูบ แล้วเมื่อไปบำบัดพฤติกรรม ก็ประสบความสำเร็จออกมา แล้วเลิกพฤติกรรมเดิมแบบนี้ก็คงมี แต่ก็มีบางส่วน ที่เป็นการกระทำผิดโดยพฤติกรรมปกติของเขาเลย คนประเภทนี้เมื่อออกมาแล้ว ก็อาจกระทำซ้ำได้


“ฉะนั้นการแก้ปัญหาด้วยการฉีดให้ฝ่อ เท่ากับเราเพ่งเล็งเรื่องของการกระทำทางเพศไปที่ฮอร์โมนเพศอย่างเดียว ซึ่งไม่น่าใช่ ถ้าเราไม่ได้เข้าใจภูมิหลังเขา ไม่ได้แก้ไขด้วยกันบำบัดพฤติกรรมบำบัดจิตใจ ต่อให้ฉีดให้ฝ่อก็ไม่น่าช่วย และอาจจะเปลี่ยนรูปแบบการก่อความรุนแรงเมื่อออกมาสู่สังคมอีกครั้ง ดังนั้นจึงควรเน้นว่า มาตรการที่จะทำต่อไปนี้ ทำได้ดีและมีคุณภาพแค่ไหน ทั้งเรื่องการประเมินสุขภาพจิต การบำบัดพฤติกรรมเขาระหว่างถูกจับกุมขัง”



"ฉีดให้ฝ่อ" อาจไม่ช่วยลดพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ซ้ำมีค่าใช้จ่ายสูง

อีกมุมมองจากศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ นพ. กัมปนาท พรยศไกร แพทย์จาก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และแอดมินเพจ sarikahappyworld ได้แสดงความคิดเห็น และตั้งข้อสังเกตุเรื่องการฉีดให้ฝ่อว่า


หลายประเทศที่ใช้วิธีฉีดให้ฝ่อ พบว่าคดีข่มขืนลดลงเล็กน้อย แต่ถ้าเกิดแล้ว เหตุจะหนักกว่าเดิม คือสมมติจากเมื่อก่อนข่มขืนเสร็จก็แยกย้าย กลายเป็นข่มขืนเสร็จแล้วฆ่าปิดปากเลย เนื่องจากกลัวโดนจับได้ทีหลัง


คำถามต่อมาคือ แล้วถ้าเกิดจับแพะล่ะ เนื่องจากระบบยุติธรรมไทยเอง ก็ยังเป็นที่คาใจในหลาย ๆ เรื่อง และถ้าหากคนที่โดนดันเป็นแพะขึ้นมา ถ้าตัดไข่ไปแล้วมารู้ที่หลังว่าเป็นแพะ แล้วจะเอาที่ไหนมาคืน


สุดท้ายใครจ่าย? นี่เป็นอีกปัญหา เช่นที่อังกฤษก็มีคนตั้งคำถามว่าคุ้มไหม กับการต้องเอาภาษีปีละเป็นแสนมาจ่ายเป็นค่ายากดฮอร์โมนให้ผู้ต้องหา 1 คน ในขณะที่คนไข้มะเร็งต่อมลูกหมาก 30 บาทยังเบิกยาตัวนี้ไม่ได้ด้วยซ้ำ


นพ. กัมปนาท มองว่าการกำจัดฮอร์โมนเพศชาย อาจไม่ช่วยลดพฤติกรรมคุกคามทางเพศได้ เนื่องจากปัจจุบันก็มีกรณีที่ผู้หญิงก่อคดี ทั้งที่ไม่มีฮอร์โมนเพศ สุดท้ายในความเห็นส่วนตัว ก็มองว่าเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรใช้เฉพาะในรายที่เกิดซ้ำซากจริง ๆ และสู้คดีกันถึงที่สุดจนมั่นใจได้ว่าไม่ใช่แพะแน่แล้ว และก็ควรผ่าตัดแบบทีเดียวจบ ไม่ต้องมาฉีดยาทุก 3 เดือน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง



อำนาจที่เหนือกว่า-อำนาจชายเป็นใหญ่ คือรากของปัญหาข่มขืน

ปัญหาการล่วงละเมิด เริ่มมีตั้งแต่ครอบครัว เช่น กรณีความเป็นพ่อที่มีอำนาจเหนือกว่าลูก เกิดกรณีพ่อข่มขืนลูก หรือญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว กระทำกับเด็กหรือคนที่ไม่มีอำนาจ ต่อมาในโรงเรียน ก็มีกรณีครูข่มขืนเด็ก และกรณีในที่ทำงาน ที่ผู้กระทำเป็นหัวหน้า ใช้อำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ ความน่าเชื่อถือ มาใช้ข่มขืนผู้หญิง หรือคนใกล้ชิด ปัญหาเหล่านี้ ล้วนมาจากเรื่องของ “อำนาจเหนือกว่าและชายเป็นใหญ่”



จะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สังคมชายเป็นใหญ่ ปลูกฝังให้ผู้ชายมองเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่ต้องควบคุมอะไร ไม่คิดเรื่องการยับยั้งชั่งใจ เมื่อมีความรู้สึกทางเพศ ก็ใช้อำนาจที่มีกระทำ สิ่งนี้เป็นรากปัญหาหลักที่มาจากการบ่มเพาะของครอบครัว ที่บ่มเพาะว่าผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้าน ผู้ชายเป็นผู้นำ ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง


ลำดับต่อมา คือระบบการศึกษา ที่มีหลักสูตรล้าหลัง และกดทับผู้หญิงทั้งเนื้อหาและรูปภาพ และสุดท้ายคือสื่อละคร ที่แสดงบทบาทของผู้หญิงที่ไม่ดี เป็นฉากข่มขืน หรือแม้กระทั่งโฆษณาที่นำเสนอบทบาทผู้หญิงเป็นแม่บ้าน


นี่คือรากปัญหาใหญ่นำมาสู่เวลาผู้หญิงถูกข่มขืนจะมาจากการใช้อำนาจเหนือกว่า และแน่นอนว่าการข่มขืนไม่ใช่อยู่แค่ระหว่างหญิงชาย มันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น กลุ่ม LGBTQ+ ก็ถูกข่มขืนคุกคาม กรณีผู้ชายด้วยกันข่มขืนผู้ชายด้วยกันก็มี กลุ่มเพศหลากหลายต่าง ๆ ก็ถูกกระทำข่มขืนไม่น้อย


ฉะนั้นเวลาแก้ปัญหา จะใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะรากปัญหาเหล่านี้ มีความซับซ้อน



การใช้วิทยาศาสตร์ ยับยั้งฮอร์โมนทางเพศ ไม่ใช่คำตอบแก้ปัญหา

จะเด็ด เชาวน์วิไล ยกตัวอย่างว่า ในบางประเทศที่มีการใช้ “การฉีดให้ฝ่อ” เพื่อยับยั้งฮอร์โมนทางเพศ สุดท้ายก็ไม่ได้ผล เพราะถ้าไม่ได้ไปปรับเปลี่ยนวิธีคิด ตั้งแต่การปรับตัวในครอบครัว การบ่มเพาะระบบการศึกษา รวมทั้งสื่อต่าง ๆ และบทบาทผู้หญิง ปัญหาก็ไม่มีทางแก้ได้แน่นอน และปัญหาต่าง ๆ มาจากเรื่องความคิด


การแก้ปัญหา โดยใช้วิธีการลดฮอร์โมนทางเพศ ยับยั้งไว้ชั่วคราว อาจช่วยได้แค่ระยะสั้น แต่หากในระยะยาว ไม่มีการเปลี่ยนวิธีคิดหรือปรับทัศนคติ ก็เป็นไปได้ที่เขาอาจจะก่อเหตุอีก เพราะแม้ว่าไม่มีฮอร์โมนทางเพศ ก็อาจจะใช้อำนาจทางด้านจิตใจและความรู้สึกกระทำได้


“การฉีดให้ฝ่อ ก็เหมือนมองมนุษย์ว่าเปลี่ยนไม่ได้ ถ้ามองว่ามนุษย์เปลี่ยนได้ มันจะไม่ใช่เฉพาะเรื่องการใช้ฮอร์โมน แต่เพราะมองว่าเปลี่ยนไม่ได้ จึงต้องฆ่าทิ้ง ยิงเป้าประหาร ฉีดให้ฝ่อ ทำร้ายความรู้สึกเขา และการฉีดให้ฝ่อ ถ้าหากวันหนึ่งยาหมดฤทธิ์ แล้วกลับมามีความรู้สึกทางเพศ เขาก็ทำเหมือนเดิม เราจึงควรมองถึง การปรับวิธีคิด หรือเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมมากกว่า” จะเด็ด เชาวน์วิไล กล่าว



สร้างการเรียนรู้ มอบความคิด ยอมรับสิ่งผิด เคารพความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม

เขายกตัวอย่าง “บ้านกาญจนา” ที่รับเด็ก และเยาวชนที่ เคยข่มขืนและคุกคามทางเพศผู้อื่น เข้ามาบำบัดรักษา ให้เรียนรู้กับสิ่งที่ทำ และยอมรับว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งเด็กเหล่านั้นเล่าให้ฟังว่า พวกเขาเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว เพราะบ้านกาญจนาทำให้เขารู้สึกว่าเขาต้องเคารพความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน มองผู้หญิงแบบให้เกียรติมีศักดิ์ศรีเท่ากับเขา ที่เขาจะกระทำแบบที่เคยไม่ได้


เขาชวนตั้งคำถามว่า ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ทำแบบนี้ให้เยอะขึ้น เพราะบ้านกาญจนาก็เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงยุติธรรม แล้วทำไมไม่เอาต้นแบบตามนี้ ทำแบบนี้ให้เยอะขึ้น ซึ่งมองว่าจะได้ผลมากกว่า


“สำนึกผิดด้วยกระบวนการเรียนรู้ การให้ความคิด ให้เขาได้เข้าใจว่า อันนี้เป็นเรื่องของการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะคนที่เข้าไปในบ้านกาญจนา เขาถูกมองว่าตัวเองไม่เป็นมนุษย์อยู่แล้ว แล้วสิ่งที่เขาทำกับผู้หญิง มันเป็นการที่เขารู้สึกว่า เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ เมื่อเขาได้เรียนรู้แล้วเขาก็เปลี่ยน ซึ่งกระบวนการตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ”



กฎหมายข่มขืน คำนิยามที่ผิดเพี้ยน

เมื่อก่อนคำนิยามกฎหมายข่มขืนพูดถึง สิ่งอื่นใดเข้าไปสอดใส่ในอวัยวะเพศถือว่าข่มขืนหมด กลับกลายเป็นแก้ว่า "ต้องเป็นอวัยวะเพศชายเท่านั้น ที่ถือว่าเป็นการข่มขืน" ที่ผ่านมา มูลนิธิรับเคสมีการใช้นิ้ว ใช้สิ่งของอื่น ๆ กระทำ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการข่มขืน นี่เป็นปัญหาใหญ่ ที่ถ้ากฎหมายยังล้าหลังอยู่ ก็จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ยิ่งปัจจุบัน การข่มขืนมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ในสังคมที่มีความหลากหลาย แบบนี้กฎหมายก็ยิ่งต้องตามให้ทัน นี้คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทย


“จึงตั้งคำถามว่า มีกฎหมายที่ล้าหลังทำไมไม่คิดจะแก้ สิ่งที่ควรต้องทำเลยคือ กฎหมายข่มขืนกับคุกคามทางเพศต้องได้รับการปฏิรูป เช่น ตอนนี้การคุกคามทางเพศ การใช้สายตา วาจา หรือการใช้โซเชียลมีเดียคุกคาม มันไม่มีอยู่ในกฎหมายอาญา เลยเอาผิดคนพวกนี้ไม่ได้”



พูดถึงรากปัญหา สร้างการรับรู้ให้ประชาชน สร้างความเข้าใจให้สังคม

ถ้าพูดถึงรากปัญหามาก ๆ ให้ประชาชนได้รู้ เชื่อว่าประชาชนเอง ก็ไม่ได้คิดว่าการแก้ปัญหาแบบนี้ มันจะแก้ได้แน่นอน ถ้าเราไม่พูดถึงปัญหาแบบนี้ คนกลุ่มนึงก็อาจจะคิดเรื่องการแก้ปัญหาแค่เฉพาะหน้า พอเกิดการข่มขืน ทุกคนก็จะพุ่งไปที่ว่า ให้ประหารชีวิต ให้ตัดไข่ ซึ่งมันก็ทำให้สังคมไม่ได้เรียนรู้ และจะเอาตามกระแสอย่างเดียว


“ผมเชื่อว่าสังคมมีความรู้สึก แน่นอนว่าถ้ามีความโกรธแค้นมันก็จะมีแต่ความรุนแรง เราเห็นใจผู้หญิงที่ถูกกระทำ การลงโทษต้องมี แต่การลงโทษนั้นมันจะนำไปสู่การที่สังคมได้เรียนรู้อย่างไร”


การเปลี่ยนแปลงเรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา ใช่ว่าประหารคนแล้วสังคมจะเปลี่ยนได้มันไม่มีทาง หลายประเทศประหารชีวิต แต่สถิติข่มขืนก็ไม่ได้ลด ทั้งหมดเพราะปัญหาแบบนี้มันสะสมอยู่ในสังคมมานาน การบ่มเพาะในครอบครัว และระบบการศึกษา รวมทั้งสื่อต่างๆ เรื่องความเท่าเทียมทางเพศจึงสำคัญ ซึ่งมันจะสร้างให้เกิดการเคารพการในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม นี่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด


ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้เวลาแก้ไข เพราะสังคมไทยสะสมปัญหาระบบชายเป็นใหญ่มานานหลายปี แล้วจะมาแก้กันปีเดียว ด้วยการประหารชีวิตคนหรือการฉีดให้ฝ่อ เพียงแค่อยากสะใจแบบนี้คงแก้ปัญหาไม่ได้



คุณอาจสนใจ

Related News