สังคม
สำรวจพื้นที่สร้าง 'เขื่อนหลวงพระบาง' หลังหลายฝ่ายส่งเสียงสะท้อน หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม-เมืองมรดกโลก
โดย panwilai_c
19 พ.ย. 2567
28 views
ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนสภาของแม่น้ำโขงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หลังมีการสร้างเขื่อนในจีน และภัยพิบัติครั้งใหญ่ในภาคเหนือของไทยโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายในปีนี้ ทำให้มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในแม่น้ำโขง ซึ่งกำลังจะมีการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นใน สปป.ลาว ทางใต้ของแม่น้ำโขง ซึ่งเขื่อนล่าสุดที่กำลังมีการก่อสร้างคือเขื่อนหลวงพระบาง ที่มีบริษัทของไทยร่วมลงทุน วงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท และไทยรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ สัญญา 35 ปึ
ในขณะที่ยังมีข้อกังวลผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบกับเมืองมรดกโลก ข่าว 3 มิติได้เดินทางไปยังเมืองหลวงพระบาง พบว่ามีการก่อสร้างไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
แม่น้ำโขง ในเขต สปป.ลาว หลังผ่านช่วงหน้าฝน น้ำลดลงมาจนมองเห็นหาดทรายขาว ตลอดระยะทางที่มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวงพระบาง สองฝั่งที่มีหมู่บ้านจะมีการปลูกผักริมฝั่งโขง และที่พบว่าขณะนี้คือการร่อนทอง อยู่เป็นระยะ ก่อนที่เรือจะมาแล่นมาถึง บ้านห้วยโง เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบาง 25 กิโลเมตร จะเห็นพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ กลางลำน้ำโขง และสองฝั่ง ซึ่งที่นี่เป็นที่ตั้งของ โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ที่เริ่มก่อสร้างไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ขาล่องเข้าเมืองหลวงพระบาง กำลังมีการก่อสร้างสันเขื่อน ประตูน้ำ และช่องทางน้ำผ่าน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ต้องสร้างให้เสร็จ ก่อนจะสร้างโรงผลิตไฟฟ้าที่อยู่ทางฝั่งซ้าย ขณะเรือโดยสารที่แล่นผ่านจุดนี้จึงเห็นการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางได้อย่างชัดเจน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว หลังจากเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ทางตอนใต้ของเขื่อนหลวงพระบาง 130 กิโลเมตร
สำหรับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ได้เซ็นต์สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 เป็นเวลา 35 ปี นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไทยต้องสนใจการสร้างเขื่อนหลวงพระบางเพราะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่จะขายให้คนไทยยาวนานถึง 35 ปี
โครงการเขื่อนหลวงพระบาง เข้าสู่กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือ ล่วงหน้า (PNPCA) ของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่ รัฐบาลลาวได้แจ้งต่อสํานักงานเลขาธิการแม่น้ําโขง เมื่อปี 2562 ผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทหลวงพระบางพาวเวอร์จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือ
บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จากประเทศไทย ถือหุ้น 50% บริษัท พีที จำกัดผู้เดียว ของลาว ถือหุ้น 10.01% บริษัท ช.การช่าง จากประเทศไทย ถือหุ้น 20% และบริษัท Gulf Hydropower Holding จากสิงคโปร์ ถือหุ้น 19.99% ใช้เงินลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท เริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2563 คาดว่าจะสร้างเสร็จและเปิดขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการได้ในต้นปี 2573
เขื่อนหลวงพระบาง เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น (Run off River) สร้างกั้นแม่น้ำโขง จุดที่เห็นก่อสร้างอยู่นั้น เป็นตัวเขื่อนเป็นคอนกรีตแบบถ่วงน้ำหนัก (Concrete Gravity Dam) ยาว 861 เมตร ไม่มีการกักเก็บน้ำ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ ระดับกักเก็บ กักเก็บน้ําสูงสุด 312 ม.รทก ปริมาณน้ําในอ่าง 1,256 ล้านลบ.ม ระยะทางของภาวะน้ําเท้อ (Back water affected) 156 กิโลเมตร ต่อเนื่องไปจนถึงจุดก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบงในแขวงอุดมไซ ที่ห่างออกไป 170 กิโลเมตร
จุดที่กำลังก่อสร้างเป็นส่วนประตูน้ำ และช่องทางน้ำที่จะเปลี่ยนจากทางซ้ายที่เรือวิ่งอยู่นี้ ไปอยู่ทางฝั่งขวาแทน ซึ่งเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเดินเรือล่องแม่น้ำโขงของเรือโดยสาร และ เรือท่องเที่ยว ที่เป็นเส้นทางจากหลวงพระบางไปยังอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายของไทยด้วย
เขื่อนหลวงพระบางแม้จะเริ่มก่อสร้างไปแล้ว แต่ยังมีหลายประเด็นที่มีความเป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนประชาชนที่ต้องอพยพ 26 หมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งต้องกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ จำนวนประชากรกว่า 1 หมื่นคน โดยมีหมู่บ้านห้วยโง ที่อพยพไปแล้ว เพราะเป็นที่ตั้งของจุดสร้างเขื่อน
ส่วนประเด็นอื่นที่กระทบทั้งระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง ผลกระทบสิ่งแวดล้ม ทางผ่านปลา ทางเดินเรือ ที่พบปัญหามาแล้วจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนประเทศไทย มีส่วนสำคัญทั้งการปล่อยเงินกู้สิ้นเชื่อโครงการนี้โดยธนาคารพาณิชย์ของไทย ให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และหลักธุรกิจสิทธิมนุษยชนด้วย
ข้อกังวลสำคัญจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ที่ยังไม่มีการเปิดเผยรายงานผลกระทบต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ซึ่งความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก นอกจากการเที่ยวชมโบราณสถานในเมืองแล้ว การล่องเรือแม่น้ำโขง เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่ง รวมถึงการมาเที่ยวถ้ำติ่ง ถ้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมืองหลวงพระบาง ที่ตั้งอยู่ปากน้ำอู และมองเห็นที่ตั้งของเขื่อนหลวงพระบางได้จากจุดนี้
แท็กที่เกี่ยวข้อง หลวงพระบาง ,แม่น้ำโขง ,เขื่อนหลวงพระบาง ,สำรวจพื้นที่