สังคม

'ห้วยขาแข้ง' เดินหน้าเพิ่มประชากร 'เสือโคร่งอินโดจีน' หลังพบกว่า 100 ตัว

โดย nut_p

4 ส.ค. 2566

138 views

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นวันเสือโคร่งโลก ซึ่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประชากรเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีน อาศัยหากิน-กระจายอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ที่หนาเเน่นเเละพบเจอได้มากที่สุด ตามข้อมูลการสำรวจล่าสุดของ "กรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่าเเละพันธุ์พืช" อยู่ที่"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง" จ.อุทัยธานี ซึ่งมีมากกว่า 100 ตัว เเละมีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ อะไรคือปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนประชากร เเละการที่มีเสือโคร่งในธรรมชาติส่งผลดีอย่างไร ผู้สื่อข่าว 3 มิติ คุณสถาพร ด่านขุนทด ไปที่ห้วยขาเเข้ง มีรายละเอียดเเละข้อมูลที่น่าสนใจ รายงานจากพื้นที่



กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ โดยความร่วมมือของ "สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ" กับ"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง" เผยให้เห็นภาพเเละพฤติกรรมของเสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าอันดับ 1 บนห่วงโซ่อาหาร ผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์กีบ เช่น เก้ง กวาง กระทิง วัวเเดง ไม่ให้ล้นหรือมากเกินไปในระบบนิเวศ



ทีมข่าว 3 มิติ ลงพื้นที่ร่วมกับทีมวิจัย หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ เเละทีมพิทักษ์ป่า มุ่งหน้าไปยังจุดที่ชุด Smart Patrol หรือการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เคยพบร่องรอยของเสือโคร่ง



จากจุดจอดรถ เราต้องเดินเท้าลึกเข้าไปในป่า เเละพบว่าไม่ไกลจากถนน เริ่มปรากฏรอยตีนเสือขนาดใหญ่บริเวณธารน้ำ



กล้องอีก 2 ตัว ถูกนำมาตัวติดตั้งเพิ่ม ปรับระดับองศา เเละทิศทาง เพื่อนำไปวิเคราะห์ลวดลาย ระบุเพศ ขนาด อายุ ใช้ในงานวิจัยศึกษาพฤติกรรมเสือเเละสัตว์ป่าที่อาศัยหากินในเขตป่าอนุรักษ์



การประเมินครั้งล่าสุด จากกล้องดักถ่ายกว่า 1,200 จุดในพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 28 เเห่งทั่วประเทศ พบเสือโคร่งมากเกือบ 200 ตัว อัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะในเขตห้วยขาเเข้งเเละป่าฝั่งตะวันตก พบประชากรเสือโคร่งหนาเเน่นที่สุด ระหว่าง 103-131 ตัว เเละสายพันธุ์ที่มีการกระจายอยู่ในประเทศไทย คือ "เสือโคร่งอินโดจีน"



เสือโคร่ง เป็นตัวชี้วัดความบูรณ์ทางระบบนิเวศ เพราะการเพิ่มจำนวน เเสดงให้เห็นว่าในพื้นที่อนุรักษ์ มีสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อในห่วงโซ่อาหารเพิ่มมากขึ้น เเละการที่มีสัตว์ป่าเหล่านั้นเพิ่มขึ้น หมายความว่าผืนป่าเเห่งนั้น "อุดมสมบูรณ์"



ผู้พิทักษ์ป่าเเละทีมลาดตระเวนเชิงคุณภาพ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในภารกิจปกป้องดูเเลทรัพยากรของประเทศ โดยเฉพาะภัยคุกคามจากมนุษย์ มีหลายกรณีที่กลุ่มพรานป่า ถูกจับได้จากระบบเเจ้งเตือนจากกล้องดักถ่าย



สำหรับแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ. 2565-2577 ไทยมีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ หลายฝ่ายได้ร่วมกำหนดทิศทาง เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577

คุณอาจสนใจ

Related News