สังคม

'เสือโคร่งบะลาโกล' สิ้นฤทธิ์ จนท.จับตัวได้สำเร็จ นำไปดูแล-ติดปลอกคอ ก่อนปล่อยคืนสู่ป่า

โดย nattachat_c

20 ก.พ. 2567

12 views

จากกรณีเสือโคร่งหลุดออกจากป่า สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก และมีการทำแผนการจับกุมมาหลายวันแต่ยังจับไม่ได้


ล่าสุด กลางดึก เมื่อเวลา 21.50 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน ร่วมปฏิบัติการติดตามหาร่องรอยเสือโคร่ง โดยการปรับแนวทางปฏิบัติงาน ตลอดเวลาตามสถานการณ์ ตลอดเวลา 5 วัน


โดยให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน 50 นาย แบ่งกำลังคอยเฝ้าระวังทั้งในหมู่บ้าน และควบคุมพื้นที่ปิดล้อมป่ามะขาม และป่าไผ่ เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่


ส่วนคณะทำงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จ.อุทัยธานี ได้ร่วมกันตรวจสอบบริเวณที่ติดกับดักเอาไว้ แต่เสือโคร่งยังไม่ติดกับดักแต่อย่างใด


กระทั่งกลางดึกเวลาประมาณ 21.50 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ กล้อง camera trap จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) จับภาพเสือโคร่งเดินย้อนเส้นทางจากหลังวัดน้ำตก สำนักวิปัสนากรรมฐานน้ำตกคลองลาน เข้ามากินเหยื่อที่ทำการล่อไว้ แล้วติดกับดักที่ขา จากนั้น ทีมยิงยาสลบที่ซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ ได้ยิงยาสลบเข้าไป 1 เข็ม


ขณะที่ นายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รุดเข้าทำการวางยาสลบ และประสานเจ้าหน้าที่อุทยานที่อยู่รอบนอก รีบหามร่างเสือโคร่งนำออกมาจากป่า ตรวจสุขภาพแล้วนำเข้ากรงที่นำมารอไว้ อย่างรีบเร่ง เนื่องจากเกรงหมดฤทธิ์ยา


พร้อมกันนี้ ได้กันไม่ให้ถ่ายภาพ และบันทึกภาพ คุมผ้าดำปิดกรง ใส่รถปิกอัพของหน่วยงาน เร่งเดินทางไปที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เกรงว่าเมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วเสือโคร่งจะตื่นตระหนก


จากการตรวจสอบสุขภาพเสือโคร่ง เบื้องต้นอายุประมาณ 2 ปี ความยาวลำตัวประมาณ 1.50 เมตร สูงประมาณ 60 เซนติเมตร ร่างกายอ้วนขึ้นจากเดิม เพราะได้กินเหยื่อที่เป็นอาหารไปหลายวัน จากการประเมินสุขภาพแล้ว ไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต


ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) จะต้องนำไปดูแลฟื้นฟูบำรุงร่างกายเสือโคร่ง เพื่อดูแลก่อนติดปลอกคอวิทยุติดตามตัว เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเสือโคร่ง ก่อนทำการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งไปปล่อยสู่ป่าธรรมชาติต่อไป

----------------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/eZoWoahjLyw

คุณอาจสนใจ

Related News