สังคม

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ แนะรัฐปรับหลักเกณฑ์เอื้อนำเข้าถูกกฏหมาย หวังมองเป็นคนเท่ากัน

โดย pattraporn_a

13 มิ.ย. 2565

129 views

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ถอดบทเรียนการเข้าถึงสิทธิเยียวยาจากโรคระบาดโควิด ห่วงสถานการณ์หลังปลดล็อคเป็นโรคประจำถิ่น รัฐต้องปรับหลักเกณฑ์ให้เอื้อต่อการนำเข้าแรงงานถูกกฏหมาย


เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ถอดบทเรียน การเข้าถึงสิทธิเยียวยาจากโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งรัฐต้องปรับหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกัน รวมถึงการป้องกันการแพร่ระบาดที่ต้องเข้มงวดกับแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฏหมาย ท่ามกลางสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและการปรับให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น จึงต้องมีการปรับมาตรการให้เหมาะสม 


การจับกุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฏหมาย ยังคงมีอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชายแดนประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และยังทำให้แรงงานต่างด้าวตกเป็นจำเลยสังคมหากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทั้งๆที่ประเทศไทยกำลังปลดล็อคให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่สถานการณ์การขาดแคลงแรงงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กับหลักเกณฑ์การนำเข้าแรงงานกฏหมาย MOU ก็มีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลา ทำให้ยังมีการนำเข้าแรงงานผิดกฏหมาย กลายเป็นข้อห่วงใยสำคัญจากเวทีพูดคุย ถึงแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด


ซึ่งมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา พบว่า แรงงานข้ามชาติถูกมองว่าเป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดโควิดในช่วงที่ผ่านมา แต่กลับเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากรัฐไทย แม้จะมีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนถูกกฏหมาย การฉีดวัคซีน แต่การเยียวยา เช่นโครงการ ม.33 เรารักกัน ระบุให้เป็นคนไทยเท่านั้น รวมถึงการเยียวยากรณีว่างง่าน และเข้าไม่ถึงกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง


นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่าในส่วนแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฏหมาย เป็นผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม แต่โครงการ ม.33 เรารักกันเป็นการใช้เงินกู้จากรัฐบาล จึงให้สิทธิกับคนไทย โดยปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานใช้งบประมาณไปกว่า 7,000 ล้านบาท ในการเยียวยาแรงงานข้ามชาติ จึงขอให้เข้าระบบถูกต้อง


ขณะที่เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ และสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เห็นตรงกันว่าที่ผ่านมาแม้แรงงานข้ามชาติที่ได้เป็นผู้ประกันตน จะได้รับสิทธิแต่มีขั้นตอนที่ล่าช้า และเข้าถึงยาก จึงอยากเห็นการบูรณาการของหน่วยงานรัฐที่มองแรงงานต่างด้าวเป็นคนเท่ากัน ไม่เลือกปฏิบัติ และต้องตัดวงจรอุบาทว์ของการนำเข้าแรงงานผิดกฏหมาย


นอกจากนี้ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ยังเป็นห่วงเด็กข้ามชาติ ที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ที่เข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาตามไปด้วย รวมถึงต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก รัฐจึงต้องเห็นความสำคัญของกลุ่มนี้ด้วย


เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ยังมีข้อเสนอไปยังรัฐในการสนับสนุนบริการสุขภาพให้มีอาสามัครสุขภาพแรงงานข้ามชาติ หรือ อสต.อย่างทั่วถึง ทั้งในสถานประกอบการหรือชุมชน และการส่งเสริมให้มีแรงงานถูกกฏหมายได้เข้าถึงสิทธิการรักษาโรคระบาดด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News