สังคม

กมธ.กฎหมายฯ ถกหาทางออก "อุยกูร์ ถูกขังลืม 8 ปี" กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดย pattraporn_a

25 พ.ค. 2565

148 views

กรรมาธิการกฏหมาย เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง กรณีองค์รกรสิทธิมนุษยชน ร้องเรียน ชาวอุยกูร์ ถูกขังลืม 8 ปี ยอมรับเป็นปัญหาที่กระทบความมั่นคงและความสัมพนธ์ระหว่างประเทศ แต่รัฐต้องตระหนักถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย


คณะกรรมาธิการกฏหมายฯ ถกหาทางออก "อุยกูร์ ถูกขังลืม 8 ปี" ส่วนราชการไทย ยอมรับยังหาทางออกไม่ได้เพราะกระทบความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชน เห็นว่ายังมีช่องทางในการคุ้มครองชีวิตผู้ลี้ภัย ที่ต้องแยกออกจากปัญหาคนหลบหนีเข้าเมือง และกรณีชาวอุยกูร์ ใช้เวลายาวนานเกินไป จึงควรหาทางออกก่อนสายเกินไป


คณะกรรมาธิการกฏหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยนายชวลิต วิชยสุทธ์ รักษาการประธานฯ เชิญผู้เกี่ยวข้องชี้แจง กรณีที่ นายกัณวีร์ สืบแสง ประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ และ นายอิสม่าแอน​ หมัดอะด้ำ รองประธานสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี พร้อมองค์กรเครือข่ายกว่า 50 องค์กร จากกรณีชาวอุยกูร์ 60 คน ยังถูกกักขังในห้องกัก ตม. 17 แห่งทั่วประเทศ นานถึง 8 ปีแล้ว หลังถูกจับกุมที่ จ.สงขลา เมื่อปี 2557


โดยในปี 2558 ผู้หญิงและเด็ก 172 คน ถูกส่งไปยังประเทศตุรกี ขณะที่ผู้ชาย 109 คน ถูกส่งไปยังประเทศจีน โดยไม่รู้ชะตากรรม และไม่รู้ระยะเวลาว่าจะได้ออกจากห้องกักตัวเมื่อใด ทำให้ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1 คน กำลังเกิดปัญหาสุขภาพ และหลายคนเป็นโรคซึมเศร้า พวกเขาจึงควรได้รับรู้ว่าจะได้รับอิสรภาพเมื่อใด เพราะคดีหลบหนีเข้าเมืองสิ้นสุดและได้จ่ายค่าปรับไปแล้ว และควรรู้ว่าจะได้ส่งไปประเทศที่ 3 หรือไม่ เพราะไม่สมัครใจกลับไปยังเขตปกครองพิเศษซินเจียงของจีนที่เป็นประเทศต้นทางแน่นอน เมื่อไม่รู้เวลาเรื่องเร่งด่วน ควรให้พวกเขาได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่นการจัดหาที่กักที่ให้รวมกลุ่มกันมากขึ้นเพื่อลดภาวะความเครียด


นางอังคณา นีละไพจิตร อดีต กสม.ให้ความเห็นว่า การกักขังที่ยาวนานทำให้ชาวอุยกูร์ ที่ยังถูกกักขังอยู่ 60 คน มี 2 คน หลบหนีจึงถูกคุมขังในเรือนจำโทษ 10-12 ปี และมีคนถูกยิงเสียชีวิต การหาทางออกรัฐบาลไทยอาจนำร่างปฏิญญาความคืบหน้าในเวทีทบทวนการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ ที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะทางการไทยอ้างว่าคนที่ยังเหลืออยู่รัฐบาลจีนก็อ้างว่ามีความผิดทางอาญาร้ายแรง


นายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ชี้แจงว่า ประเด็นปัญหาชาวอุยกูร์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบทั้งกระทบความมั่นคง และความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ ทำให้ยังหาแนวทางไม่ได้ว่าจะส่งไปยังประเทศไหน


ขณะที่ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ชี้แจงว่า สมช.ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะต้องสร้างความสมดุล ระหว่างความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน สมช.ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ในระหว่างที่ยังต้องอยู่ไทย ส่งไปประเทศใดยังไม่ได้ ก็ยังต้องดุแลตามหลักการของ ตม. ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม หาทางออกในอนาคต


พล.ต.ต.อาซยน ไกรทอง รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตม. เปิดเผยว่า สตม.เป็นเพียงฝ่ายปฏิบัติ ที่ต้องทำการกฏหมาย ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ดูแลคนกลุ่มนี้ ตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงช่วงสถานการณ์โควิด มีแพทย์อาสา คอยคัดกรอง และทั้งหมดได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว แต่ในช่วงโควิดอาจงดกิจกรรมต่างๆ แต่ ตม.ก็มีสถานที่ให้ได้รับแสงแดดได้ และเชื่อว่าหากศูนย์ดูแลผู้ต้องกัก หรือ IDC ที่ของบประมาณไปแล้ว ก่อสร้างที่ คลอง 5 ปทุมธานีแล้วเสร็จ อีก 1-2 ปีก็จะมีสถานที่ในการบริหารจัดการได้มากขึ้น


ซึ่ง นายกัณวีร์ สืบแสง ประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ ขอบคุณหน่วยงานของไทย ที่ให้การดูแลชาวอุยกูร์ แต่เวลา 8 ปี ยาวนานเกินไปในทางมนุษยธรรม เพราะยังมีช่องทางทางกฏหมายที่สามารถหาทางออกได้


ทางด้าน นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ​ ในฐานะกรรมาธิการ ตั้งคำถามว่า ปัญหนี้จะจัดการอย่างไร และจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เพราะคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่ต่างจากเมื่อ 3 ปีก่อน


เช่นเดียวกับ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ เชื่อมั่นว่า ต้องมีวิธีการทางการทูตที่หาทางออกให้กับปัญหานี้ได้ ทั้งการหาประเทศที่ 3 ที่เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปอย่างไร้จุดหมาย

คุณอาจสนใจ

Related News