สังคม

กสม. เสนอรัฐฯแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยถูกขังลืม 10 ปี หลังชาวอุยกูร์ 2 คนเสียชีวิตในห้องกักตม.

โดย parichat_p

11 มี.ค. 2567

89 views

เรื่องราวชาวอุยกูร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ ข่าว 3 มิติ ได้นำเสนอข่าวพบชาวต่างชาติ กว่า 300 คนอยู่กลางป่าในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นชาวอุยกูร์ ที่ลี้ภัยมาจากเขตปกครองตนเองซินเจียง ประเทศจีน ซึ่งหลังจากนั้น ประมาณ 1 ปี มีการส่งผู้หญิงและเด็กไปยังประเทศตุรกี ส่วนผู้ชายถูกส่งกลับประเทศจีน ท่ามกลางการร้องเรียนว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และยังมีกว่า 50 คน ที่ถูกกักขังในห้องกักตรวจคนเข้าเมืองของไทย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 5 ราย


เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2557 ซึ่งกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 พบชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่งกลางสวนยางพารา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวนกว่า 300 คน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก บางรายเป็นหญิงตั้งครรภ์และเด็กทารก ซึ่งต่อมาพบว่าทั้งหมดเป็นชาวอุยกูร์ ที่ลี้ภัยมาจากเขตปกครองตนเองซินเจียง ประเทศจีน ทางตำรวจต้องจับกุมคนกลุ่มนี้ในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง และควบคุมตัวผู้ชายอยู่ในห้องกัก ทตม.ส่วนผู้หญิงและเด็ก ได้รับการคุ้มครองในบ้านพักเด็กสงขลา โดยทางการจีนได้มาแสดงตัวระบุว่าเป็นคนของประเทศตนเอง ที่ขอให้ไทยส่งกลับ


ขณะที่ชาวอุยกูร์ ได้ร้องเรียนต่อองค์กรระหว่างประเทศว่าต้องการลี้ภัยไปประเทศตุรกี โดยจากการสอบสวนพบว่าคนกลุ่มนี้ลี้ภัยจากประเทศจีน ผ่านมาทางเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ก่อนเข้ามายังประเทศไทย บริเวณชายแดนไทยที่จังหวัดสงขลาเพื่อไปยังประเทศมาเลเซีย และประเทศตุรกีต่อไป ซึ่งเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะมีการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ชาวอุยกูร์ ได้ร้องขอความเป็นธรรมจากหลายองค์กร จนกระทั่งในวันที่ 29 มิถุนายน 2558 มีการส่งตัวผู้หญิงและเด็กจำนวน 173 คน ไปยังประเทศตุรกี และต่อมาในวันที่ 9 กรกฏาคม 2558 รัฐบาลไทยในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ส่งตัวชาวอุยกูร์ผู้ชาย 109 คนไปยังประเทศจีน ท่ามกลางการท้วงติงของภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตรายขัดหลักการระหว่างประเทศ


ส่วนที่เหลือผู้ชายกว่า 50 คนยังถูกกักขังในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง กระจายไปหลายแห่งทั่วประเทศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีบางราย หลบหนีจากห้องกัก ทั้งที่หนีรอดไปได้และถูกจับกลับมา ทำให้หลงเหลือประมาณ 40 คน ในจำนวนนั้น มี 5 คน เสียชีวิตระหว่างการถูกกักขัง จนเป็นที่มาของการเรียกร้องให้ปล่อยตัวชาวอุยกูร์เหล่านี้ มาตลอดหลายปีที่ผ่านมาแต่ไม่สามารถทำได้ แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมา 4 รัฐบาลแล้ว


ชาวอุยกูร์ 5 รายที่เสียชีวิตระหว่างการถูกกักขังในห้องกัก ตม.ของไทย มี 2 รายที่ได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้รายงานผลการตรวจสอบไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล พร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาชาวอุยกูร์ที่ถูกขังลืมมา 10 ปีแล้ว ซึ่งไทยสามารถดำเนินการให้เสรีภาพชาวอุยกูร์ได้ตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้ความคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม


รายงานผลการตรวจสอบการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 2 รายในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู กรุงเทพมหานคร ซึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนเมษายน 2566 รายแรกอายุ 49 ปี รายที่สอง อายุ 40 ปี ซึ่งทั้งสองคนถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 หรือตั้งแต่อายุ 39 ปี และ 30 ปี โดยผู้ร้องขอให้ตรวจสอบว่า การเสียชีวิตของทั้งสองมาจากการถูกกักขังเป็นเวลานาน ไม่มีกำหนดระยะเวลา สภาพความเป็นอยู่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารไม่เพียงพอ และต้องอยู่ในห้องกักตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมเพียงพอหรือไม่


เนื่องจากก่อนจะเสียชีวิตในห้องกัก โดยรายแรกก่อนจะเสียชีวิตมีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยหอบ และขอส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลแต่ถูกปฏิเสธ ส่วนรายที่สองมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและอาเจียนในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิต ซึ่งรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยนแห่งชาติ หรือ กสม.เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่เสนอไปยังรัฐบาล พบว่าผลนิติเวชระบุว่ารายแรกเสียชีวิตจากภาวะปิดอักเสบจากการติดเชื้อ ส่วนรายที่สองเสียชีวิตจากระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตล้มเหลว โดยผลสอบไม่พบหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่า การเสียชีวิตของชาวอุยกูร์ทั้งสองราย เกิดขึ้นจากการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน


ซึ่งในรายงานของ กสม.ระบุว่า ผู้ต้องกักทั้งสองรายเสียชีวิตภายในวันเดียวกับที่แสดงอาการเจ็บป่วย ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลตำรวจระบุว่า เกิดจากภาวะผิดปกติของร่างกายและอาการป่วยที่รุนแรง ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่ายังมีข้อจำกัดในการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ต้องกักหลายประการ จึงมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงห้องกัก ตม.สวนพลูที่อาจจะทุดโทรม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ต้องกัก นอกจากนี้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ ถูกคุมขังแบบไม่มีกำหนดปล่อยตัวหรือส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรตามกฏหมายตรวจคนเข้าเมือง เพราะประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติกล่าวอ้าง แม้รัฐบาลระบุว่าจะแก้ปัญหามาโดยตลอดแต่ยังไม่มีแนวโน้มจะบรรลุผล และเวลาที่ยาวนานจึงส่งผลกระทบทั้งรายการและจิตใจ ในรายงาน กสม.จึงเห็นว่า การควบคุมตัวชาวอุยกูร์ไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลานาน ไม่มีกำหนดปล่อยตัวหรือส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรตามกฏหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน


กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า เวลา 10 ปียาวนานเกินไปต่อชะตากรรมชาวอุยกุร์ และรัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉยต่อการตายระหว่างการถูกคุมขัง เนื่องจากความผิดหลบหนีเข้าเมืองที่ไม่สามารถกักขังได้ยาวนานขนาดนี้


รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอไปยัง นายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานของสหประชาชาติในไทย ที่ต้องเร่งคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของชาวอุยกูร์ที่ร้องขอไปยังประเทศที่ 3 หรือมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ซึ่งเสนอให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับจากเดือนตุลาคม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

คุณอาจสนใจ

Related News