สังคม

'ใหลตาย' ภัยเงียบที่เกิดได้กับทุกคน แพทย์เผย พบมากสุดในพันธุกรรมคนอีสาน

โดย panwilai_c

25 มี.ค. 2565

257 views

Brugada syndrome หรือ โรคใหลตาย กลายเป็นภัยเงียบในปัจจุบัน และมักปรากฏผ่านข่าวสารต่างๆ รวมทั้งกรณีล่าสุด เช่น การเสียชีวิตของ นายปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ หรือ บีม ดารานักแสดงวัย 25 ปี ที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวขณะหลับ โดยผลวิจัยจากคณะแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุคนไทย 1 ใน 200 คน มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคนี้ โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเป็นอาการที่ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่ก็สามารถป้องกันได้หากตรวจพบเจอเร็ว



นายแพทย์รณพิชัย โชคสุวัฒนสกุล หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิจัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 1 ในทีมวิจัยโรค Brugada syndrome หรือ โรคไหลตาย ได้อธิบายกระบวนการเกิดภาวะของโรคดังกล่าว ให้กับข่าว 3 มิติ



อาการนี้เกิดจากจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นระรัว หรือ พริ้ว โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพังผืดที่ห่อหุ้มหัวใจส่วนขวา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ



นพ.รณพิชัย โชคสุวัฒนสกุล หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิจัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หัวหน้าศูนย์ เล่าว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาโรคใหลตายมาตั้งแต่ปี 2540



โดยมี ศ. นพ. กุลวี เนตรมณี และคณะได้ศึกษาผู้ป่วยไทยจำนวน 27 คนที่รอดชีวิตจากอาการ ซึ่งเข้าได้กับภาวะใหลตาย ปรากฏว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเชื้อสายเป็นชาวอีสาน หรือ มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอัตราส่วนถึง 16 ใน 27 คน หรือ กว่า 59% โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เหมือนกับกลุ่มอาการ Brugada syndrome



ขณะเดียวกันก็ศึกษาพันธุกรรมของโรค ภายหลังได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ ว.ช. ในกลุ่มผู้ป่วย 239 คน และ กลุ่มตัวอย่างควบคุม 478 คน ด้วยวิธีถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมด หรือ whole genome sequencing ปรากฏว่า มีกลุ่มตัวอย่างประมาณ 15% ที่มีความเกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ในยีน SCN5A ซึ่งพบได้ค่อนข้างบ่อยในประชากรไทยอัตราส่วน 1 ใน 200 คน โดยเฉพาะเพศชาย อายุระหว่าง 25-45 ปี แต่นั่นก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยหลักต่อการเกิดโรคนี้



ปัจจุบันโรคใหลตาย Brugada syndrome สามารถรักษาได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ด้วยการใส่เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ



แต่แพทย์ก็เตือนว่าทุกคนมีโอกาสป่วยเป็นโรคดังกล่าวได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจวัดคลื่นหัวใจ เพื่อดูความผิดปกติ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุจากโรค Brugada syndrome หรือ โรคใหลตาย

คุณอาจสนใจ