สังคม
ศบค.เผยคนไทย 11 ล้านคน ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 / พบผู้ติดเชื้อผู้เข้าประเทศเพียง 74
โดย pattraporn_a
17 พ.ย. 2564
54 views
รายงานสถานการณ์โควิด 19 ของประเทศไทยหลังเปิดประเทศเกินกว่าครึ่งเดือนมีผู้เดินทางเข้าประเทศแล้วกว่า 58,000 คน โดยพบผู้ติดเชื้อ 74 คนเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.13% เท่านั้น
ขณะเดียวกันศบค.ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดพบคนไทยยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกกว่า 11 ล้านคน โดยมีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเพียงครึ่งเดียวของประชากรทั้งประเทศ ด้านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไทยไม่ตกขบวนเรื่องยารักษาโควิด19 แพกซ์โลวิด ของบริษัทไฟเซอร์ โดยได้เตรียมสำรองยาและเวชภัณฑ์ไว้อย่างเพียงพอแล้ว
ศบค. รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,524 คน ติดเชื้อทั่วไป 6,131 คน จากเรือนจำ 393 คน รวมสะสม 2,037,224 คนเสียชีวิตเพิ่ม 56 คน สะสม 20,199 คน
ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเพิ่ม 659,381 คน เป็นเข็มที่ 1 สะสม 63.4 % เข็มที่ 2 สะสม 52.1 % และเข็มที่ 3 สะสม 3.49% โดยเป้าหมายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จะต้องมีประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรกครอบคุลมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 70%
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค รายงานว่า เมื่อทำการสำรวจ พบอัตราการฉีดเข็มที่ 1 น้อยกว่าเข็มที่ 2 เกือบครึ่ง เป็นเข็มที่ 1 สองแสนกว่าโดส เข็มที่ 2 สี่แสนกว่าโดส เมื่อไปสำรวจพบว่า ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลยอีกประมาณ 11 ล้านคน จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ช่วยกันเร่งรัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆให้มากขึ้น
ขณะที่ความคืบหน้าผลการเปิดประเทศว่า ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน ระบุว่า วันนี้มีผู้ที่เข้ามาในประเทศทั้งหมด 3,931 คน เป็นการเดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2,896 คน, สนามบินดอนเมือง 9 คน, สนามบินภูเก็ต 938 คน และสนามบินสมุย 88 คน
ยอดผู้เดินทางเข้าประเทศไทยแต่วันที่ 1-16 พ.ย. รวมสะสม 58,870 คน พบผู้ติดเชื้อที่รวม 74 คน คิดเป็นผู้ติดเชื้อทั้งหมด 0.13% โดยประเทศที่เข้าไทยมากที่สุดยังเป็นสหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และรัสเซีย
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล ยืนยันไทยไม่ตกขบวนยาแพกซ์โลวิด รักษาผู้ป่วยโควิด 19
ส่วนกรณีที่บริษัทไฟเซอร์ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแพกซ์โลวิด สำหรับรักษาอาการผู้ป่วยโควิด 19 ให้กับ 95 ประเทศ แต่ไม่มีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประเทศไทยตกขบวนอีกหรือไม่
โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การที่แต่ละประเทศจะได้รับการคัดเลือก ให้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยานั้น บริษัทผู้ผลิตจะมีเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผู้ผลิตยา โดยเราไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ขอให้ความมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผน จัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด19 ไว้แล้ว
ส่วน "ยาฟาวิพิลาเวีย" ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ก็มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควด19 ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นการมีแผนจัดซื้อยาชนิดอื่นเพิ่มเติม เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือยาแพกซ์โลวิด เป็นการแสดงให้เห็น ถึงการความพร้อมเตรียมรับมือ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลือกยาเหล่านั้น มาเป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วย อาจจัดไว้เป็นยาเสริม เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็น และที่สำคัญ ผู้ผลิตยาแพกซ์โลวิด ยังไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย