สังคม

โควิดหลังสงกรานต์ ป่วยเพิ่มขึ้นเท่าตัว เตือนคอนเสิร์ต-ปาร์ตี้-รื่นเริง อย่าการ์ดตก

โดย thichaphat_d

25 เม.ย. 2566

21 views

วานนี้ (24 เม.ย.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 16- 22 เมษายน พบมี ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 1,088 ราย เฉลี่ยรายวัน 155 ราย/วัน (เดิม 435 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 62 ราย/วัน )

ส่วนผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 5 ราย เฉลี่ย 1 รายต่อวัน (เดิม 2 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 0 ราย/วัน) ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบ 73 ราย (เดิม 30 ราย ) และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 35 ราย (เดิม 19 ราย)

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ภายในประเทศรายสัปดาห์ พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 16-22 เม.ย.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,088 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 73 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 35 ราย และผู้เสียชีวิต 5 ราย เฉลี่ยน้อยกว่า 1 คนต่อวัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนกว่า 2 เท่า พบกระจายในหลายจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพ ฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น

ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัว และการร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย พบว่าเป็นกลุ่ม 608 อายุเฉลี่ย 75 ปี โดย 4 รายที่เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน และอีก 1 ราย ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง ดังนั้น การฉีดวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จึงยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้

ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้เช่นกัน โดยติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน นอกจากนี้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และหากติดเชื้อโควิด 19 ให้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล ซึ่งได้จัดเตรียมยาและวัคซีนไว้ให้บริการอย่างเพียงพอ

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับคำแนะนำแนวทางการฉีดใหม่ให้เป็นการฉีดวัคซีนโควิดประจำปี จึงขอให้ประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปีก่อนเข้าฤดูฝนซึ่งจะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก โดยฉีดปีละ 1 เข็ม สามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ โดยให้ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน และไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด ที่สำคัญสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้มีการจัดเตรียมวัคซีนโควิด 19 ให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย

โดยสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้  สามารถรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กทม. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ด้านนายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบการระบาดในไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้ประเทศไทย ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แล้ว ทำให้หลายพื้นที่กลับมาจัดงานต่างๆ กันมากขึ้น อาทิ การจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานมหรสพรื่นเริง ทำให้มีการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดินทางมาจากหลายพื้นที่ อาจมีการสัมผัสใกล้ชิด การร้องเพลงหรือตะโกน รวมถึงระยะเวลาการร่วมกิจกรรมใช้เวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 ได้

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้ผู้จัดงานยังคงปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเว้นระยะห่างและกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะในอาคารพื้นที่ปิดที่อาจมีการระบายอากาศไม่ดี ที่สำคัญ ต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไมโครโฟน ราวบันได ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟท์ และห้องน้ำห้องส้วม จัดให้มีจุดบริการล้างมือเพียงพอ และกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะทุกวัน เพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อไปในวงกว้าง

“สำหรับประชาชนหากมีอาการเสี่ยง หรืออาการทางระบบทางเดินหายใจให้เลี่ยงเข้าร่วมงาน ผู้ที่เข้าร่วมงาน สามารถป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮออล์บ่อยๆ

หลังจากสัมผัสจุดสัมผัสร่วม และเมื่อกลับถึงบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำทันที ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการ ไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ให้ตรวจ ATK ถ้าผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 และสถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาในโรงพยาบาล สำหรับกลุ่ม 608 ให้รีบไปพบแพทย์และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/zqKKXP-WWDI

คุณอาจสนใจ