สังคม

ชาวบางกลอยจัดงานระลึก 7 ปี 'บิลลี่' หายตัวไป เรียกร้องให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

โดย sujira_s

18 เม.ย. 2564

31 views

ชาวบ้านบางกลอย ร่วมพิธีรำลึก 7 ปีที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ หายตัวไป โดยจุดสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นคือที่ด่านมะเร็ว ระหว่างออกจากบ้านบางกลอย อุทยานแห่งชาติกระจาน แต่ที่ผ่านมา แม้จะมีการพยานหลักฐาน แต่การดำเนินคดีไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ และยังสะท้อนปัญหาบุคคลสูญหาย โดยองค์กรสิทธิมนุษยชน ยังคงเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้


นายหน่อแอะ มีมิ ได้ทำพิธีเรียกขวัญนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ หลานชายที่หายตัวไป 7 ปีแล้ว ขอดวงวิญญาณให้เดินทางกลับบ้าน ท่ามกลางชาวบ้านบางกลอย และครอบครัวของบิลลี่ ซึ่งมีทั้ง นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรค อดีตภรรยาของบิลลี่ และลูกๆมาร่วมกันวางดอกไม้ และเขียนข้อความ เช่น ที่นี่มีคนหาย และข้อความที่ลูกของบิลลี่ ได้เขียนข้อความถึงพ่อ และยังหวังจะเห็นพ่อได้กลับบ้าน


ในขณะที่นางสาวพิณนภา ยอมรับว่า ยังมีความหวังที่จะเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ และยังมีปัญหาอีกมาก ที่ไม่สามารถดำเนินการ เช่น ปัญหาเงินประกันชีวิตที่ไม่สามารถเอาคืนได้เพราะไม่มีใบมรณะบัตร และยังคาดหวังว่าดำเนินคดีของดีเอสไอ แม้อัยการจะไม่สั่งฟ้อง


การจัดงานรำลึกถึงบิลลี่ในปีนี้ จัดขึ้นที่ด่านมะเร็ว ทางเข้า-ออก หมู่บ้านบางกลอยและเป็นจุดสุดท้าย ที่มีผู้พบเห็น บิลลี่ ก่อนหายตัวไป ซึ่งนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า กรณีการหายตัวไปของบิลลี่สะท้อนกระบวนการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง เช่น การดำเนินคดีที่แม้ดีเอสไอ จะพบหลักฐานเป็นชิ้นส่วนร่างกาย ที่อาจนำไปสู่การคลี่คลายคดีแต่ไม่มีความคืบหน้า


สำหรับ บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 และพบว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จำนวนหนึ่ง ได้จับกุมบิลลี่ จากกรณีมีน้ำผึ้งป่าไว้ครอบครอง จึงตักเตือนและปล่อยตัวไป แต่บิลลี่ไม่ได้กลับบ้าน จึงมีการแจ้งความ และหลังจากนั้น ตำรวจได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดี ก่อนสรุปสำนวนส่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ดำเนินคดีกับนายชัยวัฒน์ ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


และตลอดเวลา มึนอ อดีตภรรยาได้ยื่นเรื่องไปยัง ดีเอสไอ ที่กลับมารับคดีและพบหลักฐานสำคัญ หลังคดีผ่านมา 5 ปี จึงนำไปสู่การออกหมายจับชัยวัฒน์และพวกรวมสี่คนฐานร่วมกันฆ่า แต่ในวันที่ 24 มกราคม 2563 อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่คนในข้อหาร่วมกันฆ่าบิลลี่โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมเพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิด แต่ถูกสั่งฟ้องในข้อหาเจ้าพนักงานที่ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา157 ประมวลกฎหมายอาญา


ซึ่งหลายองค์กรทั้งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงเรียกร้องขอให้ญาติหรือครอบครัวสามารถเข้าถึงความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และควรมีผู้ถูกลงโทษจากการถูกบังคับให้สูญหายครั้งนี้ และเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความเป็นธรรมและเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายและชุมชนที่เกี่ยวข้องโดยยึดหลักตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้

คุณอาจสนใจ