ข่าวดี! ทีมวิจัยไทยพัฒนาโมเลกุล 'มณีแดง' เป็นยาต้านความชรา ครั้งแรกของโลก

สังคม

ข่าวดี! ทีมวิจัยไทยพัฒนาโมเลกุล 'มณีแดง' เป็นยาต้านความชรา ครั้งแรกของโลก

โดย thichaphat_d

18 ต.ค. 2564

2.7K views

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมวิจัยของ สวทช.นำโดย ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการต่อยอด ยาย้อนวัยหรือยาอายุวัฒนะต้านความชรา จากโมเลกุล “มณีแดง” REjuvenating DNA by GEnomic stability Molecules (RED-GEMs)


หลังจากก่อนหน้านี้ ได้มีการค้นพบดีเอ็นเอ (DNA) ในร่างกายของมนุษย์ในสภาวะเหนือพันธุกรรมตัวใหม่ชื่อ “ไรน์อีดีเอสบี” มีลักษณะเป็นข้อต่อดีเอ็นเอที่มีปริมาณน้อยในเซลล์ชรา จนมีการวิจัยพัฒนาต่อมาพบว่าโมเลกุลมณีแดง หรือRED-GEMs


จะช่วยในการเพิ่มข้อต่อดีเอ็นเอลบรอยโรคของดีเอ็นเอ แก้ไขความชราของเซลล์ได้ ทั้งยังทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในผู้สูงอายุ เช่น ความดันโลหิตสูง กระดูกผุ สมองเสื่อม และการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไม่มีประสิทธิภาพจากการสะสมรอยโรคของดีเอ็นเอ เช่น แผลของผู้ป่วยเบาหวานหรือแผลไฟไหม้ ที่มักหายยาก เป็นต้น


และนำมาทดลองกับหนูในห้องแล็บ โดยการฉีดยามณีแดงเข้าที่ช่องท้องของหนูทดลอง ปรากฏว่า โมเลกุล มณีแดงสามารถสร้างข้อต่อดีเอ็นเอได้ เซลล์ที่ชราแล้วกลับมามีรูปร่างและการทำงานเหมือนเซลล์ปกติ แผลไฟไหม้ในหนูทดลองหายเร็วขึ้น ไขมันลงพุงลดลง


หนูชรามีความจำดีขึ้นและคล่องแคล่วว่องไวพอๆกับหนูหนุ่มสาว เซลล์ต่างๆของหนูทดลองดีขึ้น หนูมีความหนุ่มขึ้น แข็งแรงขึ้น จุดบกพร่องต่างๆลดลง สามารถย้อนวัยหนูที่ชราแล้วให้กลับเป็นหนุ่มได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยอื่นๆ ในต่างประเทศ ผลการศึกษาของยาต่างๆ ในต่างประเทศไม่สามารถย้อนวัยได้สมบูรณ์เท่ามณีแดง


ผอ.สวทช.กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของการ ทดลองนี้มีผลที่ดีเหนือความคาดหมาย ทำให้คณะผู้วิจัยจะขยายโครงการศึกษาไปทำการทดสอบในลิง ในสัตว์ใหญ่ และในคน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี รวมทั้งการทดสอบแก้ไขความชราในอิมมูนเซลล์ เพื่อรักษามะเร็งอีกด้วย


เนื่องจากโมเลกุลมณีแดง มีศักยภาพในการรักษาโรคที่มีกลไกมาจากเซลล์เนื้อเยื่อ และอวัยวะเสื่อมสภาพที่พบในคนชราหรือชราเร็วจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โดยในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดแข็ง เสื่อมสมรรถภาพใน อวัยวะต่างๆ แผล เป็นต้น


รักษาโรคที่อวัยวะเสื่อมสภาพจากการทำลายจากสิ่งแวดล้อม เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ปอดพังจากบุหรี่ ตับสมองพังจากสุรา ไตพังจากสารพิษ เป็นต้น เสริมสมรรถภาพของคนชราให้มีศักยภาพทางกาย รูปร่างหน้าตา เท่ากับคนหนุ่มสาว รวมทั้ง อาจใช้ป้องกันและรักษามะเร็งได้


โดยการแก้ไขความชราของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็ง และป้องกันมะเร็งจากการลดโอกาสเกิดการแตกทำลายของ DNA อันนำไปสู่การกลายพันธุ์ของยีน ใช้ชะลอการเสื่อมของร่างกายในเด็กที่มีความผิดปกติของยีนซ่อมแซมดีเอ็นเอ ใช้เสริมความงาม ใช้เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรและใช้ป้องกันความพิการแต่กำเนิด เป็นต้น


“ขณะนี้ได้หารือกับนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ แล้วว่าโมเลกุลมณีแดงอาจสร้างรายได้ให้ประเทศไทยในมูลค่ามหาศาลในรูปแบบต่างๆ รัฐบาลอาจจะต้องวางแผนเพื่อให้เกิดรายได้จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่องโมเลกุลมณีแดงนี้ มณีแดงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบันและเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสในอนาคต”


ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ระบุว่า จุดเริ่มต้น งานวิจัยนี้เป็นงานของ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนของ สวทช. ที่ชื่อว่า “โครงการนักวิจัยแกนนำ”


ซึ่งการวิจัยในเชิงทฤษฎีพบว่ามีวิธีการที่น่าจะสามารถทำให้ความแก่ชราหยุดลงได้ ซึ่ง ศ.นพ.อภิวัฒน์ ใช้เวลาค้นคว้าวิจัยเรื่องนี้มานานกว่า 20-30 ปี จนกระทั่งล่าสุดสามารถผลิต “มณีแดง” ที่เป็นสารชีวพันธุ์ชนิดหนึ่ง ที่น่าจะหยุดยั้งการแก่ชราได้


สำหรับ “มณีแดง” เกิดจากการศึกษากลไกทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความแก่ ซึ่งเป็นกลไกที่ธรรมชาติสร้างขึ้น จึงเกิดการวิจัยในการหาทางกลับกลไกดังกล่าว กระทั่งมีการออกแบบสารมณีแดงโดยจำลองจากธรรมชาติ แต่ไม่ได้สกัดมาจากสิ่งมีชีวิตอะไร เพราะสารดังกล่าวไม่มีอยู่ในธรรมชาติ


โดยในขณะนี้มีตัวอย่างการทดลองในสัตว์ทดลอง เช่น หนู ที่ผลการทดลองพบว่าหนูที่แก่ชราเมื่อได้รับมณีแดงแล้วดูแข็งแรงขึ้น กลไกการแก่ชราในร่างกายดีขึ้น ดูแก่น้อยลง


ขั้นต่อไป ต้องทำการทดลองต่อ ว่าจะสามารถใช้ในคนได้หรือไม่ กระบวนการทดสอบในคนเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดคือต้องทดสอบเรื่องความปลอดภัย ซึ่งมณีแดงยังไม่ได้ทดสอบเรื่องความปลอดภัย โดยในร่างกายมีเซลล์อยู่ชนิดหนึ่งที่ไม่ยอมแก่ คือเซลล์มะเร็ง เพราะฉะนั้นเวลาเรามีสารที่ทำให้ไม่แก่ คำถามแรกในทางวิทยาศาสตร์คือสารตัวนี้จะทำให้เป็นมะเร็งไหม


แม้ว่าในทางทฤษฎีไม่น่าจะทำให้ก่อมะเร็ง แต่ก็ต้องทำการพิสูจน์ และต้องทำการผลิตในระดับที่สามารถใช้กับคนได้ที่ต้องผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐาน เพราะการผลิตในปัจจุบันเป็นเพียงในห้องทดลองเท่านั้น ซึ่งกำลังวางแผนว่าจะค่อยๆรวบรวมคนทดลอง และจัดหางบประมาณในการวิจัยต่อ


ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศแรกที่ทำการวิจัยได้สำเร็จ ทำให้มีความหวังในการต่อยอดในอนาคต แต่ไม่อยากให้ประชาชนตั้งความหวังมากเกินไป เพราะยังต้องใช้เวลาในการวิจัยอีกหลายปีจนกว่าจะมั่นใจที่สุด เพราะกลไกการแก่ชราเป็นกลไกธรรมชาติที่ออกแบบมาตั้งแต่ต้น หากเราจะไปขวางทางมันก็ต้องดูให้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/XCQDT9eJTXs

คุณอาจสนใจ