สังคม

นักวิจัยจัดแสดงข้าวพันธุ์ใหม่ ทนทานสภาพแวดล้อม สู้ภัยแล้ง ต่อยอดรับมือโลกรวน

โดย panwilai_c

27 ก.ย. 2566

120 views

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานแสดงข้าวพันธุ์ใหม่รับโลกรวนจากเอลนีโญ เพื่อเผยแพร่พันธุ์ข้าวที่ทนทาน ต่อสภาพแวดล้อมวิกฤตในตอนนี้ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ให้แก่หน่วยงานที่สนใจ เพื่อไปต่อยอดได้ในทันที



พื้นที่กว่า 10 ไร่ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ถูกปรับให้เป็นแปลงนิทรรศการจัดแสดงพันธุ์ข้าวใหม่รับโลกรวนจากเอลนีโญ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สวทช. กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดแสดงพันธุ์ข้าว 393 สายพันธุ์ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนพันธุ์แล้ว และเตรียมขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ดีเด่นและสายพันธุ์กระจายตัวรวมอยู่ด้วย ซึ่งข้าวแต่ละสายพันธุ์ที่จัดแสดงจะมีจุดเด่นต่างกันไป เช่น ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานแมลงศัตรูพืช โรคไหม้ และขอบใบแห้ง



ข้าวหอมสยามเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนุ่มทนแล้ง RGF กับ ข้าวจ้าวแก้วเกษตร ทำให้ต้นมีลักษณะเตี้ยลดปัญหาหักล้มง่าย ต้านทานโรคไหม้ และรักษาสถานะน้ำในลำต้นได้ดี อีกทั้งยังให้ผลผลิตกว่าข้าวขาวดอกมะลิสายพันธุ์อื่นๆ มากกว่าร้อยละ 25 ภายใต้สภาวะแล้ง



ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว นักวิจัยจากไบโอเทค อธิบายว่า ทีมวิจัยจะใช้วิธีการผสมข้ามพันธุ์กัน ระหว่างข้าวตัวผู้และตัวเมีย จนได้คุณสมบัติตามสายพันธุ์ที่คัดเลือก และสร้างองค์ความรู้ในการสืบหา และระบุยีนเพื่อควบคุมลักษณะพันธุ์ ซึ่งด้วยข้อมูลที่มีก็จะสามารถเลือกใช้พันธุ์ข้าวเพาะปลูกให้เหมาะสมได้



ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ และ ลานีญา นับจากนี้จะส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่ต้องอาศัยน้ำเพาะปลูก ทำให้ต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น งานนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ทีมวิจัยพร้อมเปิดให้ทุกหน่วยงาน เข้ารับองค์ความรู้จากผลงานวิจัยของ 2 หน่วยงานที่ดำเนินร่วมกันมานานกว่า 20 ปี เพื่อต่อยอด



ตอนนี้ทางทีมวิจัยของไบโอเทคและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีพันธุ์ข้าวที่ขึ้นทะเบียนพันธุ์แล้ว 10 สายพันธุ์ และยังมีพันธุ์อื่นๆ ที่รอขึ้นทะเบียนและระหว่างการวิจัยอีกหลายสายพันธุ์ ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ที่สนใจเพาะปลูกและต่อยอดการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้เกิดข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพมาเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรเพาะปลูกกับสภาวะโลกรวนในปัจจุบัน

คุณอาจสนใจ

Related News