เทคโนโลยี
เปิดผลงานนักวิจัยกุ้ง จาก จุฬาฯ-สวทช. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2567
โดย panwilai_c
15 ส.ค. 2567
234 views
ทุกๆ ปีมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จะคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี จากผลงานการวิจัย ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 43 แล้ว โดยมีผู้ได้รับเลือกเป็นนักวิจัยด้านกุ้งวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นนักวิจัยกุ้ง 2 คน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ จากไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ศาสตราจารย์ ดร. อัญชลี ทัศนาขจร ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "ผู้ค้นพบและระบุหน้าที่สำคัญของยีนและโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันของกุ้ง เพื่อการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งสุขภาพดีและต้านทานโรค" และ ดร. กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) "ผู้คิดค้นการควบคุมและแก้ไข ปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำในกุ้งทะเล" ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2567 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจะได้รับพระราชทานรางวัล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท
ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. อัญชลี จากจุฬาฯ มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษา ระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งทะเล โดยใช้เทคนิคด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล เพื่อระบุยีนและหน้าที่ของโปรตีนภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการเลี้ยงกุ้ง ให้มีสุขภาพดีและต้านทานโรค ช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาด ที่ผ่านมาเป็นที่รู้จักในวงวิชาการระดับชาติ และนานาชาติอย่างกว้างขวางในฐานะนักชีวเคมี ด้านการเกษตร
โดยจากฐานข้อมูล Web of Science มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 183 เรื่องได้รับการอ้างอิงจำนวน 8,029 ครั้ง มีค่า h-index เท่ากับ 50 และติดอันดับ World’s Top 2%
Scientists ปี 2023
ส่วน ดร. กัลยาณ์ จาก ไบโอเทค สวทช. มีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยเพื่อศึกษาสาเหตุของโรคคุณสมบัติ การตอบสนอง และการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรค ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้ ในการประเมินแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการการเลี้ยงการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งปลอดเชื้อและทนโรคติดเชื้อไวรัสมาแล้ว โดยการประเมินผลกระทบของผลงานวิจัยของ
ดร. กัลยาณ์และคณะตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบัน มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยให้พัฒนางานในระดับ "วิจัยขั้นแนวหน้า" ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลักดันประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
หากเปรียบเทียบประเทศไทยกับเกาหลีใต้ จะพบว่า ในปี 2513 ทั้งสองประเทศ มี GDP ต่อหัวในระดับเดียวกันคือ 260 และ 269 เหรียญสหรัฐ แต่ในช่วง 30 ปีถัดมา คือปี 2543 ประเทศเกาหลีใต้มี GDP ต่อหัวสูงจากเดิม 44 เท่า จากการที่เกาหลีใต้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุดในโลก คือมากกว่า 5% ของ GDP การที่ภาครัฐและเอกชนเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ส่งผลให้นักวิจัยของของประเทศ ได้รับสิทธิบัตรสูงถึง 10% ในปี 2564 จากจำนวน 1.6 ล้านสิทธิบัตรทั้งหมดของโลก ซึ่งอยู่ในอันดับ 4 รองจากประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น
ศาสตราจารย์ ดร. จำรัส จึงมองว่า สำหรับประเทศไทย การวิจัยและพัฒนาในลักษณะ "งานวิจัยขั้นแนวหน้า" จะต้องครอบคลุมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม / วัสดุขั้นสูง / เทคโนโลยีชีวภาพ / และเทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนี้ภายในงานยังได้ประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ.2567 ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิ์พร สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี "ผู้คิดค้นและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการประมวลผลสัญญาณไฟฟ้าซึ่งวัดได้จากร่างกายมนุษย์ เพื่อการประยุกต์ใช้ทางสุขภาพ และการแพทย์" และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพล จีระพันธ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ (เคมี) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ "ผู้คิดค้นและพัฒนาการประยุกต์ใช้งานเคมีไฟฟ้า เซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้าเคมีชีวภาพ และวัสดุขั้นสูง"