สังคม
นักวิจัยไทยเตรียมนำเครื่อง 'โทคาแมค' ต่อยอดผลิตพลังงานสะอาด
โดย chiwatthanai_t
8 ก.ค. 2566
167 views
ประเทศไทยเริ่มนับ 1 สู่การทดลองนำเทคโนโลยีพลังงานจากพลังงานฟิวชันมาใช้ โดยนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ รับมอบเครื่องโทคาแมค จากประเทศจีน เพื่อทดสอบการจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังพยายามพัฒนาหาวิธีนำพลังงานนี้มาใช้เพราะเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งตามปกติแล้วจะเกิดขึ้นได้เฉพาะบนดวงอาทิตย์เท่านั้น โดยคาดหวังความ 20 ปี ต่อจากนี้ ไทยจะสามารถต่อยอดสู่การค้นพบการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากปรากฎการณ์ฟิวชั่นได้ด้วยตัวเอง
นี่คือเตาปฏิกรณ์โทคาแมค หรือ เตาปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน เครื่องแรกของประเทศไทย ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เพิ่งได้รับมอบจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้ศึกษาการใช้ประโยชน์จากการจำลองปฏิกิริยาฟิวชันเพื่อให้เกิดพลาสมาอุณหภูมิสูง ผ่านความร่วมมือของนักวิจัยระหว่าง 2 สถาบัน เทคโนโลยีนี้เป็นกระบวนการเลียนแบบการทำงานของดวงอาทิตย์ที่หลายประเทศกำลังพัฒนาให้พลังงานนี้เกิดขึ้นจริงบนโลก เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมดไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีที่ใดสามารถทำได้ ภาพพลังงานพลาสมาที่วิ่งผ่านในเตาปฎิกรณ์นี้ถูกถ่ายด้วยกล้องความเร็วสูง เพื่อใช้ติดตามผลการทดลองครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา
ซึ่ง นายนพพร พูลยรัตน์ หัวหน้าฝ่ายนิวเคลียร์ฟิวชั่นและพลาสมา ศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นสูง บอกว่า แสงที่เกิดขึ้นประมาณ 5 มิลลิวินาทีนี้ ยังไม่ใช่อนุภาคที่เกิดขึ้นจากกระบวนการรวมตัวกันของสสาร หรือ การฟิวชัน แต่เป็นแสงจากการเผาไหม้ของก๊าซไฮโดรเจนที่แตกตัวที่อุณหภูมิ 1 แสนองศาเซลเซียส จนกระทั่งเข้าสู่สถานะพลาสม่าได้สำเร็จ ที่ 2,200 แอมแปร์ แต่ก็เป็นก้าวแรกที่สำคัญของนักวิจัยจาก สทน. ในการพัฒนาเครื่องโทมาแมคของไทยให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ทางสถาบันได้วางแผนการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์และพลาสมาในไทยไว้ 3 ระยะ คือการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานให้บุคลากร เพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์ที่รองรับความร้อนได้เพิ่มขึ้น จาก 1 ล้านองศาเซลเซียส เป็น 10 ล้าน องศาเซลเซียสใน 2 ระยะแรก และ มีเทคโนโลยีสำคัญในการผลิตบางชิ้นส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานฟิวชันใน 30 ปีข้างหน้า
ล่าสุดนักวิจัยจากสทน.สามารถทำให้เกิดพลาสมาได้นานขึ้นจาก 5 มิลลิวินาที เป็น 100 มิลลิวินาทีแล้ว ซึ่งหากการทดลองสำเร็จที่อุณหภูมิ 10 ล้านองศาเซลเซียสแล้ว ขั้นต่อไปนักวิจัยก็เตรียมใช้นิวธิเลียม และ ทริเทียม มาทดสอบการสร้างปฏิกิริยา สู่การต่อยอดปรับใช้ในการสร้างพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนต่อไป โดยประชาชนไม่ต้องกังวลเพราะ ฟิวชัน เป็นการปล่อยพลังงานนิวตรอนของสสาร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่างจากฟิวชัน ที่เกิดจากพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานกัมตภาพรังสีที่อันตราย
แท็กที่เกี่ยวข้อง พลังงานสะอาด ,นักวิจัย ,นักวิจัยไทย ,โทคาแมค