องคมนตรีจรัลธาดา ประชุมติดตามการดำเนินงาน มูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2564

พระราชสำนัก

องคมนตรีจรัลธาดา ประชุมติดตามการดำเนินงาน มูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2564

โดย weerawit_c

12 มี.ค. 2564

37 views

ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และพลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงาน ของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2564 ในการนี้ ได้รับมอบเงินสนับสนุนการก่อสร้างระบบไฟฟ้าและระบบแสงสว่าง ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ,เครื่องอบแห้งลมร้อน ผลงานวิจัยคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมรับมอบอุปกรณ์กีฬา เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนบนพื้นที่สูงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด



ทั้งนี้ มูลนิธิโครงการหลวง ได้ดำเนินงานตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อมุ่งลดปัญหา และข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐ เป็นการสร้างประโยชน์โดยการเข้าถึง และแก้ปัญหาในระดับชุมชนอย่างแท้จริง โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ทั้งการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น ความยากจน การทำไร่เลื่อนลอย รวมทั้งปัญหาการสื่อสาร ระหว่างคนบนพื้นที่สูง กับนักวิชาการและนักพัฒนา โดยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงาน ปปส. ภาค 5 ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ ของชุมชนบนพื้นที่สูง นำร่องในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว อำเภอเชียงดาว, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ อำเภอจอมทอง, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา อำเภอแม่ริม และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก



ในตอนบ่าย พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ไปติดตามการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2521 ปัจจุบันพื้นที่ปฏิบัติงานของศูนย์ฯ ครอบคลุมเขต อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย รวม 5 หมู่บ้าน ประชากรเป็นชนเผ่าลาหู่ ลีซู อาข่า และจีนยูนนาน รวม 946 ครัวเรือน 4,050 คน โดยส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP และเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วยพืชผัก ไม้ผล ชา กาแฟ รวม 30 ชนิด มีรายได้เฉลี่ยปีละ 128,500 บาทต่อคน โอกาสนี้ ได้เยี่ยมชมงานหัตถกรรมของกลุ่มแม่บ้านชนเผ่า พร้อมทั้งเยี่ยมชมโรงเพาะกล้า และโรงคัดบรรจุผลผลิต