สังคม
แฉเหลี่ยมแก๊งอ้างโครงการหลวง ตุ๋นปชช.ลงทุน สูญกว่า 260 ล้าน
โดย chiwatthanai_t
31 ม.ค. 2567
189 views
แก๊งหลอกลวงให้ร่วมลงทุน ยังมีอยู่อีกหลายเครือข่าย แม้จะจับกุมแล้วก็ยังไม่หลาบจำ โดยเฉพาะมีการแอบอ้างมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อร่วมลงทุน พบประชาชนหลายคนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อสูญเงินกว่า 260 ล้าน โดยคนกลุ่มหนึ่งได้อุปโลกน์ตัวตนขึ้นมา ว่าทำงานให้กับมูลนิธิโครงการหลวงหลายแห่ง แต่ตำรวจพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้ตัดต่อภาพ ทำเป็นขบวนการ มีหน้าม้าคอยสนับสนุนให้เหยื่อเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการระดมทุนจากโครงการหลวงจริง ล่าสุดศาลไม่ให้ประกันผู้ต้องหาทั้ง 6 คน
ข้อความแชทไลน์กลุ่ม ที่มีทั้งเหยื่อและหน้าม้า โดยใช้ข้อความแอบอ้างถึงกองงานราชเลขาฯ ให้เข้าใจว่าทำงานให้มูลนิธิโครงการหลวงจริง อีกทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ ถ่ายภาพในเครื่องแบบ ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก เมื่อแผนการณ์แรกได้ผล
แผนสองก็ตามมาด้วยการอุปโลกน์ชักชวนให้ประชาชน ร่วมลงทุนในโครงการหลวง ประกอบด้วยมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิภูบดินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ โดยให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเสียค่าสมัคร 75,000 เพื่อรับผลประโยชน์ 13 ล้านบาทต่อหนึ่งโครงการ ภายใน 1 ปี และหลังจากนั้นจะได้รับเงินจากรัฐ หน่วยงานละ 1,000,000 บาท รวม 50 หน่วยงาน เป็นเงิน 50 ล้านบาท และหากปลดล็อกระบบเงินในบัญชีได้ผลตอบแทน โอนหลักร้อยได้หลักล้าน อีกทั้งยังมีโครงการหนึ่งบัตรประชาชนจะได้ 1,000,000 บาท แต่เมื่อผู้เสียหายร่วมลงทุนไป กลับไม่ได้คืนสักบาท
ตำรวจสอบสวนกลางและตำรวจ ปอศ.จึงเข้าจับกุม นางชยาวรรณ อายุ 60 ปี แอบอ้างว่าเป็นประธานโครงการมูลนิธิชัยพัฒนาได้ที่บ้านในจ.สงขลา
นายจารุเดช ผู้บงการและอยู่เบื้องหลังรับผลประโยชน์ โดยจะสั่งให้นางชยาวรรณ ซึ่งอดีตเป็นพนักงานประกันภัย และทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อก่อนชักชวนเข้ากลุ่มไลน์ อาทิ กลุ่มแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง, โครงการในดวงใจ, หัวใจพระราชา โดยพบว่ามีผู้เสียหายในกลุ่มสมาชิกรายกว่า 900 ราย เป็นเงินกว่า 269 ล้านบาท
พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิด หเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ระบุว่าเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หลงเชื่อผู้ต้องหาที่โพส รูป และมีหน้าม้าสนับสนุน ผู้ต้องหาใช้เวลา 1ปี ในการหลอกลวงเหยื่อ พอได้เงินก็โอนไปยังบัญชีบริษัทที่นายจารุเดช เป็นกรรมการบริษัทผลิตสื่อมีเดีย บริษัทเพลง และบริษัทผลิตเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง รวม 4 บริษัทซึ่งเป็นบริษัททิพย์ เปิดไว้ฟอกเงิน
จากการเข้าตรวจค้นใน 7 จังหวัด พบมีการนำไปฟอกเงินซื้อรถหรู กระเป๋าแบรนด์ นาฬิกา แหวนเพชร โฉนดที่ดิน รวมมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท จากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุตำรวจสอบสวนกลางเตือนให้ระวัง เนื่องจากคนร้ายที่แอบอ้างมูลนิธิโครงการหลวง ยังมีหน้าม้าเชิญชวนลงทุนต่อเนื่อง หลังถูกตำรวจจับยังหลอกเหยื่อต่อว่าว่าเป็นการจับอีกกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับพวกตน
โดยพวกตนได้รับแต่งตั้งดูแลมูลนิธิโครงการหลวงจริง ทั้งที่ถูกตำรวจจับดำเนินคดี และได้ควบคุมตัวไปฝากขังต่อศาลทั้ง 6 คน แล้วโดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
แท็กที่เกี่ยวข้อง โครงการหลวง ,หลอกร่วมลงทุน ,มูลนิธิโครงการหลวง ,อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ