เลือกตั้งและการเมือง

นักวิชาการจี้รบ.ประยุทธ์ รับผิดชอบ พ.ร.ก.เลื่อนใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ตั้งคำถามมีนัยยะแฝงหรือไม่

โดย panwilai_c

25 พ.ค. 2566

119 views

กรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 8:1 วินิจฉัยให้ พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมาย 4 มาตรา ในพ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย ที่ออกโดยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ล่าสุด มีท่าทีและความเห็นจากนักกฎหมายและภาควิชาการ ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ร้ายแรงและไม่ควรเกิดขึ้น และรัฐบาลรักษาควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ พร้อมตั้งข้อสังเกต กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ้างความไม่พร้อมเรื่องกล้องและแนวทางปฏิบัติ เป็นเหตุให้ต้องขอเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราออกไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดอายุราชการของผบ.ตร.คนปัจจุบัน อาจมีนัยยะอะไรบางอย่างแองแฝงหรือไม่



ความเห็นบางช่วงในเวทีเสวนา ที่จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งคำถามและมีข้อสังเกตกรณีที่รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกพระราชกำหนด เลื่อนการบังใช้มาตรา 22-25 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายออกไป ทั้งที่กฏหมายฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาทั้ง 2 สภา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้เริ่มมีผลบังคับใช้หลังพ้น 120 วัน คือ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา



ผู้ร่วมเสวนา สะท้อนว่า พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย เป็นกฏหมายที่มุ่งปกป้องสิทธิและสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ ทั้งที่อีกไม่กี่วันจะเริ่มมีผลบังคับใช้ แต่กลับออก พ.ร.ก.ขอเลื่อนบางมาตราออกไปด้วยเหตุจำเป็นบางอย่าง ซึ่งหลายฝ่ายก็เคยทักท้วงว่า พ.ร.ก.ที่ออกโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อาจขัดต่อกฎหมาย-ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ



4 มาตราที่ขอเลื่อน คือ มาตรา 22-25 สาระสำคัญหลัก ๆ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องบันทึกภาพและเสียงต่อเนื่องระหว่างควบคุมตัว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย และจะต้องรายงานข้อมูลการจับกุมทั้งชื่อ สกุล วัน-เวลา-สถานที่ รวมทั้งข้อมูลของผู้จับกุม รายงานถึงผู้บังคับบัญชา ฝ่ายปกครอง และอัยการท้องที่ให้รับทราบ ส่วนญาติหรือครอบครัว ก็มีสิทธิที่จะรู้ข้อมูลว่า ถูกจับไปที่ไหน อยู่อย่างไร มีหน่วยใดควบคุมตัว ถูกทรมานหรืออุ้มหายไปหรือไม่



ส่วนประเด็น ฝ่ายตำรวจไม่พร้อม ทั้งอุปกรณ์กล้องและแนวทางปฏิบัติ จึงขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม ผู้ร่วมเสวนาตั้งข้อสังเกตว่า เป็นข้ออ้างที่อาจมีนัยยะบางอย่างแอบแฝงหรือไม่ หลักฐานก็คือคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 ที่เคยประกาศความพร้อมไว้เเล้ว ตั้งเเต่สมัย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข



เวทีเสวนา ยังเปิดเผยข้อมูลและสถิติ ซึ่งพบว่า การดำรงตำแหน่ง 9 ปี ของพลเอกประยุทธ์ มีการออกพระราชกำหนดมากถึง 31 ฉบับ ซึ่งมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย จึงเห็นว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีตก การที่อ้างว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ เเล้วไม่ต้องรับผิดชอบ เหมาะสมเเล้วหรือไม่

คุณอาจสนใจ

Related News