สังคม
ครอบครัวเหยื่อรำลึก 'วันผู้ถูกบังคับสูญหายสากล' สะท้อนปัญหาบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย
โดย panisa_p
30 ส.ค. 2567
50 views
ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน จัดแถลงข่าวเนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล สะท้อนปัญหาหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปรามปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาปีกว่าแล้วแต่หลายคดีกลับไม่คืบหน้า และ กรรมการที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปรามปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ก็ไม่เคยรับฟังครอบครัว
นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะภรรยาของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร กล่าวในงานแถลงข่าวเนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากลว่า ยังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตามหาตัว "ทนายสมชาย" รวมทั้งกรรมการตาม พ.ร.บ. ที่ตั้งขึ้นก็ไม่เคยรับฟังครอบครัวทั้งที่กฎหมายระบุให้สืบสวนจนทราบที่อยู่และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด ในขณะที่ครอบครัวคนหายต่างถูกคุกคามมาโดยตลอด และตั้งคำถามถึงนายกรัฐนตรีว่าจะคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้ถูกอุ้มหายอย่างไร
ด้านพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยา พอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง กล่าวว่าภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. นี้ ได้เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งและได้สอบถามว่าคดีของบิลลี่สามารถใช้ พ.ร.บ. นี้มาสืบสวนหาผู้กระทำความผิดได้ด้วยหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่ได้เพราะคดีของบิลลี่เกิดก่อนที่จะมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ และหากจะให้คดีของบิลลี่เข้าสู่การสอบสวนของ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้องมีหลักฐานใหม่ขึ้นมาพิสูจน์ ซึ่งที่ผ่านมาครอบครัวก็ได้ดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว ไม่รู้จะหาหลักฐานใหม่อะไรมาให้เจ้าหน้าที่อีก ทั้งที่ในความเป็นจริงบิลลี่ยังเป็นบุคคลสูญหายและคดียังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดีของบิลลี่ยังไม่สิ้นสุด พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงควรที่จะทำหน้าที่ให้กับครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่มีเงื่อนไขของเวลาเข้ามาเป็นข้อจำกัดให้ครอบครัวเข้าถึงความยุติธรรม
ส่วนสีละ จะแฮ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าลาหู่ และญาติของเหยื่อจากการบังคับสูญหายชาติพันธ์ลาหู่ เข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้เปิดเผยข้อมูลว่ามีชาวลาหู่ 20 ครอบครัวที่ถูกอุ้มหายยังไม่ได้รับความยุติธรรมหรือการเยียวยา และผ่านมาปีกว่าคณะกรรมการตาม พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายยังไม่ได้ทำงานสืบสวนเชิงลึกในการแก้ไขปัญหาหรือเยียวยาเหยื่อ
งานเนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล จัดโดยครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายร่วมกับมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ องค์กร Protection International และมูลนิธิ forum Asia ภายใต้หัวข้อ "Faces of the Victims: A Long Way to Justice" หรือใบหน้าของเหยื่อ: เส้นทางที่ยาวไกลสู่ความยุติธรรม เพื่อทวงถามความคืบหน้าและยื่นข้อเรียกร้องต่อการแก้ปัญหาคนหายของรัฐบาลไทย หลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
นอกจากครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายชาวไทยแล้ว ยังมี Shui Meng ภรรยาสมบัด สมพอน นักพัฒนาองค์กรเอกชนชาวลาวที่ถูกบังคับให้สูญหายจากหน้าป้อมตำรวจที่เวียงจันทน์ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยเธอยังไม่ยอมแพ้หรือสิ้นหวังในการหาความจริงต่อการหายตัวไปของสามี
นอกจากนี้ผู้ร่วมจัดงานได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่ส่งตัว นายอี ควิน เบดั๊บ กลับไปเวียดนาม หลังถูกตำรวจไทยจับกุม ระหว่างดำเนินการขอสถานะผู้ลี้ภัย สำหรับ อี ควิน เบดั๊บเป็นสมาชิกของชุมชนชาวพื้นเมืองมอนตาญาร์ด ในเวียดนาม ที่มีรายงานว่าถูกคุกคามจนต้องหลบหนีออกจากประเทศ
แท็กที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.อุ้มหาย ,องค์กรสิทธิมนุษยชน ,วันผู้ถูกบังคับสูญหายสากล