สังคม

เปิดใจ 'นักข่าวช่อง3' เบื้องหลังที่ทำให้แม่เด็ก 8 เดือน สารภาพพลั้งมือทำลูกเสียชีวิต

โดย panwilai_c

27 ก.พ. 2566

316 views

ตลอด 23 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่เด็กวัย 8 เดือนหายไปปริศนา จนท้ายสุดแม่เด็กรับสารภาพ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง นอกจากชุดสืบสวน สอบสวน ของตำรวจแล้ว ยังมีมูลนิธิต่างๆ ที่ช่วยกันในครั้งนี้ จนแม่เด็กไว้ใจ และยอมเปิดปาก



คุณชลิดา พะละมาตย์ ที่ปรึกษามูลนิธิ วิน วิน ซึ่งเป็น 1 ในมูลนิธิที่มาร่วมค้นหา และร่วมดูแลแม่ของเด็ก ขณะเข้าแม่เด็กถูกการสอบสวน ตลอด 20 กว่าวัน เล่าว่า กว่าที่แม่เด็กจะยอมเปิดปากพูดความจริง ทางมูลนิธิต้องทำให้แม่เด็กไว้ใจ เชื่อใจมากที่สุด



ตลอดเวลาที่ผ่านมา คุณชลิดา บอกว่า จากที่สัมผัสมา แม่ของเด็กรักลูก และเมื่อเกิดเหตุพลั้งทำลูกตก ก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก จึงอ้างว่าเอาลูกไปวางไว้ริมน้ำ เมื่อถามว่า แล้วทำไมไม่บอกสามี และครอบครัว แม่ของเด็กอ้างว่า กลัวว่าจะถูกสามีทำร้าย ส่วนครอบครัวสามี ก็ไม่ได้รักตนเอง จึงกลัวที่จะบอกความจริง



และสาเหตุที่แม่เด็กไม่ยอมปริปาก เล่าความจริง เพราะเป็นห่วงคนที่อยู่ข้างหลัง ก็คือ แม่ของตนเอง (ยายของเด็ก) ที่ป่วยติดเตียง ซึ่งหากตนถูกจับก็กังวลว่า พ่อของตน (ตาของเด็ก) จะไม่สามารถดูแลได้ จึงไม่พูดความจริง แต่เมื่อถูกกดดันอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ทำให้เกิดความเครียด



ขณะที่ประเด็นเรื่องของที่มีหมอดูประสานมานั้น คุณชลิดา บอกว่า หมอที่มาดู นอกจากเปิดไผ่แล้ว ยังสังเกตปฏิกิริยาของแม่เด็กด้วย โดยในวันนั้น ที่ให้แม่ของเด็กไปจุดธูปขอขมา เมื่อพาเดินไปตรงสะพานข้ามคลองใกล้กับจุดที่เอาเด็กไปวางไว้ แม่เด็กกลับมีปฏิกิริยาเลือกที่จะเดินไปอีกทาง แต่ตามองไปอีกทาง ซึ่งเป็นจุดที่เอาลูกไปวางไว้ และมีอาการมือสั่น และดูผิดปกติ



หลังจากนี้ทางมูลนิธิจะเข้ามาช่วยดูแลแม่เด็ก พร้อมประสานทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ส่วนกลาง มาช่วยดูแลแม่เด็กต่อไป



เพจเฟซบุ๊กมูลนิธิกระจกเงา โพสต์ข้อความระบุว่า บทเรียนกรณีเด็กหายบางเลน

(1)กรณีเด็กเล็กหายตัวไป สิ่งที่ต้องประเมินก่อนเป็นลำดับแรกเสมอ คือ 1.ปัญหาแย่งสิทธิ์ปกครองบุตร 2.อุบัติเหตุ 3.ความรุนแรงในครอบครัว 4.ถูกลักพาตัวทั้งจากคนใกล้ชิดและคนภายนอก โดยประเมินจากสภาพครอบครัวและที่เกิดเหตุ



(2)แม้จะต้องประเมินปัจจัย ภายในครอบครัวก่อนเสมอ แต่กระบวนการจำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน ค้นหา ติดตามประเด็นอื่นๆไปพร้อมกัน



(3)กระบวนการเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุจำเป็น ต้องทำตั้งแต่ช่วงแรกของการรับแจ้งเด็กหาย และข้อมูลส่วนบุคคลในการสืบสวนไม่ควรถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ



(4)เรื่องนี้ต้องไม่มองอย่างผิวเผินแค่เพียงเกิดเหตุร้าย ในครอบครัวเท่านั้น แต่ต้องมองให้ลึกถึงต้นเหตุ เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีมาก่อน ปัญหาทางเศรษฐกิจในครอบครัว ปัญหาความกดดันภายในครอบครัว ภาวะซึมเศร้าจากการเลี้ยงดูเด็กเล็กตามลำพัง ทักษะชีวิตและความพร้อมในการดูแลเด็กเล็ก หรือปัญหาอื่นๆ ที่นำมาซึ่งการตัดสินใจก่อเหตุด้วยความรุนแรงหรือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม



(5)ไม่ควรมีเด็กคนใด ต้องตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้ การวางแผนครอบครัว อนามัยเจริญพันธุ์ การเข้าถึงการให้คำปรึกษา จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการจัดการปัญหาครอบครัว



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/80gySJ4mjY4

คุณอาจสนใจ

Related News