สังคม

'หมอนิธิพัฒน์' แนะพ่อแม่อย่าลังเล ให้ลูกรับวัคซีน ชี้เด็กติดโควิด เสี่ยงหัวใจอักเสบ มากกว่าฉีดวัคซีน

โดย thichaphat_d

11 เม.ย. 2565

116 views

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิดในหญิงตั้งครรภ์และเด็ก ตอนหนึ่งระบุว่า

ระลอกนี้คนท้องก็ติดเชื้อกันมากขึ้น ยังดีว่าวัคซีนช่วยเอาไว้ให้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง วันนี้ลองมาดูผลกระทบต่อมารดาผู้โอบอุ้มทารกในอุทรกันบ้าง โดยจะเจาะลึกไปเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการทางระบบประสาท ที่หลงเหลือหลังจากการติดเชื้อหรือป่วยขณะตั้งครรภ์ นับจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงทั่วโลกเดลต้ากำลังซา

มีรายงานผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์แล้วเกิดเหตุเช่นนี้รวม 18 คน อายุครรภ์ระหว่าง 30-37 สัปดาห์  โดยเป็นอาการเกี่ยวกับสมองครึ่งหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่ต้องรักษาในไอซียู และอาการในระบบประสาทนอกสมองอีกครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทนี้จะได้รับการผ่าคลอด โดยทั้งหมดแม่รอด แต่ลูกไม่รอดเสียไป 3 ราย ในระยะยาวแล้วมีแม่เพียง 1 รายที่อาการทางระบบประสาทยังไม่ดีขึ้นในช่วงหลังคลอด https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1111/ane.13621

สาเหตุหนึ่งของการลังเลเข้ารับวัคซีนในเด็กช่วงอายุ 5-17 ปี คือกลัวว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ล่าสุดคณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อแห่งอเมริกา (US CDC) ได้เผยแพร่การรวบรวมผลการฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 ถึง 31 ม.ค. 2565 จากประชากรกว่า 15 ล้านคนของ 40 มลรัฐ

พบว่าการเกิดหัวใจอักเสบจะสูงสุดในเด็กอายุ 12-17 ปี (สูงสุดในเพศชายคือ 50–65 ต่อแสนราย และพบบ่อยในการฉีดเข็มสอง เพศหญิงพบน้อยกว่าราว 10 เท่า)  แต่ถ้าเด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อหรือป่วยด้วยโรคโควิด-19 จะเกิดหัวใจอักเสบได้มากกว่าจากการฉีดวัคซีนถึง 1.8-5.6 เท่า สำหรับผลเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับช่วงอายุ 5-11 ปี และ 18 ปีขึ้นไป


เห็นอย่างนี้แล้วผู้ปกครองที่ยังลังเลโปรดเปลี่ยนใจ เพื่อการเปิดเทอมกลางเดือนหน้า บุตรหลานของเราจะได้ไปโรงเรียนกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา หลังจากห่างหายกันแบบเป็นๆ หายๆ มาสองปีกว่าแล้ว




รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/2yqYEeyuZOQ

คุณอาจสนใจ

Related News