เลือกตั้งและการเมือง
"รุ้ง" แถลงไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรธน.ชี้ “ม็อบราษฎร” ล้มล้างการปกครอง
โดย pattraporn_a
10 พ.ย. 2564
137 views
ศาล รธน.ชี้ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ม็อบราษฎร เป็นการ ล้มล้างการปกครอง แสดงความเห็นโดยไม่สุจริต สั่งยุติการกระทำ
(10 พ.ย.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ องค์คณะตุลากการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัย คำร้องของนายณฐพร โตประยูรอดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยการกระทำของ แกนนำม็อบราษฎร 3 คน ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา , ไมค์ ภานุพงศ์ จาดนอก และ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรณีขึ้นเวทีปราศรัย ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ต่อการปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตราหรือไม่
โดยศาลพิจารณาไต่สวนจากพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นแล้วเห็นว่า กรณีนี้มีข้อเท็จจริงที่พบว่า ผู้ถูกร้องปราศรัยในสถานที่สาธารณะหลายครั้ง ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ 3 ส.ค. มา ในการเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 มีการอภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเรียกร้อง 10 ประการคือ
1. ยกเลิกมาตรา6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผุ้แทนราษฎรสามารถพิจารณษความผิดของกษัตริย์ได้
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้และให้นิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินของพระมหากษัติย์ 2562 และแบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
4. ลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ เช่นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย และยกเลิกคระองคมนตรี
6. ยกเลิกการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อกำกับการเงินของสถาบันฯอยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดทางการเมืองในที่สาธารณะ
8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ และการใช้การศึกษาที่เปิดการเชิดชูสถาบันฯ
9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการเข่นฆ่าราษฏรที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ
10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญทุกกรณีตราบเท่าที่สิทธินั้นไม่กระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญย่อมมีหน้าทีความรับผิดชอบตามมาด้วย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ประกอบกับมาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าบุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯมิได้ เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ปรากฎมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540
ดังนั้นการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควรมีผลกระทบกระเทือนและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่เป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตแม้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องต้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นสถาบันหลักของชาติไทยผู้ใดจะละเมิดมิได้ และมีพระราชอำนาจในการปกครอง ผ่านทาง ศาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ดังปรากฎมาตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475
ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง3 เป็นการกระทำที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้องใช้ถ้อยคำหยาบคายและยังเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย การกระทำของทั้ง3 มีการกระทำอย่างเป็นกระบวนการ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุมอย่างต่อเนื่องโดยเป็นขบวนการเดียวกัน มีลักษณะปลุกระดมใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม อีกทั้งการใช้สิทธิดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีการจัดตั้งกลุ่มใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ นำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯในที่สุด นอกจากนี้การชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ และข้อเรียกร้อง ทั้ง 10ข้อของผู้ถูกร้อง เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองที่ปฏิบัติมา และมีเจตนาซ่อนเร่นต่อการล้มล้างการปกครองมิใช่การปฏิรูป และเป็นการแสดงความเห็นที่ไม่สุจริต
จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง3 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา49 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องและกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
ซึ่งหลังฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เสร็จสิ้นรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้อ่านแถลงการณ์ ถึงศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้ตนและนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มราษฎร ล้มล้างการปกครองจากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ระบุว่า
ขอยืนยันอย่างหนักแน่น ว่า ข้อเรียกร้องไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือเจตนาเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นด้วยจิตวิญญาณอันซื่อตรงต่อหลักนิติธรรม ตนไม่ขอรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะขาดซึ่งความชอบ ด้วยกระบวนการพิจารณาคดี ศาลไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวน ไม่ยอมให้นักวิชาการเข้าให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โดยศาลให้เหตุผลเพียงว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้จึงยุติการไต่สวนต้นจึงไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลและเน้นย้ำอย่างใจบริสุทธิ์ว่าการเสนอปฏิรูปสถาบันไม่อาจถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
พร้อมขอให้การวินิจฉัยคดีครั้งนี้ บันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งควรมีหน้าที่สำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญรักษาดุลอำนาจแห่งรัฐและปกป้องเสรีภาพของประชาชน ได้วินิจฉัยว่าการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันหมายถึงการล้มล้าง และขอให้คำตัดสินของท่านจงเป็นกระจกสะท้อน เบื้องลึกในจิตใจของท่านทั้งหลายแสดงให้เห็นถึงความกลัวต่อสภาพอันเปราะบางที่ดำรงอยู่ ว่าพวกท่านกำลังขัดขวางการปฏิรูปสถาบัน ที่จะทำให้สถาบันอยู่ได้อย่างสง่างาม
ทั้งนี้ ทันทีที่อ่านแถลงการณ์เสร็จกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันโปรยข้อความมากมาย เต็มพื้นที่ด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ ให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตุลาการโจร ถอยปล่อยเพื่อนกู ปฏิรูปตุลาการ ปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง เป็นต้น
ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/UOQgQl04Ves
แท็กที่เกี่ยวข้อง รุ้งปนัสยา ,คำวินิจฉัย ,ม็อบราษฎร ,ล้มล้างการปกครอง ,ศาลรธน.