เศรษฐกิจ

ร้านอาหารขานรับ #กูจะเปิดมึงจะทำไม เจ้าของไอเดียชี้ยอดติดโควิด แทบไม่เกี่ยวกับร้านอาหารเลย

โดย thichaphat_d

1 ก.ค. 2564

59 views

ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายร้านร่วมแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม เผยเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ประกอบการ ว่าหมดเวลารอความช่วยเหลือ แนะรัฐเยียวยาให้เหมาะสม ยืนยันร้านเคยพยายามปรับตัวขายเดลิเวอรี่มาแล้ว แต่ยิ่งขาดทุน เพราะหลายร้านไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำเดลิเวอรี่


ทีมข่าวได้เดินทางไปคุยกับหนึ่งในร้านที่ลงทะเบียน เข้าร่วมกับแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม ซึ่งเป็นร้านอาหารที่อยู่ย่านสีลม เจ้าของร้านบอกว่า เดิมร้านจำหน่ายคราฟท์เบียร์ และอาหาร จึงเปลี่ยนมาจำหน่ายเฉพาะอาหารอย่างเดียว กระทั่งปัจจุบันที่มีคำสั่งไม่ให้นั่งรับประทานในร้าน แต่ให้เฉพาะจำหน่ายกลับเท่านั้น ทำให้ร้านต้องหยุดให้บริการชั่วคราว นั่นก็เพราะ ทางร้านเคยปรับตัวขายอาหารเป็นเดลิเวอรี่มาแล้ว ช่วงโควิดระบาดระลอกแรก ประมาณ 3 เดือน


แต่ต้องเข้าใจว่า ทุกร้านไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสำหรับทำเดลิเวอรี่ และการเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่าย ในครั้งนั้น รายรับพอมี แต่ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย ค่าเช่า ค่าพนักงาน ที่สูงนับแสนบาทต่อเดือน ทำให้ขาดทุนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะร้านตนเอง ที่ถูกออกแบบมาเพื่อขายประสบการณ์ให้ลูกค้า ซึ่งประสบการณ์ไม่สามารถใส่กล่องส่งไปให้ลูกค้าได้


นั่นจึงเป็นที่มา ที่ตัดสินใจร่วมแคมเปญดังกล่าว มองว่าเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ประกอบการ ว่า หมดเวลารอความช่วยเหลือ ซึ่งความช่วยเหลือที่ทางรัฐบาลประกาศมาเยียวยา ไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสมกับความเป็นจริง จึงถึงเวลาที่จะต้องรวมตัวกันแสดงออก ซึ่งแคมเปญนี้เป็นเหมือนกับทางออกสุดท้าย ถามว่าอยากเปิดร้านเพราะอยากอารยะขัดขืนหรือไม่ ก็ไม่มีใครอยาก แต่ผู้ประกอบการเองไม่มีทางเลือก


ทั้งนี้ส่วนร้านตัวเอง ถึงแม้ร้านจะปิดให้บริการ ก็มีภาระค่าเช่า และเงินช่วยเหลือพนักงาน ค่าไฟของห้องเย็น รวมทั้งสิ้นกว่า 70,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งไม่อาจเทียบได้กับจำนวนเงินที่รัฐบาลเยียวยาให้ เพราะฉะนั้น การปรับตัวไปอยู่ในตลาดเดลิเวอรี่จึงเป็นเรื่องยากสำหรับตนเอง โดยเฉพาะร้านที่มีค่าใช้จ่ายต้นทุนสูง ที่อาจจะไม่สามารถสู้ร้านสตรีทฟู๊ดได้ โดยเฉพาะเรื่องของราคาต้นทุน


ด้านคุณบะหมี่ ประภาวี เหมทัศน์ ผู้ริเริ่มแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม เผยว่า จุดเริ่มต้นมาจากที่ ก่อนหน้านี้มีเพื่อนหลายคนที่ทำธุรกิจร้านอาหารกลางคืน จำหน่ายแอลกอฮอล์ได้รับผลกระทบ ก็พยายามปรับตัวมาเป็นอาหารปกติทั่วไป


แต่ล่าสุดกลับออกประกาศไม่ให้นั่งรับประทานในร้าน ทำให้ตนเองรู้สึกโกรธ และมองว่าทำไมร้านอาหารต้องยอมกับคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน จึงเป็นที่มาของการพิมพ์ระบายลงใน Facebook ส่วนตัวหลังคำสั่งออก ปรากฏว่ามีคนแชร์เป็นจำนวนมาก จึงมองว่ามีคนอีกจำนวนมากที่เดือดร้อน


จนถึงตอนนี้ มีร้านเข้าร่วมแคมเปญมากกว่า 200 แห่งแล้ว โดยร้อยละ 90 เป็นร้านในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล ซึ่งมีตั้งแต่ร้านข้าวมันไก่ ร้านลาบ ร้านส้มตำ ร้านกาแฟ ร้านชานม รวมถึงร้านขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการทุกขนาดประเภทต่างกระทบหนัก ทำให้โครงการของตน จะเริ่มเฟดแรกได้ในสัปดาห์หน้า ด้วยการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ ดาวกระจายในหลายๆร้าน ในหลายพื้นที่ โดยจะประสานงานร้านพื้นที่กรุงเทพที่ร่วมลงทะเบียนมาเปิดกิจกรรม มีการขายเครื่องดื่ม อาหารกลับบ้าน และเปิดพื้นที่ให้เล่นดนตรีแบบ unplugged และมีการปราศรัยโดยไม่ใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งมั่นใจว่าจะมีผู้มาสนับสนุนร้านค้าเหล่านั้น


ส่วนนักดนตรีเอง ที่ขาดรายได้ ไม่มีที่เล่นมานาน ก็จะมีที่เล่นและมีผู้สนับสนุน โดยใน 1 วันจะทำเป็นดาวกระจายในหลายๆร้าน ในหลายพี้นที่


ส่วนตัวมองว่า สิ่งที่ต้องใช้ในตอนนี้ คือความกล้าหาญ นี่ไม่ใช่การยื่นหนังสือ การส่งเสียงเรียกร้องแต่คืออารยะขัดขืน ซึ่งเป็นสันติวิธีในการประท้วงอย่างแท้จริง


ทั้งนี้ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมามีคนติดจากร้านอาหารก็มี แต่เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว ไม่เท่ากับแคมป์คนงาน การลักลอบเข้าเมือง หรือบ่อนการพนัน จึงอยากให้รัฐบาลนำตัวเลขมาเปรียบเทียบ ส่วนตัวเชื่อว่ามีไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ ที่ติดโควิดจากร้านอาหาร หรือหากติดจากร้านอาหารจริง ก็สามารถระบุเจาะจงร้านได้ และควบคุมการระบาดได้ง่ายกว่าธุรกิจอื่นๆด้วยซ้ำ และปัจจุบันไม่ว่ากิจกรรมใดในสังคมไทย ล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่หากยังเสี่ยงให้คนอดตายด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องดีแน่


อย่างไรก็ตามเข้าใจว่า หลายคนก็มีความเห็นหลากหลาย และเตือนว่าอาจเข้าข่ายความผิดกฎหมาย หรืออาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมระบบสาธารณสุข แต่ส่วนตัวมองว่า หากตนกลัวก็คงไม่ทำ และอยากบอกว่าความกลัวมันจะถูกปลดปล่อยออกไป เมื่อโดนกดขี่มากขึ้น และถ้าผู้คนกลัวคงไม่มีคนออกมาแสดงพลังมากขนาดนี้


พร้อมกันนี้ ยังบอกว่า ในหลายประเทศทั่วโลก ก็มีการล็อกดาวน์ หรือ ให้ผู้ประกอบการปิดร้านค้า ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ในการทำมาหากิน ซึ่งตามแนวทางจะต้องมีการเจรจา และการชดใช้ แต่รัฐบาลกลับไม่มีการเยียวยาที่เพียงพอ แต่เป็นการให้เงินเพียง 2,000 ถึง 3,000 บาท ซึ่งไม่สามารถเทียบได้กับค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ร้านต้องแบกรับ ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ควรจะให้ร้านอาหารกลับมาเปิดนั่งรับประทาน เพราะที่ผ่านมาร้านให้ความร่วมมือมาตลอด และหากนั่งรับประทานในร้านและมีคลัสเตอร์เกิดขึ้น ก็จะต้องมีคลัสเตอร์ร้านอาหารมากกว่า 100 แห่งแล้ว แต่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเปิด หรือปิด ตัวเลขของผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งแทบจะไม่เกี่ยวกับการนั่งรับประทานในร้านเลย



อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://youtu.be/u-q9aYHzF6g

คุณอาจสนใจ

Related News