เศรษฐกิจ

'กิตติรัตน์' ซัดหนัก 'รสนา' หลังบอกเงินดิจิทัลเป็น 'เงินเลว' ชี้ฮ่องกงทำแล้วเป็น 'เงินดี'

โดย nattachat_c

23 ต.ค. 2566

146 views

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เวลา 19.09 น. รสนา โตสิตระกูล ได้โพสต์ฟซบุ๊ก ระบุใจความว่า 


เรียกร้องสตง. ร่วมกับ กกต. และ ป.ป.ช หยุดยั้งการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อหยุดยั้งความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ


นักเศรษฐศาตร์การเงินท่านหนึ่ง ให้ความรู้ดิฉัน ว่า  เงินดิจิตอล Wallet 560,000 ล้านบาท ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จะถูกจำแนกเป็นเงินเลว (Bad Money) คือ เป็นเงินที่เลวกว่าเงินบาทธรรมดา  เพราะใช้ได้ในเวลาจำกัดแค่ 6 เดือน ใช้ในพื้นที่จำกัด ในรัศมี 4 กิโลเมตร และใช้กับคนที่ลงทะเบียนรับได้เท่านั้น


มีข้อจำกัดห้ามใช้มากมาย เช่นห้ามเอาไปจ่ายหนี้ ห้ามเอาไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้นฯลฯ โดยสรุปมันคือเงินบาท ที่เลวกว่าเงินบาทในระบบเศรษฐกิจ


และตามทฤษฎีมันก็จะต้องถูก ดิสเคาท์ (ลดมูลค่า) เช่น อาจจะเหลือมูลค่าเพียงแค่ 70% หรือ 60% หรือ 50% หรือ 40% ด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลต้องออกงบประมาณ หรือกู้เงินมาโปะเต็มจำนวน 100% 560,000 ล้านบาท


และตามทฤษฎี คนจะรีบใช้เงินเลวนี้ก่อนเงินดี คนจะแย่งกันใช้แบบไม่ลืมหูลืมตา เหมือนมีคูปองต้องรีบฉีกใช้ให้หมดภายในเวลาที่กำหนดไว้ 6 เดือน


ทำไมต้องเอาเงินดี ๆ 560,000 ล้านบาท มาแลกเงินเลว ๆ แบบนี้ ถ้าไม่มีอะไรแอบซ่อนอยู่ ใช่หรือไม่ การทำอะไรที่ซับซ้อนให้คนตามไม่ทัน น่าสงสัยว่าจะมีการทุจริตซ่อนอยู่ ใช่หรือไม่


ผลที่ตามมาในระยะสั้น คนขายของที่ได้รับเงินเลวนั้น ก็จะดิสเคาท์ค่าเงินนั้น หรือในทางตรงกันข้าม ก็จะขึ้นราคาสินค้า ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ที่นายกฯบอกว่า จะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นพายุหมุนที่พัดพาบ้านเรือนพังพินาศมากกว่า  ใช่หรือไม่


รัฐบาลพรรคนี้ ที่มีอดีตนายกฯที่อ้างว่า สามารถหยิบเงินที่อยู่ในอากาศมาใช้นั้น ตอนนี้กำลังจะเอาเงิน 560,000 ล้านบาทที่เป็นเงินดีจากภาษีประชาชน ไปเปลี่ยนเป็นเงินเลว ที่รัฐบาลเสกออกมาจากอากาศแบบมายากล ใช่หรือไม่


อดีตผู้ว่าฯแบงค์ชาติ เคยบอกเงินดิจิทัลที่จะแจก 560,000 ล้านบาท จะทำให้ค่าเงินบาทขาดเสถียรภาพ เพราะจะทำให้เกิดเงินบาท 2 แบบ (2 tier system)ในเมืองไทย และทำให้เงินบาททั้งระบบด้อยค่าไม่มีเสถียรภาพ


เงิน 560,000 ล้านบาท เทียบกับปริมาณเงินในระบบฐานเงินทั้งหมดที่มีอยู่ 19 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 3% ดังนั้น ชาวต่างชาติจึงรีบเทขายเงินบาททิ้ง ทำให้เงินบาทอ่อนค่าจาก 35 บาทเป็น 37 บาท คิดเป็นประมาณ 5%


ดังนั้น คนไทยทั้งประเทศเสียค่าโง่ไปเรียบร้อยล่วงหน้าแล้ว คือทั้งประเทศจนลงไป เพราะค่าเงินล่วงหน้าแล้ว ประมาณถึง 5% จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลนายเศรษฐา ใช่หรือไม่


ดิฉันขอเรียกร้องไปถึงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โปรดดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ที่บัญญัติว่า


มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการระงับยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่า ด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรงต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณา


ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นพ้องด้วยกับผลตรวจสอบตามวรรคหนี่ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน ในกรณีที่ประชุมมีมติเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการที่ลงคะแนน ให้ประธานกรรมการ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติร่วมกันลงนามในหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย


มาตรา 8 ดังกล่าวได้มีการบรรจุไว้ใน พรป. การตรวจเงินแผ่นดิน 2561 เพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ ที่เคยเกิดขึ้นกับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลก่อนหน้านี้  แต่โดยที่ในสมัยนั้นยังไม่ข้อกฎหมายใด หยุดยั้งนโยบายจำนำข้าว องค์กรอิสระจึงทำได้แค่เตือน แต่เมื่อรัฐบาลไม่ฟังจนเกิดความเสียหาย จึงทำได้แค่การเอาผิดนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเท่านั้น แต่ไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศได้ แม้จะมีรัฐมนตรีในคดีทุจริตจำนำข้าวต้องติดคุก 48 ปี ส่วนนายกรัฐมนตรีต้องหนีคดีไปต่างประเทศ


สำหรับกรณี แจกเงินดิจิทัล10,000 บาท นักวิชาการ และอดีตผู้ว่าแบงค์ชาติเตือน และบอกถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น แต่รัฐบาลไม่ฟัง ดึงดันจะทำให้ได้ จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยเดิมอีก ไม่ควรปล่อยให้วัวหายค่อยล้อมคอก เพราะเวลานี้ มีกฎหมายให้องค์กรตรวจสอบสามารถตรวจสอบ และหยุดยั้งได้ เรียกว่าสามารถล้อมคอกก่อนวัวหาย


ขณะนี้ รัฐบาลไม่รับฟังเสียงคัดค้านของนักวิชาการ อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติ และประชาชน  มีเพียงทางเดียวที่จะหยุดยั้งความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศได้ คือองค์กรตรวจสอบทั้งหลายจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ด้วยการหาข้อมูลจากอดีตผู้าว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ ทั้งในเรื่องที่ขัดต่อกฎหมาย และโอกาสเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ก่อหนี้สาธารณะโดยไม่จำเป็น และต้องทำหน้าที่สะกัดกั้นความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศ เป็นการล้อมคอกก่อนวัวหายอย่างที่เคยเกิดขึ้น

------------

‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ โต้ ‘รสนา’ โดนนักเศรษฐศาสตร์ชี้นำ บิดเบือนด้อยค่า ‘เงินดิจิทัล’ หาเป็น ‘เงินเลว’ ยกกรณีฮ่องกง บอก การมอบเงินดิจิตัลที่มีเงื่อนไขการใช้จ่าย แท้ที่จริงเป็น ‘เงินดี’ ตามภารกิจกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โอด ช้ำใจมีคนเรียก ‘กะลาแลนด์’ ขยับซ้ายก็ไม่เอา ขยับขวาก็ไม่ยอม  เอาแต่จมปลักทับปัญหาไว้


วันที่ 22 ตุลาคม 2566 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า


“นักเศรษฐศาสตร์การเงิน คนหนึ่งชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งก็รู้จักมักคุ้นกับคุณรสนา โตสิตตระกูล ผ่านความชื่นชอบหลงไหลในศิลปะการดนตรี ได้อ่านความคิดของนักเศรษฐศาสตร์การเงินอีกท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครเพราะคุณรสนา มิได้ระบุนาม และนำความคิด ด้อยค่า เงินดิจิตัล วอลเล็ต (Digital Wallet) ว่าเป็นเงินเลว (Bad Money) มาชี้นำคุณรสนา


ผมไม่ขอชี้นำอะไรท่านนะครับ ขอเพียงตั้งข้อสังเกต และคำถามต่อนักเศรษฐศาตร์ฯ ท่านนั้น ผ่านคุณรสนา และหวังลึก ๆ ว่า ข้อสังเกตและคำถามของผมอาจทำให้คุณรสนา และมิตรสหายของท่านฉุกใจขี้นมา ว่า น่าจะลองฟังความให้ถ้วนถี่อีกสักครั้ง ก่อนจะปักใจไปทางหนึ่งทางใด



1. ท่านทราบไหมครับว่า คำว่า "เงินเลว (Bad Money)" เป็นคำที่ผู้บริหารการคลังของอังกฤษ คือ Sir Thomas Gresham ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1558 (พ.ศ.2101)


แต่มาโด่งดังจนเป็นรู้จักกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า Gresham's Law ใน ค.ศ. ที่ 19 ซึ่งหากจะพยายามนำมาใช้กับกรณีนี้ ผมตีความในทางบวกได้ว่า เงินที่ว่าเลวนั้น สามารถทำหน้าที่ของการเป็นตัวกลางของการจับจ่ายใช้สอยที่ดี เมื่อลดความน่าเก็บสะสม


ซึ่งเราทุกคนย่อมทราบดีว่า ในยามที่เราจำเป็นต้องกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การมีเงิน หรือรับเงินไป แล้วถูกใช้จ่ายในกรอบเวลา และใช้จ่ายไปกับสิ่งที่พึงประสงค์  จะกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี "เงินเลว (Bad Money)"  จึงเป็นเงินที่ดี ตามภารกิจได้ 


จึงขอกราบฝากคุณรสนา เรียนถามนักเศรษฐศาสตร์ฯ ท่านนั้นว่า ท่านเข้าใจ Gresham's Law  แบบที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนองเขาเข้าใจไหม ?


2. นอกจากการนำคำนิยาม "เงินเลว (Bad Money)" เก่าแก่ในอดีต  มาใช้เชิงวาทกรรม แต่ไม่อิงความหมายที่ลึกซื้งแล้ว ท่านนักเศรษฐศาสตร์ฯ ท่านนั้น ไม่สังเกตเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัว ในปัจจุบัน คือ ค.ศ. 2023 (พ.ศ.2566) ของเขตเศรษฐกิจสำคัญของเอเชีย ใกล้บ้านเราคือ ฮ่องกง บ้างเลยหรือครับ


" In 2023, all Hong Kong permanent residents can receive the full payout of HK$5,000. Those who are not permanent residents, but who have come to the city to study or work, will receive HK$2,500, or half of the payout. Domestic workers are exempt from any payout.


ประชาชน "ชาวฮ่องกงทุกคน" ได้รับเงิน 5,000 เหรียญฮ่องกง หรือประมาณคนละ 23,000 บาท โดยรับเงินผ่านดิจิตัล วอลเล็ต เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2566 จำนวน 3,000 เหรียญฯ และหากใช้จนหมดภายในวันที่ 30 มิ.ย. ก็ได้รับอีก 2,000 เหรียญฯ ที่เหลือตามสิทธิ์เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2566


นอกจากนั้น นักเรียน หรือ ผู้มาทำงานระยะยาว ก็ได้รับเงินครึ่งหนึ่งหรือ 2,500 เหรียญฮ่องกงด้วย


นักเศรษฐศาสตร์ฯ ท่านนั้น ไม่ได้ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจการเงินในต่างประเทศบ้างเลยหรือครับ ?


ท่านคิดไหมว่าการมอบเงินดิจิตัลที่มีเงื่อนไขการใช้จ่ายที่ถูกด้อยค่าว่าเป็น "เงินเลว (Bad Money)" นั้น แท้ที่จริง เป็น "เงินดี (Good Money)" ตามภารกิจกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ?


ท่านนักเศรษฐศาสตร์ฯ ท่านนั้น บิดเบือนด้อยค่าดิจิตัล วอลเลต ให้คุณรสนาเข้าใจผิดจนตกอกตกใจนำไปถ่ายทอดกับมิตรสหายผู้หวังดีกับประเทศชาติทำไม ?


หากคุณรสนา ยังไม่คลายความสงสัย ผมยินดีไปขอพบเพื่อปุจฉา วิสัชนา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจการเงิน เรื่องศิลปะการดนตรี หรือเรื่องอื่นใดที่อาจจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนได้อีก ผมจะยินดีเป็นที่สุดครับ


ผมจบตรงนี้ ขอผู้พบเห็นข้อความนี้ โปรดอย่าตามมาด้อยค่านโยบาย ดิจิตัลวอลเลต (Digital Wallet) ของรัฐบาลเลยนะครับ ว่าไปลอกใครมา แบบคนที่มีอคติที่พอเห็นใครทำอะไรคล้ายใครก็จ้องตำหนิว่าลอกเขามา แต่พอทำไม่เหมือนใครเอาเสียเลยก็ด่วนกล่าวหาว่า "ทำเสี่ยง ทำประหลาด"


ผมช้ำใจทุกครั้ง ที่มีคนเรียกเราว่า "กะลาแลนด์" คือขยับซ้ายก็ไม่เอา ขยับขวาก็ไม่ยอม เอาแต่จมปลักทับปัญหาไว้ เราอย่าปล่อยให้ผู้คนส่วนใหญ่ แต่เสียงเบา ต้องลำบากยากจนแบบไม่คิดแก้ไขกันเลยนะครับ”

------------
วันที่ 20 ตุลาคม 2566 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า


รัฐบาลกำลังขอคนไทย 56 ล้านคน และ ภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่-รายกลาง-รายย่อย ช่วยปฏิบัติการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตตามศักยภาพ


จะทนเติบโต กระเตาะกระแตะต่ำเตี้ยอย่างที่เป็นมา เป็นอยู่ และจะเป็นต่อไป จนคนจบการศึกษามาหางานทำแทบไม่ได้ทำไม ?


ขอเพียงท่านๆ ทั้ง 56 ล้านคน ทั้งรวย ทั้งไม่รวย ช่วยเป็น "ผู้ใช้เงินที่ชาญฉลาด" ซื้อสิ่งของที่มีประโยชน์ และยิ่งถ้าเน้น ไทยทำ-ไทยใช้-ไทยเจริญ หรือยิ่งกว่านั้นถ้าเป็น อำเภอเราทำ-อำเภอเราใช้-อำเภอเราเจริญ จะยิ่งยอดเยี่ยมเป็นที่สุด


ท่านไม่ต้องห่วง "ของเเพงเพราะแรงซื้อเพิ่ม" นะครับ คณะรัฐมนตรี บุคลากรภาครัฐทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ และทีมงานที่ปรึกษาของ นรม. เศรษฐา ทวีสิน กำลังเร่งทำงานกับทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มผลิตภาพของสินค้าและบริการให้พร้อมรองรับกำลังซื้อของท่าน


โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการหลุดพ้น "กับดักแห่งความเขลา" ที่มักอ้างวินัยการเงิน เอาใจผู้ปล่อยกู้ให้โขกดอกเบี้ยสูงๆ (และยิ่งสูงขึ้น) ในภาวะ "หนี้สาธารณะของรัฐบาล ต่ำกว่า หนี้ครัวเรือนท่วมประชาชน"


กำลังซื้อรอบแรกในรูป ดิจิตัล บาท  จะสามารถส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายระลอก


ธุรกิจจะเริ่มรอด; NPLจะเริ่มลด; คนจบใหม่จะเริ่มมีงานทำ ผู้คนจะมีความหวัง


ส่วนจะส่งผลแรงขึ้น หรือมากรอบ กว่าที่ "นักโบราณคดีทางเศรษฐมิติ" ปรามาสไว้เพียงใด อยู่ที่เราๆ ท่านๆ ครับ


ขอกำลังใจให้ นรม.เศรษฐา ทวีสิน ครับ

------------



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/RYZ6VVrV47M


คุณอาจสนใจ

Related News