เลือกตั้งและการเมือง

'จุลพันธ์' ยันไตรมาสสี่ปีนี้ คนไทย 50 ล้านคนได้ 'เงินดิจิทัลหมื่นบาท' แน่ แต่ยังเม้มที่มาของเงิน

โดย nattachat_c

26 มี.ค. 2567

312 views

วานนี้ (25 มี.ค.67) ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงความคืบหน้าโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า


ไทม์ไลน์หลังจากนี้ ช่วงเริ่มโครงการจะชัดเจน โดยในวันที่ 27 มี.ค. จะนัดหมายประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเรื่องที่คณะกรรมการไปสอบถามหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาคประชาชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา


รวมถึง นำรายงานข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฉบับทางการ เข้าสู่ที่ประชุม โดยยังเปิดการรับฟังถึง 29 มี.ค. ก่อนจะสรุปรายละเอียดอีกครั้ง


หลังการประชุมวันที่ 27 มี.ค. จะมอบหมายให้แต่ละส่วนงานไปดำเนินการในรายละเอียด  และจะนัดประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง ในวันที่ 10 เม.ย. เพื่อสรุปรายละเอียดของโครงการทั้งหมด รวมไปถึงเงื่อนไขการแจกเงิน เพื่อนำส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ดังนั้น ทุกอย่างน่าจะชัดเจน หลังวันที่ 10 เม.ย. และสามารถชี้แจงต่อสื่อมวลชนได้


“เราได้วางกรอบการทำงาน โดยพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นกรอบทางกฎหมาย กรอบทางการเงิน รวมถึงระบบต่าง ๆ และได้กำหนดคร่าว ๆ ว่า ไตรมาส 3 ของปีนี้ จะเปิดลงทะเบียนร้านค้า และให้ลงทะเบียนประชาชน ระบบน่าจะพร้อมแล้วในช่วงนั้น และในไตรมาส 4 ของปีนี้ ก่อนสิ้นปี จะมีการเติมเงิน 10,000 บาท ให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์ได้”

------------

จากนั้น นายจุลพันธ์ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม


เมื่อถามว่า แหล่งที่มาของเงินมาจากไหน นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ตอนนี้ มีเงินแล้ว แต่ขอยังไม่เปิดเผย เพราะต้องรอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ยืนยันได้ว่า เดินหน้าโครงการแน่นอน เงินจะถึงมือประชาชนภายในปลายปีนี้ จะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้ขอเพียงแค่วางกรอบกว้าง ๆ ไว้ก่อน


เมื่อถามว่า สรุปจะไม่กู้แล้วใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดเช่นนั้น แต่เรื่องแหล่งที่มาของเงิน ขอรอคณะกรรมการชุดใหญ่สรุปก่อน แล้วจะตอบคำถามนี้ ย้ำว่ามีเงินแน่นอน


ผู้สื่อข่าวพยายามถามเรื่องแหล่งที่มาของเงิน แต่นายจุลพันธ์ ยิ้มและหัวเราะแทน พร้อมกล่าวว่า ตนขออนุญาตไม่ตอบคำถาม ก่อนเข้าที่ประชุม


ส่วนเรื่องเงื่อนไขของผู้ที่ได้รับเงิน แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังยึดที่ 50 ล้านคนตามเกณฑ์เดิม อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยมาก ๆ ขอสรุปในที่ประชุม เพราะตนไม่สามารถพูดก่อนมีมติได้


เมื่อถามว่าสถานการณ์วิกฤติหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราคงไม่มาเถียงกันในเรื่องนี้ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจ สิ่งที่ตรงกันคือควรมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าให้เติบโตอย่างเหมาะสม


เมื่อถามถึง รายงานของ ป.ป.ช. นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ต่างจากเดิม ไม่มีกระบวนการเพิ่มเติม แต่ครั้งนั้น เป็นการนำรายละเอียดจากที่ ป.ป.ช. แถลงข่าวไปหารือ เพราะแบบที่มีลายลักษณ์อักษรยังไม่ถึงมือ พร้อมย้ำว่า ยังไม่มีมติคณะกรรมการ ยังฟันธงไม่ได้


เมื่อถามว่า ทำไมถึงมั่นใจว่าจะแจกเงินประชาชนได้ ภายในไตรมาส 4 นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มั่นใจ เพราะเราดูในข้อกฎหมาย และรายละเอียดแล้ว มันอยู่ในกรอบที่สามารถดำเนินการได้ และได้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ครบถ้วน ซึ่งได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ จนได้ข้อสรุปในเบื้องต้น เชื่อได้ว่าจะไม่ติดขัดอะไร


เมื่อถามว่า จะแบ่งจ่ายหรือจ่ายรอบเดียว เพราะถ้าแบ่งจ่าย 2 งวด หมายความว่าจะใช้เงินงบประมาณปี 2568 ใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ ระบุว่า ขอให้รอฟังจากที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่


เมื่อถามว่า ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่หลายคนพูดถึง ยังมีหรือไม่ ภายใต้แผนใหม่ที่ดำเนินการ นายจุลพันธ์ นิ่ง ก่อนกล่าวว่า กลไกที่เราดู ต้องหาหนทางปิดจุดอ่อน รวมถึงปัญหาที่หลายคนสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิกฤติหรือไม่วิกฤติ เราก็พยายามทำให้เดินหน้าได้ โดยที่ไม่มีปัจจัยความเสี่ยงเหล่านั้น


เมื่อถามว่า จะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ก่อนหรือหลังสงกรานต์ นายจุลพันธ์ ระบุว่า ไม่ทัน ประชุมก็วันที่ 10 แล้ว เอาเป็นว่าเร็ว ๆ นี้


เมื่อถามถึงกรณี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายว่าเข้าข่ายซื้อเสียงนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนยืนยันว่าไม่ใช่นโยบายที่จูงใจเพื่อคะแนนนิยม ถ้าเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ คล้ายกับเบี้ยคนชรา และบัตรคนจน ซึ่งต้องขอบคุณ กกต.ที่เข้าใจ และเคยแถลงชี้แจงแล้วว่า นโยบายดังกล่าวเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ถือว่านโยบายผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงมีภาระหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อประชาชน เราต้องเดินหน้านโยบายนี้ให้สำเร็จ


เมื่อถามย้ำว่า เงื่อนไขนโยบายตอนหาเสียงกับตอนนี้ไม่เหมือนกัน นายจุลพันธ์ ระบุว่า เวลาดำเนินนโยบายจึงจะต้องมีจุดที่ปรับแก้ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย


เมื่อถามว่า จะเลื่อนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่เลื่อนแล้ว


ช่วงหลังสัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า สว.อภิปรายว่า นายจุลพันธ์ ออกมาพูดว่าถูกตีหัว ใครตีหัว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า “ไม่บอกครับ”
---------------
สำหรับไทม์ไลน์การแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีดังนี้


วันที่ 27 มีนาคม

อนุคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเลต รายงานผลความคืบหน้า และคำตอบ จากที่ได้ไปสอบถามองค์กรที่เกี่ยวข้อง ( ส่งคำถามไปไม่น้อยกว่า 100 ส่วนงาน)


หลังวันที่ 27 มีนาคม

จะมีการมอบหมายให้แต่ละส่วนงานไปดำเนินงานในรายละเอียด ให้เป็นไปตามกฏหมาย รวมถึงคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนจะมาประชุม และสรุป เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่


วันที่ 10 เมษายน คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ จะสรุปรายละเอียด เงื่อนไขทั้งหมด แล้วนำส่ง ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเดินหน้าโครงการฯ


ไตรมาส 3 (ก.ค. - ก.ย.) ลงทะเบียนร้านค้า และ ลงทะเบียนประชาชน


ไตรมาส 4 (ต.ค. - ธ.ค.) ก่อนสิ้นปี จะมีการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้ถึงมือประชาชนที่อยู่ในเกณฑ์ ประมาณ 50 ล้านคน

-------------
วานนี้ 25 มี.ค. 67 นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. ได้ลุกขึ้นอภิปรายนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ในประเด็นต่างต่าง ๆ ดังนี้


นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เรื่องหนี้ครัวเรือน พูดกันทั่วไปว่านายกรัฐมนตรีที่ชื่อเศรษฐา จะพาคนไทยไปเป็นเศรษฐี ปิดสวิตช์ สว. ปิดสวิตช์ 3 ป. เพื่อไทยเป็นรัฐบาลประเทศไทยเปลี่ยนทันที คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ยังก้องอยู่ในโสตประสาทคนไทยทั่วประเทศ ท่านหัวหน้าพรรคเพื่อไทยท่านว่าไว้ ตอนนี้ คนไทยเป็นอย่างไร ประเทศไทยตอนนี้มีหนี้ครัวเรือน 92% ของจีดีพี หรือประมาณ 6.2 ล้านล้านบาท ขอถามนายกรัฐมนตรีว่า ท่านจะแก้ไขอย่างไร


นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตามรัฐธรรมนูญ ในกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่าให้มีกลไกความรับผิดชอบทางการเมืองที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบ นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงินตามประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงิน ความคุ้มค่าผลกระทบ และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน


ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายนี้ จากเอกสารแจกแจงรายละเอียดที่เผยแพร่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า พรรคเพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะแจกเงินให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ประมาณ 56 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567


ซึ่งระหว่างที่นายเฉลิมชัยกล่าวนั้น นายกรัฐมนตรีได้ลุกออกไปจากห้องประชุม ทำให้นายเฉลิมชัย กล่าวด้วยท่าทีมีอารมณ์ว่า “ท่านฟังผมด้วยนะครับ อย่าให้รัฐมนตรีช่วยฟังผมอย่างเดียว ท่านต้องฟังผมด้วย ถ้าท่านนายกฯ ไม่มานั่งฟัง เขาก็ไม่ได้เรียกคณะรัฐมนตรีนะ คณะรัฐมนตรีตามมาตรา 158 ประกอบไปด้วยนายกฯ กับรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น คณะรัฐมนตรีก็ต้องมีนายกฯ ท่านออกไปก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวท่านก็กลับมา ก็ให้อภัย”


นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ประกาศทุกเวทีว่า จะไม่กู้เงิน แต่ตอนนี้เป็นอย่างไร ยังไม่รู้จะไปไหน ตนมีข้อสังเกตว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลมีลักษณะสัญญาว่าจะให้ “ใส่ซองพันสองพันก็ยังผิด อันนี้หาเสียงโจ่งครึ่มเลย อาจจะผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 73(1) ที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัครผู้ใดเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด มีโทษจำคุกหนึ่งถึง 10 ปีปรับ 20,000 ถึง 200,000 เพิกถอนสิทธิ์ 20 ปี”


แต่ กกต.กลับบอกว่าทำได้ เพราะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ได้ระบุว่า นโยบายนี้จะทำหน้าที่เป็นชนวนกระตุกเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ขยายกิจการผลิตสินค้า เกิดการจ้างงาน การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และมีการแถลงนโยบาย 11 กันยายน 2566 แต่กลับไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล


ตนตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 162 หรือไม่ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ


“ผมดูคำแถลงนโยบายมี 42 หน้า หายไปบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ 42 หน้า ไม่ได้บอกว่าเอาเงินมาจากไหนเหมือนที่โฆษณาหาเสียง และนายกเศรษฐาก็ไม่ได้พูดนอกเหนือจากคำแถลงนโยบาย”


นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า นายเศรษฐาได้แถลงข่าวอ้างวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมีเงื่อนไขเปลี่ยนไป ทำให้ต้องกู้เงิน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ ตอนหาเสียงบอกจะใช้งบประมาณ 2567 ตั้งรัฐบาลได้บอกผมขอกู้ เป็นข้อบ่งชี้ว่า การหาเสียงที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีความรับผิดชอบ สักแต่จะให้ชาวบ้านเลือก


นายเฉลิมชัย ยังกล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บอกว่า การหาเสียงแบบนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปสำหรับพรรคการเมือง ตนจึงขอกล่าวหาด้วยวาจาว่า การที่ กกต. ใช้ดุลยพินิจในนโยบายดิจิทัล บอกว่าทำได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 162 หรือไม่ ถ้าขาดก็เป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พร้อมถามว่า ป.ป.ช. เปิดโทรทัศน์ ดูหรือเปล่า ถ้าเปิดดู ขอให้ทราบว่าผมกล่าวหาไปแล้ว ในเมื่อ กกต. บอกว่าทำได้ ก็ไปคุยกันที่ ป.ป.ช.


นายเฉลิมชัย ยังชี้แจงอีกว่า ในการหาเสียงนั้นการแจกซอง 1,000 - 2,000 ก็ยังผิด แต่การหาเสียงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยนั้นทำอย่างโจ๋งครึ่ม ซึ่งอาจผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ม.73 (1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ที่อาจคำนวณได้แก่ผู้ใด โดยศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี


อย่างไรก็ตาม นายเฉลิมชัย ได้ขอร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยวาจากลางเวทีอภิปราย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ม.60 เพื่อกล่าวหาต่อครม. และ กกต. ว่า จงใจปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงตามกฎหมาย และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ ม.234 และ ม.235 หรือไม่


เนื่องจาก กกต. ระบุว่า นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตสามารถทำได้ เพราะใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ขณะที่ ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 กลับแจกแจงที่มาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. และกกต. มีความโปร่งใส่ มีบรรทัดฐานถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจึงขอให้ ป.ป.ช. เข้ามาไต่สวน 2 เรื่องนี้


โดย ม.234 นั้นบัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ และอำนาจในการไต่สวน และมีความเห็นกรณีที่มีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย หรือฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง


นายเฉลิมชัย ชี้ว่า หากมีเหตุอันควรสงสัยก็จะสอดคล้องกับ ม.235 คือ หาก ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดที่อยู่ ให้ดำเนินการดังนี้ หากฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงให้เสนอต่อศาลฎีกา หากเป็นกรณีอื่นให้ส่งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากศาลฎีกาลงตรารับฟ้องก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และถ้าพบความผิดก็อาจถูกเพิกถอนสิทธิ์ และมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ม.157 ของประมวลกฎหมายอาญา


นายเฉลิมชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยังบอกว่าปัญหาเศรษฐกิจยังไม่วิกฤติ เพียงแต่ชะลอตัว นายกรัฐมนตรีก็เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เลื่อนแล้ว เลื่อนอีก เลื่อนต่อไป นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยฯ นั่งอยู่ตรงนี้ ก็บอกว่าแจกแน่นอน แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ เพราะมีคนคอยดักตีหัวอยู่ ตนถามว่าจริงหรือไม่ ถ้าไม่แจก เจ๊งเลยนะ เพราะเป็นนโยบายที่คนที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เสียงดังฟังชัดหาเสียงไว้ พร้อมย้ำว่า หากทำไม่ได้ก็ยอมรับกับประชาชน จะได้ไม่ติดคุกหัวโต

-------------

คุณอาจสนใจ

Related News