เศรษฐกิจ

'ศิริกัญญา' ซัดรัฐบาล แหกทุกกรอบวินัยการคลัง ใช้ท่ายากพิสดาร กู้ 3 ต่อ หางบแจกเงินดิจิทัล

โดย nattachat_c

3 เม.ย. 2567

46 views

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล ได้ทวีตเกี่ยวกับ 'นโยบายแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท' ว่า


[เบ่งงบ 68 + ออกงบกลางปี 67 + ยืมเงิน ธกส. ดันดิจิทัล วอลเล็ต]


เบ่งงบ 68 วันนี้ ครม.จะประกาศกรอบงบ 68 ใหม่ ที่จะต้องขยายเพิ่มอีกจาก 3.6 ล้านล้าน เป็น 3.8 ล้านล้าน ต้องเก็บภาษีเพิ่ม และต้องกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มเป็นเกือบ 9 แสนล้าน เพื่อเอาเงินไปทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่นั่นก็ยังไม่พอกับวงเงินโครงการ จึงต้อง...


ออกงบกลางปี 67 โดยขยายการกู้ชดเชยขาดดุลให้เต็มเพดาน 7.9 แสนล้าน และเพื่อจะทำให้ใช้เงินข้ามปีงบประมาณได้ ก็ต้องเอาไปใส่ไว้ในกองทุน ซึ่งน่าจะเป็นกองทุนประชารัฐ (บัตรคนจน) แต่เงินก้อนนี้ก็ยังคงไม่พอใช้ทำโครงการ จึงต้อง...


ยืมเงินธกส. ตามม.28 โดยบิดว่าเงินส่วนนี้จะนำไปแจกเฉพาะเกษตรกร ซึ่งน่าจะทำให้เงินกู้ตามม. 28 ทะลุเพดานกรอบวินัยการคลังไปไกล ต้องออกประกาศขยายเพดานเงินกู้ในเร็ววัน แถมยังต้องเสี่ยงกับ กม.ธกส.ที่ไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์เอาไว้


โดยสรุปคือ กู้ 3 ต่อ เพื่อให้ได้ 5 แสนล้าน แบบถูกกฎหมาย? ตั้งขาดดุลกระฉูด ภาระดอกเบี้ยบาน


รอบนี้ใช้ท่ายากพิสดาร ทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะสร้างความปั่นป่วนสับสนอลหม่านขนาดไหน ฉีกทุกกฎ แหกทุกกรอบวินัยการคลัง เพียงเพื่อให้ได้ทำดิจิทัลวอลเล็ตปลายปีนี้...#เพื่อใคร?

-----------

วานนี้ (2 เม.ย. 67)  นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังฯ เสนอ  เพื่อนำไปประกอบการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บ หรือหารายได้การจัดทำงบฯ  และการก่อหนี้ของหน่วยงานรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 ต่อไป


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนฯ ปีงบฯ 68-71 ครม. ได้มีมติเห็นชอบไว้แล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ดี เพื่อให้ทิศทางการดำเนินนโยบายการคลังมีความสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน คกก.นโยบายการเงินการคลังฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 จึงได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน


โดย แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน ประกอบด้วย 3 ส่วน มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้


1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ

ในปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.8 - 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.6 สำหรับในปี 2569 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8 - 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และในปี 2570 และ 2571 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.7 - 3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 - 2570 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3 - 2.3 และในปี 2571 - 2572 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5


2. สถานะและประมาณการการคลัง

2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 - 2571 เท่ากับ 2,887,000 3,040,000 3,204,000 และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ


2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 - 2571 เท่ากับ 3,752,700 3,743,000 3,897,000 และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ


2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 - 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 865,700 703,000 693,000 และ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.42 3.42 3.21 และ 3.01 ต่อ GDP ตามลำดับ


2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.44 ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2568 - 2571 เท่ากับร้อยละ 66.93 67.53 67.57 และ 67.05 ตามลำดับ


3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง

ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป


สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง


ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

-----------

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มีการปรับกรอบการคลังระยะปานกลาง เนื่องจากขณะนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และต่ำกว่าการเติบโตตามศักยภาพสะท้อนจากจีดีพีปี 67 ขยายตัวที่ 2.7% และไตรมาส 4 ปี 66 จีดีพีหดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 66


อีกทั้ง เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหาทั้งภายนอก และภายในประเทศ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อการฟื้นตัว และการขยายตัวของเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย และสูงกว่าอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ และเพื่อให้มีแผนการคลังระยะปานกลางที่สอดคล้องกับสถานการณ์


เมื่อถามว่า ต้องการเม็ดเงินไปใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ใช่หรือไม่ โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ในแผนการคลังระยะปานกลางพูดถึงแต่การปรับกรอบเท่านั้น


ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคือ ต้องทำให้จีดีพีโต หลังการขาดดุลงบปี 68 เพิ่มขึ้น ตัวเลขในปีต่อ ๆ ไปก็จะลดลงเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเมื่อเศรษฐกิจเติบโต หนี้สาธารณะต่อจีดีพีบางปีจะไม่เพิ่มขึ้น หรืออาจลดลง ตอนนี้ ต้องทำให้จีดีพีโตก่อน เป้าหมายคือต้องโตไม่ต่ำกว่าปีละ 3%”

-----------

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศให้อยู่ที่ 62-63% ของจีดีพี ทำให้มีพื้นที่ที่ทางการคลังเหลืออยู่ 7-8% ของจีดีพี ตามกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 70% ของจีดีพี เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงนี้ ที่เศรษฐกิจไทยโตเพียง 2% หากปล่อยให้โตเพียง 2% ไปเรื่อย ๆ กำลังซื้อคนระดับฐานรากจะได้รับผลกระทบ และกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ ปัญหาจะวนไปแบบนี้


หากเศรษฐกิจดี ประชาชนกินดีอยู่ดี มีกำลังซื้อ รัฐก็จะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น “การเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง เป็นนโยบายการคลัง เพื่อรองรับวิกฤติในอนาคต


วันนี้ เศรษฐกิจโตไม่เต็มศักยภาพ หากไม่ดำเนินการใด ๆ เศรษฐกิจไทยจะโตแค่ 1.5% การนำพื้นที่ทางการคลังที่เหลืออยู่ 7-8% มาใช้จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้บ้าง เพราะเพียง 7-8% หากเกิดวิกฤติขึ้นมาจริง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้”


นายลวรณกล่าวว่า มีคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ คาดว่ามีหลายโครงการที่จะใช้จ่ายไม่เต็มวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ เพราะมีเวลาใช้เงินเพียง 5 เดือน


ดังนั้น จะโยกวงเงินที่เหลือมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นวิธีบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด “การโยกเงินที่ใช้ไม่หมดของงบปี 67 เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการเงิน นอกเหนือจากการเพิ่มวงเงินขาดดุลงบฯปี 68 อีก 150,000 ล้านบาท”

-----------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/mDz-6Y5bEg0

คุณอาจสนใจ

Related News