เศรษฐกิจ

'เศรษฐา' ขนพรรคร่วมฯ แถลง ครม.เห็นชอบ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' โฆษกโต้ข้อครหาแจกเงินหมื่น เอื้อเจ้าสัว

โดย nattachat_c

24 เม.ย. 2567

28 views

เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.67)  เวลา 11.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นำแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล  ประกอบด้วย

  • นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์
  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
  • นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
  • ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
  • นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
  • พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ
  • นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง
  • นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง  
  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • สำนักงบประมาณ และเลขากฤษฎีกา
  • ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี


นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะทำงานที่เห็นชอบหลักการกรอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ โดยกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงบประมาณ จะศึกษารายละเอียดต่อไป


ส่วนข้อห่วงใย เช่น ประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ได้สั่งการหากมีประเด็นข้อสงสัยใดๆ ให้ส่งเรื่องไปสอบถามยังกฤษฎีกา ซึ่งทุกพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบในหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตดังกล่าว โดยนายจุลพันธ์จะชี้แจงในรายละเอียดต่างๆ หากสื่อมวลชนมีคำถาม” นายเศรษฐากล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าวดิจิทัลวอลเล็ต สื่อมวลชนได้เตรียมซักถาม ขณะที่นายกฯ ตัดบทจบการแถลงข่าว ทำให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหัวเราะ และแยกย้ายเดินทางกลับ โดยสื่อมวลชนได้ขอให้ตอบคำถามต่อ  นายกฯ ระบุว่า จะพูดเรื่องอื่นต่อ แต่เรื่องนี้จบแล้ว ยังมีเรื่องอื่นอีกเยอะ หากจะถามเรื่องเงินดิจิทัล ให้ถามนายจุลพันธ์ อยู่รอก่อน พร้อมกับยกนิ้วชี้ขึ้นมาที่ปากทำสัญลักษณ์ให้เงียบ พร้อมระบุอีกว่า ยังมีเนื้อข่าวอีกเยอะไม่ต้องห่วง

--------------

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะกรรมการนโยบายฯ) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 และมีมติเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้


กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท 


เงื่อนไขการใช้จ่าย

1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก


2. ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่ และขนาดร้านค้า


ประเภทสินค้า

สินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ได้แก่

  • สลากกินแบ่งรัฐบาล
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ยาสูบ
  • กัญชา
  • กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม
  • บัตรกำนัล
  • บัตรเงินสด
  • ทองคำ เ
  • พชร พลอย อัญมณี
  • น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ


ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ 


คุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ

ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้

(1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)

หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล


ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันที หลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้ เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป


แหล่งเงิน: มีแนวทางเกี่ยวกับแหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการฯ รวมเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท ได้แก่

(1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท

(2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท

(3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท


ไทม์ไลน์

ไตรมาส 3 - ลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน

ไตรมาส 4 - เริ่มใช้จ่ายผ่านแอปฯ 'ทางรัฐ'

-----------

นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  ชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต ถึงเหตุผลที่ยังไม่เคาะวันชัดเจนในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ยังเคาะวันไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบ ซึ่งจะเร่งรัดในกระบวนการทุกอย่างต้องรอบคอบ  โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรของแอปพลิเคชั่น ความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลของประชาชน และราชการ


รวมถึงการทำตัวเลขต้องมีความมั่นคงและปลอดภัย ฉะนั้นจะเร่งเกินไปโดยการไปกำหนดเวลาเพื่อบีบจนกระทั่งถึงเวลาแล้วเกิดปัญหา  ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ปฏิบัติ  ยืนยันตามกรอบเดิมลงทะเบียนในไตรมาส 3 และเปิดใช้ในไตรมาส 4


ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการกำหนดประเด็นการถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องใดบ้าง นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่ได้กำหนดประเด็น แต่นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. หากมีข้อสงสัยประเด็นใดก็ตามที่เป็นเรื่องของข้อกฎหมายให้ดำเนินการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. และตนได้เคยให้ข่าวไปหลายครั้ง ได้ดูในรายละเอียดแล้ว และมีความมั่นใจว่าเป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ แต่หากจะทำให้เกิดความกระจ่างชัด การสอบถามไปยังกฤษฎีกาเป็นสิ่งที่เราพร้อมอยู่ตลอดเวลา  


เมื่อถามว่าสรุปกระทรวงการคลังจะไม่ส่งให้กฤษฎีกาใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่ง ประเด็นใดก็ตาม หากมีข้อสงสัยในข้อกฎหมายมากกว่านั้น เราก็พร้อมที่จะส่งไป ไม่ได้มีประเด็น


เมื่อถามว่า สรุปคือกระทรวงการคลัง จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ธ.ก.ส.มีอำนาจในการให้เงินหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า “ประเด็นนี้คงต้องส่งครับ” เมื่อถามว่า ได้นำเรื่องเข้าบอร์ด ธ.ก.ส.เพื่ออนุมัติแล้วหรือยัง นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยัง ประเด็นของเรื่องนี้ขอเรียนว่า กระบวนการในการดำเนินการตามมาตรา 28 เป็นกระบวนการงบประมาณประเภทหนึ่ง เป็นการดำเนินการตามสิ่งที่เรียกว่านโยบายกึ่งการคลัง นโยบายนี้จะเริ่มดำเนินการได้ตามกรอบของมาตรา 28 ซึ่งจะเริ่มต้นประมาณเดือน ต.ค.  ระหว่างวันนี้จนถึงเดือน ต.ค. คงจะต้องดำเนินการอีกหลายๆ อย่างในรายละเอียดให้ครบถ้วน ในส่วนของคณะกรรมการกำกับซึ่งตั้งมาแล้ว  คงจะต้องไปประชุมหารือในรายละเอียดให้ครบ รวมถึงเรื่องการสอบถามกฤษฎีกา เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และพร้อมดำเนินการซึ่งเหลือเวลาอีก 4-5 เดือน


เมื่อถามว่า ระหว่างนี้จะดำเนินการคู่ขนานกันไปใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า แน่นอน มันเป็นกระบวนการที่วันนี้รับหลักการ ซึ่ง ครม.เห็นชอบในหลักการและต้องไปดำเนินการในรายละเอียดให้ครบถ้วน


เมื่อถามถึงเรื่องสภาพคล่องทาง ธ.ก.ส. อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนจะเริ่มใช้คืน ธ.ก.ส.ได้อย่างไร นายจุลพันธ์กล่าวว่า การถามคำถามอย่าชี้นำ เพราะคำถามบอกว่า ธ.ก.ส.มาสอบถามว่าให้มีความชัดเจน ซึ่ง ธ.ก.ส.ไม่ได้มีคำถามอะไรมาเลย


เมื่อถามว่าทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีการสอบถามในเรื่องนี้ นายจุลพันธ์ตอบว่า ไม่ใช่ สหภาพฯ ก็ไม่ได้ถามคำถามนั้น โดยสหภาพฯได้ถามในรายละเอียดต่างๆ ซึ่งตนได้ชี้แจงไปแล้ว ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันดีและสหภาพฯ มีความพร้อมในการดำเนินการนโยบายนี้เพราะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ในส่วนของสหภาพฯ ที่เขาเป็นห่วงที่สุดคือกรอบอำนาจหน้าที่ซึ่งเราได้เรียนแล้วตามมติ ครม.​ที่จะส่งสอบถามกฤษฎีกาเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจและพร้อม มีแค่นั้นในส่วนสหภาพฯ


“ส่วนคำถามที่เกี่ยวข้องกับสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.นั้น  ธ.ก.ส.มีความมั่นคงและอย่าลืมว่า ธ.ก.ส.รัฐบาลถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เรามีแต่เสริมความแข็งแกร่งให้กับ ธ.ก.ส. สิ่งที่ผมได้ชี้แจงกับสหภาพฯ มี 3 ประเด็นคือ 1.การดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. หากมีข้อสงสัยใดในการดำเนินการให้เกิดความกระจ่างชัดรัฐบาลยินดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฤษฎีกาก็ตาม 2.เสถียรภาพของ ธ.ก.ส. มีความมั่นคงสูง สิ่งที่เราจะดำเนินการอยู่ในศักยภาพที่ ธ.ก.ส.จะดำเนินการได้ โดยที่ไม่มีประเด็นปัญหาอะไร แต่รัฐบาลจะดำเนินการอะไรก็ตามแน่นอน มีแต่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับธนาคารในกำกับ เพราะ ธ.ก.ส.เป็นปีกหลักปีกหนึ่งในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาใช้บริการ ธ.ก.ส.มาโดยตลอด รัฐบาลชุดนี้แน่นอนเราเห็นความสำคัญ มีแต่จะทำให้แข็งแกร่งขึ้น และ 3. สิ่งที่ดำเนินการจะไม่กระทบต่อสวัสดิภาพสวัสดิการใดๆของพนักงาน ลูกจ้าง ธ.ก.ส. เด็ดขาด” นายจุลพันธ์กล่าว


ขณะที่นายเผ่าภูมิ​ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวยืนยันถึงระบบแอปพลิเคชั่นว่า ไม่มีปัญหาอะไร


โดยมี 2 ระบบ คือระบบการลงทะเบียน และระบบธุรกรรมทางการเงิน จะเป็นลักษณะเชื่อมต่อกันในหลาย ๆ ภาคส่วน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ระบบได้มีการพัฒนาและอยู่ในกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้ โดยจะเปิดให้มีการลงทะเบียนในไตรมาส 3 ปีนี้ และประชาชนจะได้รับเงินในไตรมาส 4 ส่วนรายละเอียดจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการอีกที เพื่อยืนยันข้อมูลในส่วนของแอปพลิเคชั่นอีกครั้ง


เมื่อถามว่าวันข้างหน้าหากมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา รัฐบาลจะร่วมกันรับผิดชอบทั้งคณะใช่หรือไม่ นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เรามีการเช็กรายละเอียดรอบคอบ ทั้งในส่วนอำนาจหน้าที่ และการได้มาของงบประมาณต่าง ๆ
-------------
นายชัย​ วัชรงค์​ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ เปิดเผยว่า


กระทรวงการคลังในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ ประโยชน์ที่จะได้ในโครงการนี้ปีงบประมาณ 2568 จะสามารถกระตุ้น GDP ได้ 1.2 -​ 1.8% ประโยชน์ของโครงการนี้ จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆโครงการในอดีตที่ผ่านมา ผลของการกระตุ้นไม่ได้จบเพียงปีเดียว ในทางเศรษฐกิจนักวิชาการกระทรวงการคลัง​ ได้จับตัวเลขมาโดยตลอดว่า แนวโน้มของการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่ครอบคลุม 3-4 ปี ไม่ใช่ปีแรก 1.2 ถึง 1.8 แล้วจบปีที่ 2 ถึงปีที่ 3 ก็จะยังมีการเติบโต ซึ่งตนได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญ​ ทางด้านเศรษฐกิจการคลังมาแล้วว่า การกระตุ้นเที่ยวนี้​ โดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต​ ซึ่งกำกับควบคุมว่าจะต้องใช้กับการซื้อสินค้าที่มีผลต่อ GDP สูง จะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 3.2 -​ 3.5 รอบ หรือ money multiplier แต่จะก่อให้เกิดตัวทวีคูณทางการคลังจะเกิดขึ้นประมาณ 1.2 -​ 1.4 เท่าของเม็ดเงิน 5 แสนล้านที่ใส่ไป​ นั่นหมายถึง​ 650,000 ล้านบาท​ ซึ่งจะเป็นตัวเลข GDP ที่จะโตใน 3 ปี


จากการที่ตนได้ไปศึกษาข้อมูลถึงข้อห่วงใย และข้อครหาว่าโครงการนี้ถูกออกแบบ และจะทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าเจ้าสัว และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น จากการตรวจสอบร้านสะดวกซื้อปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 14,500 สาขา ซึ่งมีเพียงครึ่งหนึ่ง เป็นของบริษัทเอกชน (บริษัท​ ซีพีออลล์) ​โดยตรง แต่ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์ และเมื่อเทียบกับจำนวนร้านค้าขนาดเล็ก และร้านค้าย่อย จากการลงตัวเลขในโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่ผ่านมา กระทรวงการคลังรายงานว่า มีตัวเลขร้านลงทะเบียน 1.2 ล้านร้าน​ ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าร้านค้าเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น ร้านค้าที่ประชาชนจะนำเงินดิจิทัลไปใช้ได้รอบแรกประมาณ​ 1.2 ล้านร้าน​ ส่วนข้อกังวลว่าจะผูกขาดร้านสะดวกซื้อ 14,500 บาทสาขา อีกครึ่งหนึ่งเป็นของแฟรนไชส์ ขอให้เปรียบเทียบดูร้านค้า 1.2 ล้านแห่งกับหมื่นกว่าแห่ง มันไกลกันเยอะ ดังนั้น โอกาสที่ประชาชนจะไปใช้จ่าย โดยที่ไม่เข้ากระเป๋าของเจ้าสัวจึงมีสูง​ ในข้อเท็จจริงจึงไม่เป็นไปอย่างที่กังวลใจ


รัฐบาลไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจ​ ว่าเงินที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ​ ไม่ควรเข้ากระเป๋าใคร​ หรืออย่างไร​ เราไม่ได้มองอย่างนั้น รัฐบาลมองว่า ถ้าเม็ดเงินนี้ผ่านมือประชาชนไปแล้ว เอาไปใช้จริงร่วมกันใช้อย่างเต็มที่ ผ่านกลไกทางด้านการค้า และในที่สุดเงื่อนไขการเบิกเงินก็ต้องเป็นผู้เล่นที่เป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี จึงจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ พร้อมยืนยันว่าไม่เคยคิดที่จะตั้งเงื่อนไข​ กีดกันใครก็ตามที่ทำมาหากินแล้วประสบความสำเร็จ​ เติบโตขึ้นมาบนระบบที่ถูกต้อง​ ยอมเสียภาษี​ และวันหนึ่งจะมาถูกต้องข้อรังเกียจว่าคุณหมดสิทธิ์เราจะไม่ทำอย่างนั้น

----------------

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล ทางหอการค้าฯ มีข้อสังเกตใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การดำเนินการ Digital Wallet ที่จะเลื่อนไปเป็นไตรมาสที่ 4 นั้น มองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าไป หากเป็นไปได้ ให้เร่งจัดสรรงบปี 67 จัดทำมาตรการช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนก่อน เพื่อช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  


ส่วนการแจกเงินดิจิทัล เห็นว่าควรใช้ App เป๋าตัง เพราะประชาชนคุ้นเคย และได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถเข้าถึงประชาชนได้และทำได้เร็ว หากนำ super app มาใช้ จะทำให้เกิดความยุ่งยากกับประชาชน และอาจจะเกิดความล่าช้า เพราะทดสอบระบบใหม่ หากเกิดความผิดพลาดจะให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าไปด้วย


และประเด็นสุดท้าย ควรเปิดโอกาสให้ร้านค้าที่ยังไม่เข้าระบบภาษี เข้ามาเป็นทางเลือกให้ประชาชน ทำให้โครงการนี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

----------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/HlwGnluCh5U

คุณอาจสนใจ

Related News