สังคม

มติคณะกรรมการคุ้มครองเด็กฯ ไม่ต่อใบอนุญาต ‘มูลนิธิครูยุ่น’ ปล่อยสิ้นสภาพ ม.ค.66

โดย petchpawee_k

5 พ.ย. 2565

490 views

 เมื่อวานนี้ (4 พ.ย.) ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กทม. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องร้องเรียนและกล่าวหาว่า นายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น อดีต ส.ว.และเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ลงโทษตีและใช้แรงงานเด็ก ซึ่งล่าสุดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมทีมสหวิชาชีพ ได้ลงพื้นที่ จ.สมุทรสงครามเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจนพบว่ามีมูล จึงเข้าไปแยกเด็กส่วนใหญ่ออกมาคุ้มครอง ร่วมทั้งแจ้งความเอาผิดกับครูยุ่นไปแล้ว


และได้นำเด็กออกมาอยู่ในความคุ้มครองสวัสดิภาพของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) แล้วจำนวน 29 คนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่เหลืออีกกว่า 20 คน  ส่วนใหญ่เป็นเด็กโตอยู่ระหว่างทำความเข้าใจ  โดยทีมสหวิชาชีพ บางคนอาจจะยังติดพี่เลี้ยงไม่อยากออก ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจทั้งกับเด็ก พี่เลี้ยงผู้ดูแล ใช้วิธีมิติสังคม จิตวิทยาเข้าไปทำงาน ไม่ได้จู่โจมหรือทำให้เด็กหวาดวิตก ยืนยันการทำงานเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ หลังประเมินพื้นที่มีความเสี่ยงก็เป็นอำนาจหน้าที่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องเข้าไปคุ้มครองนำเด็กออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยทันที


อย่างไรก็ตาม มี 1 คนที่ผู้ปกครองประสานขอรับกลับดูแลเอง ส่วนที่ผู้ปกครองบางคนกังวลไม่รู้ว่าบุตรหลานถูกนำตัวไปอยู่ไหนนั้น เราทำงานประสานพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย ต้องดูแลเป็นรายเคส บางส่วนอาจจะไม่รู้ เพราะเราทำงานเป็นชั้นความลับด้วย ค่อยๆ ทำความเข้าใจ ต้องทำมิติหลังบ้านในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นไปได้ว่าผู้ปกครองอาจจะไม่ทราบ แต่รัฐรับประกันในบทบาทของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปคุ้มครอง เราก็ต้องรับผิดชอบ


นายอนุกูล กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. มีการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสมุทรสงคราม มีมติให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการคุ้มครองเด็กที่เหลือในการนำเด็กทั้งหมดออกมา และมีมติไม่ต่ออายุมูลนิธิคุ้มครองเด็กดังกล่าว เนื่องจากใบอนุญาตดำเนินการจะหมดอายุในเดือนมกราคม 2566 หลังจากนี้ก็ต้องปล่อยให้สิ้นสภาพการเป็นสถานสงเคราะห์ที่ได้รับอนุญาต


นายอนุกูล ยืนยันว่า ทาง พม. ไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่เป็นมติของคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งใบอนุญาตของมูลนิธิจะสิ้นสุดในเดือนมกราคม 2566 จึงจะยังไม่พิจารณาถอน โดยจะให้ใบอนุญาตพ้นสภาพไปเอง และหลังจากนี้หากทางมูลนิธิจะยื่นขอใบอนุญาต จะมีการพิจารณาใหม่ทั้งหมด ถือเป็นการนับหนึ่งใหม่ ตั้งแต่การพิจารณาเรื่องมาตรฐานและองค์ประกอบตามกฎกระทรวงใหม่ทั้งหมด


 โดยการพิจารณาอนุญาตเป็นอำนาจของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดซึ่งจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาทั้งด้านกาย จิต สังคม เช่น ด้านสุขอนามัยสาธารณสุข ด้านสถานที่สิ่งแวดล้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการศึกษาและพัฒนาการเด็ก รวมถึงมีสหวิชาชีพเข้าไปร่วมพิจารณา เป็นคณะกรรมการระดับพื้นที่ประเมินก่อนจะเสนอขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เท่าที่ประเมินสภาพแวดล้อมสุขอนามัยในมูลนิธิฯ ดังกล่าวหลังจากที่ลงพื้นที่ก็เห็นว่าต้องมีการปรับปรุงยกใหญ่พอสมควร


เมื่อถามถึงกรณีนายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จะมีผลต่อการขอต่อใบอนุญาตหรือไม่ นายอนุกูล กล่าวว่า ต้องดูเกณฑ์คุณสมบัติเงื่อนไขการขอนุญาตดำเนินการของสถานสงเคราะห์เอกชน กรณีเป็นผู้จัดตั้งหรือเจ้าของว่ามีการกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรหรือไม่ แต่หากผู้ถูกกล่าวหาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเด็กถือว่าหมดสภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ เนื่องจากจะเป็นความเสี่ยงต่อเด็ก


ผู้สื่อข่าวถามถึงความเหมาะสมในการลงโทษเด็กและการให้เด็กทำงาน นายอนุกูล กล่าวว่า ไม่ว่าจะลงโทษด้วยการตีแบบไหนเป็นสิ่งต้องห้ามตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เพราะไม่ใช่เพียงบาดแผลทางกาย แต่ยังมีเรื่องสภาพจิตใจเด็กด้วย ส่วนการทำงานเพื่อหารายได้เสริมในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่สามารถทำได้ กรณีเด็กอายุมากกว่า 15 ปี หากไปช่วยงานฝึกการทำงานมีค่าตอบแทน ก็ต้องดูที่เจตนาด้วย


ขณะที่ นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวง พม.เปิดเผยว่า พม.ได้จัดเตรียมสถานที่ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยารวมถึงพยาบาลเพื่อให้การดูแลเด็กและเยาวชนที่จะถูกส่งมาให้ พม. ดูแล ซึ่งได้มีการประเมินเบื้องต้นเพื่อให้การดูแลสอดคล้องกับช่วงอายุ ความผูกพันของเด็ก และความสัมพันธ์ทางสังคม


โดยพบว่า เด็กบางรายมีภาวะความเครียด วิตกกังวล และมีพัฒนาการไม่เหมาะสมตามวัย และจะได้มีการสืบเสาะพินิจเพื่อนำมาประเมินสภาวะเด็กและครอบครัว วินิจฉัยเพื่อกำหนดแผนการช่วยเหลือและพัฒนาเด็กรายบุคคล (IDP) ในระยะสั้นและระยะยาว โดยเด็กทุกคนจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ประสานกับทีมสหวิชาชีพ รวมถึงวางแผนช่วยเหลือเด็กร่วมกับครอบครัว หากไม่มีครอบครัวจะใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการวางแผนช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมรอบด้าน และฟื้นฟูจิต


วันเดียวกันมีรายงานว่า ภายหลัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ลงพื้นที่จ.สมุทรสงคราม เพื่อวางแนวทางสอบสวนคดีดังกล่าวเมื่อค่ำวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเมื่อวานนี้ (4 ต.ค.) พล.ต.ท.ธนายุฒน์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7 เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว โดยมี พล.ต.ต.วัฒนา ยี่จีน รองผบช.ภ7 เป็นหัวหน้าคณะ โดยให้ดำเนินการสอบสวนด้วยความรอบคอบและให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ก่อนรายงานให้ผบช.ภ.7ทราบต่อไป


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/eadasmLzST8


คุณอาจสนใจ

Related News