สังคม
โควิดเสียชีวิตนิวไฮ 'หมอประสิทธิ์' ชี้ยอดตายต้องไม่เกินวันละ 200 ราย ระบบถึงจะยังรับได้
โดย thichaphat_d
10 เม.ย. 2565
65 views
สถานการณ์โควิดยังวิกฤติ วันนี้ (10 เม.ย. 65) มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 848 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับสถิติสูงสุดคือ ในวันที่ 15 ส.ค. 64 มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,172 คน แล้ว ถือว่ามีจำนวนแตกต่างกันไม่มากนัก และในวันนี้ มีผู้เสียชีวิต 108 คน ถือเป็นสถิติใหม่ (โดยช่วงเดลต้าแพร่ระบาด จะอยู่ที่ 315 คน วันที่ 18 ส.ค. 65)
นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ยอมรับว่า อาจมีผู้ติดเชื้อโควิดวันละกว่าแสนราย โดยในระบบจะอยู่ที่ 25,139 ราย
ด้านผู้ป่วยอาการหนักวันนี้ อยู่ที่ 1,993 คน เมื่อเทียบกับช่วงพีคของเดลต้า ซึ่งมีผู้ป่วยอาการหนักอยู่ที่ 5,615 คน
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) พุ่งสูงถึง 98 ราย ว่า ตัวเลขการเสียชีวิตจะเห็นตามหลังจากตัวเลขติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด สอดคล้องกับตัวเลขปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจที่เพิ่มขึ้นมาเดือนครึ่งแล้ว แต่ที่เน้นย้ำว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิต 1 เดือนเต็ม พบว่า เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนโควิดเลย 50-60% ผู้ฉีดเพียง 2 เข็มนานกว่า 3 เดือนอีก 30% และผู้ที่ฉีดเพียงเข็มเดียว 5-10% โดยทั้งหมดนี้รวมกันก็ 90% แล้ว
ฉะนั้น ผู้ที่เสียชีวิตขณะนี้เป็นคนที่ยังรับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับเลย ซึ่งคำว่าครบในเวลานี้ คือ อย่างน้อย 3 เข็ม ขณะเดียวกัน ข้อมูลเสียชีวิตที่สำคัญคือ 85-90% เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 608 เป็นสาเหตุที่เราขอให้ทุกคนเข้ารับวัคซีนตั้งแต่เดือน มี.ค. เพื่อรองรับการเดินทางในช่วงสงกรานต์นี้ เพราะยังมีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีอีกกว่าล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก
ฉะนั้น อย่าคิดว่าตนเองไม่ได้ออกไปเจอใคร แต่ไวรัสสามารถเข้ามาหาเราได้เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงที่มีการพบปะลูกหลานในเทศกาล เราก็อยากให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่กลับมาแล้วได้ข่าวว่าเกิดการติดเชื้อขึ้น
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายที่เราจะทำให้โควิดเป็นโรคประจำท้องถิ่น โดยอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% ฉะนั้น การติดเชื้อ 20,000 ราย ก็จะมีตัวเลขเสียชีวิตราว 20 ราย ซึ่งขณะนี้ 98 ราย ก็ถือว่ายังสูงกว่าที่เราตั้งเป้าไว้ถึง 3-4 เท่า จึงเป็นความสำคัญที่เราต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตลง ทั้งนี้ มาตรการของวัคซีนต้องควบคู่กับมาตรการป้องกัน สวมหน้ากาก ล้างมือและเว้นระยะห่างต่อเนื่อง
“สำหรับหลังเทศกาลสงกรานต์ ผมคาดว่าเราจะเห็นตัวเลขติดเชื้ออยู่ที่ 50,000-100,000 รายต่อวัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่จะช่วยกันป้องกัน ให้ตัวเลขอยู่ในระดับใด แต่ที่สำคัญคือเราต้องดูแลเรื่องการเสียชีวิต ไม่ควรให้เกินวันละ 200 ราย เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพตั้งรับได้
อย่างในบางจังหวัดพบว่าอัตราครองเตียงเกินครึ่งแล้ว ทั้งนี้ การติดเชื้อในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง เรามีตัวเลขชัดเจนว่า การฉีดวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป ลดอัตราความรุนแรงได้ แต่หากกรณีฉีด 3 เข็มแต่มีโรคร่วมอื่น เช่น เบาหวาน ความดัน ยังต้องระวังเป็นพิเศษ”
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ตนใช้คาดการณ์สถานการณ์ผู้เสียชีวิตที่ไม่ควรเกินวันละ 200 ราย เกิดจากการฉีดวัคซีนเข็ม 1 กว่า 80% ของประชากร เข็ม 2 อีกเกือบ 75% ขณะที่ เข็ม 3 และ 4 ฉีดไป 35-36% แต่ยังมีผู้สูงอายุอีกกว่าล้านที่ยังไม่รับวัคซีน ดังนั้น หากเราฉีดวัคซีนได้มากขึ้นในกลุ่มนี้ ก็จะช่วยลดอัตราเสียชีวิตได้
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ เลี่ยงการถอดหน้ากากอนามัย หากทุกคนในครอบครัวรับวัคซีนแล้ว ก็สามารถใช้ ATK ตรวจก่อนพบปะ รับประทานอาหารร่วมกัน หากทำให้ครบถ้วนก็จะลดความเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่ตรวจพบเชื้อแล้ว ก็ให้งดพบปะคนอื่น แล้วใช้การพบหน้าทางไกลแทน
รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/I7DDS9a5x5w