สังคม

'หมอประสิทธิ์' ยกคำเตือนอนามัยโลก โควิดยังไม่เข้าสู่โรคประจำท้องถิ่น ย้ำวัคซีนเข็มกระตุ้นยังสำคัญ

โดย thichaphat_d

26 เม.ย. 2565

63 views

วานนี้ (25 เม.ย. 65) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกและไทย ยังไม่เข้าสู่โรคประจำถิ่น แต่กำลังเข้าสู่ปลายทางของช่วงโควิด


พร้อมยกคำเตือนองค์การอนามัยโลกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา โควิด ยังไม่ได้เข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคประจำถิ่น แม้มีแนวโน้ม แต่ยังไม่ถึง และอาจเกิดการกลายพันธุ์ และในบางประเทศอาจเกิดการระบาดใหญ่ได้อีก ดังนั้นสรุปคืออย่าด่วนตัดสิน จนละเลยสิ่งต่างๆ ที่เราทำกันมาร่วม 2 ปี


และต้องย้ำว่า ถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ก็ยังสามารถเสียชีวิตได้ ตัวอย่างเช่น โรคมาลาเรีย ไข้ป่า ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่น ในปัจจุบันนี้ ก็ยังคร่าชีวิตคนปีละกว่า 400,000 ราย


สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ 505 ล้านคน เสียชีวิตสะสม 6 ล้านราย แต่หากพิจารณาการเสียชีวิตรายวันพบว่าเริ่มลดลงจาก 2 ปัจจัย คือ ตัวไวรัส และ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันมากแล้วจำนวนหนึ่ง


ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่จะย้ำคือมาตรการวัคซีนมีความสำคัญ แต่อาจไม่พอ หากใช้วัคซีนอย่างเดียว ต้องมีมาตรการอย่างอื่นด้วย แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังสำคัญ โดยต้องตั้งเป้าหมายให้ได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพราะประเทศที่คุมได้ดีจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเกินร้อยละ 50


สำหรับ ประเทศไทย ติดเชื้อวันละกว่า 2 หมื่นราย เสียชีวิตยังเลข 3 หลัก ฉีดวัคซีนโควิดแล้วกว่า 132 ล้านโดส จากประชากรกว่า 70 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นร้อยละ 36.6 ยังห่างไกลจากร้อยละ 50 จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากต้องการให้ตัวเลขเสียชีวิตเหลือ 2 หลัก ขณะนี้ยังเลข 3 หลัก


อย่างไรก็ตาม 3-4 วันที่ผ่านมา เริ่มเห็นตัวเลขไม่ค่อยขึ้นในผู้ป่วยปอดอักเสบ หากนิ่งแบบนี้เรื่อยๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ คาดว่าจะเห็นตัวเลขเสียชีวิตลดลง


ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลคือการเกิดขึ้นของโอมิครอนเกือบ 5 เดือนแล้วที่โลกได้รู้จัก และข้อมูลยังเหมือนกันคือความรุนแรงต่ำกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่สายพันธุ์นี้แพร่เร็วกว่าเดลต้า


อย่างไรก็ตาม โอมิครอนมีคุณลักษณะแพร่กระจายเร็วและไม่รุนแรง จึงทำให้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยมองว่า น่าจะถึงเส้นที่โควิด-19 จะเดินทางไปสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบคุมเข้ม


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Uw_U9tkZmVQ

คุณอาจสนใจ

Related News