สังคม
'แม่ก้อย' ร่ำไห้กอดรูปลูก เปิดใจหลังพิพากษาประหารชีวิต 'แอม ไซยาไนด์' เผยตอนอยู่ในศาลยังไร้สำนึก
โดย panwilai_c
5 ชั่วโมงที่แล้ว
36 views
ศาลอาญาพิพากษา ประหารชีวิต แอม ไซยาไนด์ ในคดีวางยาฆ่าเพื่อนชิงทรัพย์ ส่วนอดีตสามีโดนคุก 1 ปี 4 เดือน และทนายพัชโดน 2 ปี ฐานช่วยเหลือให้แอมไม่ต้องรับโทษ และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน
วันนี้นาง ทองพิน คุณแม่ของนางสาว ศิริพร หรือก้อย วัย 32 ปี ซึ่งเป็น 1 ในผู้เสียชีวิตจากการถูก "แอม" วางยาพิษไซยาไนด์ ที่ท่าน้ำในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 นำรูปของลูกสาวมาที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก
เพื่อเข้าร่วมฟังคำพิพากษาในคดีเธอและพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาง สรารัตน์ รังสิตวุฒาภรณ์ หรือ แอม อายุ 36 ปี ในความผิดฐาน ฆ่าอื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน / ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย / ปลอมปนอาหาร ยาหรือเครื่องอุปโภคเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย
พันตำรวจโท วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อายุ 40 ปี อดีตสามีของแอม และนางสาว ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัตร์ หรือ ทนายพัช อายุ 36 ปี ทนายความของแอม ในข้อหา ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน พร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 30 ล้านบาท
วันนี้คุณแม่ของก้อย กอดรูปลูกสาวพร้อมบอกว่า ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไรแม่ขอไม่ก้าวล่วง พร้อมฝากบอกว่า แต่จะขอทวงคืนความยุติธรรมให้กับลูกสาว ไม่อยากให้ลูกตายฟรี อย่าไว้ใจคนอื่น แม้จะเป็นคนใกล้ตัวเพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นบทเรียนว่าคนใกล้ชิดนี่แหละสำคัญที่สุด
ขณะที่ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หนึ่งในทีมทนายความ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ศาลได้นัดไต่สวน แต่แอมปฏิเสธที่จะเบิกความต่อหน้าศาล ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่จะทำได้
ขณะที่ พันตำรวจโท วิฑูรย์ แจ้งต่อศาลว่าไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่า เป็นผู้นำกระเป๋าซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในคดีไปการซ่อนเร้นอำพราง ส่วนทนายพัช เบิกความต่อศาลขอต่อสู้ในประเด็น ไม่ปรากฏประจักษ์พยานว่า ขณะเกิดเหตุไม่มีใครพบเห็นว่ายาพิษเข้าสู่ร่างกายผู้ตายได้อย่างไร ทำให้คดีมีข้อสงสัย แต่ไม่ว่าจำเลยทั้ง 3 คน จะให้การอย่างไร ก็มั่นใจในหลักฐานว่าจะสามารถทวงคืนความยุติธรรมได้
และนี่เป็นคดีแรกจากทั้งหมด 15 คดี ที่ตำรวจดำเนินคดีกับ "แอม" หลังผ่านเวลามาถึง 19 เดือน 6 วัน โดยวันนี้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เบิกตัว "แอม" มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง วันนี้เธอเดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดีที่ 713 ด้วยสีหน้าเรียบเฉย แอม ใส่ชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล สวมแว่นตา สวมหน้ากากอนามัยสีน้ำเงิน ร่างกายซูบผอมลง ส่วนทนายพัช และพันตำรวจโท วิฑูรย์ ยื่นประกันตัวไปในวงเงินคนละ 1 แสนบาท ก็เข้ามาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
ครั้งนี้แอมนั่งตรงกลางที่เก้าอี้ตัวยาวแถวหน้า ด้านซ้ายมือ คือ ทนายพัช ซึ่งมาในชุดครุยของทนาย ส่วนอดีตสามียืนอยู่ด้านขวาใส่เสื้อเชิ๊ต กางเกงแสลค แต่เป็นที่น่าสังเกต คือ ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ นำกุญแจมือมาสวมให้จำเลยทั้ง 3 คน และยืนฟังคำพิพากษาตลอดเกือบ 4 ชั่วโมง
สำหรับคำพิพากษาศาลเริ่มอ่านตั้งแต่ 9 โมงครึ่ง ก่อนจะจบลงในช่วงเที่ยงครึ่ง สำหรับคดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลย ว่า ช่วงวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 5 พฤษภาคม 2566 "แอม" มีเงินหมุนเวียนในบัญชีมากกว่า 95 ล้านบาท มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงอีก 10 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีม้า และเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ พร้อมกับมีหนี้สินจำนวนมาก
ส่วนในปี 64 ถึง 65 พบว่า "แอม" เสียเงินให้กับพนันออนไลน์จำนวนมาก ดังนั้นจึงมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
กระทั่งวันที่ 14 เมษายน 2566 "แอม" นำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ซึ่งเป็นสารพิษปลอมปนใส่ลงในอาหาร หรือน้ำดื่ม ให้ "ก้อย" ผู้เสียชีวิตกิน ระหว่างที่ทั้งคู่ซึ่งเป็นเพื่อนกันเดินทางไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำ ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยที่ "แอม" ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ และยังนำทรัพย์สินของ "ก้อย" ผู้ตาย ไปอีก 9 รายการ มูลค่า 154,630 บาท ไปด้วย นายพัช ได้ใช้ หรือยุยงส่งเสริมให้ อดีตสามีของแอม ซึ่งเป็นตำรวจ มีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการ สภ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ช่วยเหลือ "แอม" มิให้ต้องรับโทษตามกฎหมาย หรือให้ได้รับโทษน้อยลง
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเสียชีวิตของ "ก้อย" มีการกระทำหลายอย่างของ "แอม" ที่เป็นพิรุธแสดงให้เห็นถึงเจตนา และความคาดหมายว่าจะให้เสียชีวิตในช่วงเวลาใด และ "แอม" คอยอยู่ใกล้ผู้ตายเพื่อขโมยของ ก่อนที่จะมีผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือ หากบริสุทธิ์ใจจริงควรอยู่ช่วยชีวิตจนถึงที่สุด หรือ โทรติดต่อญาติของผู้ตายให้ทราบ จึงเชื่อได้ว่า "แอม" มีการวางแผนมาตั้งแต่ต้น
นอกจากนี้ยังพบข้อเท็จจริงว่า "แอม" ได้สั่งไซยาไนด์มาอย่างเร่งรีบ ทั้งที่ไม่มีอาชีพเกี่ยวกับสารเคมี และที่รถยนต์ของผู้ตายพบยาไซยาไนด์หลายจุด รวมถึงพบยาเม็ดแคปซูลที่ภายในมีสารไซยาไนด์ซ่อนอยู่ในห้องโดยสารของรถยนต์ด้วย
ส่วน พันตำรวจโท วิฑูรย์ นำกระเป๋าของผู้ตายซึ่งเป็นของกลางหลักฐานสำคัญในคดี ส่งคืนให้กับ "แอม" แทนที่จะส่งให้พนักงานสอบสวน
และทนายพัช เชื่อถือได้ว่า ยุยงให้ "แอม" ปกปิดกระเป๋าของกลางในคดี เพื่อเป็นแนวทางในการชนะคดี มีหลักฐานเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาของคดีอื่นที่ชนะคดีได้โดยไม่มีของกลาง ซึ่ง "ทนายพัช" ส่งให้ "แอม" และ "อดีตสามี" อ่านในกลุ่มไลน์ที่สร้างขึ้น
จากพยานและหลักฐานมีน้ำหนัก ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 3 คน กระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษา "ประหารชีวิต" "แอม" พันตำรวจโท วิฑูรย์ และทนายพัช มีความผิดฐาน ช่วยเหลือ "แอม" ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐานลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี แต่ พันตำรวจโท วิฑูรย์ ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1ใน 3 คงจำคุก 1ปี 4 เดือน และให้ทั้ง 3 คนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก้ครอบครัวของก้อน เป็นเงิน 2,343,588 บาท
ผู้สื่อข่าวสังเกตว่า ตลอดการฟังคำพิพากษา แอม หันมาคุยกับ ทนายพัช ตลอด โดยไม่หันไปทางอดีตสามีเลย ส่วนทนายพัชและอดีตสามี ยืนฟังคำพิพากษาด้วยสีหน้าเรียบเฉย แม้ศาลจะอ่านคำพิพากษาจบแล้ว ทั้ง 3 คนก็ไม่มีท่าทีสลดหรือแสดงอาการเสียใจ และมีบางจังหวะที่จำเลยทั้ง 3 หันมาคุยกันแล้วหัวเราะออกมา
ส่วนแม่และครอบครัวของก้อย ผู้เสียชีวิต ต่างก็ร้องไห้กอดกันด้วยความดีใจ และโผเข้ากอดกัน ทันทีที่ศาลอ่านคำพิพากษาจบ
ราวบ่าย 2 แม่ของ "ก้อย" ผู้เสียชีวิต เปิดใจพร้อมน้ำตา กล่าวขอบคุณที่ศาลที่ให้ความยุติธรรม และอยากจะบอกกับลูกสาวว่า "ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ขอให้นอนหลับให้สบาย ไม่มีอะไรที่ต้องห่วง" พร้อมยอมรับว่า ได้เจอหน้า "แอม" ก็ยังรู้สึกโกรธอยู่ ไม่อยากจะมองหน้า แต่พอเหลือบไปเห็นสายตาแอม ก็ยังดูปกติ ไม่มีท่าทีสลด ขนาดศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต แอมก็ยังดูเป็นปกติ
ทนายเดชา บอกว่า ศาลได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย วันนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ศาลพิพากษาคดีของ "แอม" แต่มีการพูดถึงพยานจากคดีอื่นด้วย ซึ่งสามารถนำคำพิพากษาในคดีนี้เป็นแนวทางในการพิพากษาคดีอื่นของ "แอม" ได้
และในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายนนี้ พนักงานอัยการจะนำสำนวนอีก 14 คดี ของ "แอม" มามอบให้กับศาล
แท็กที่เกี่ยวข้อง แม่ก้อย ,แอมไซยาไนด์ ,ทนายพัช ,ประหารชีวิตแอมไซยาไนด์