สังคม
ศธ.เผย ผลประเมิน PISA คะแนนเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปี
โดย attayuth_b
6 ธ.ค. 2566
100 views
รัฐมนตรีช่วยฯศึกษาธิการและผอ.สสวท.คาด ผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ไทยมีคะแนนลดลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี ผลจากช่วงโควิดที่เรียนผ่านออนไลน์และเด็กไทยอ่าน ตีความและวิเคราะห์ไม่ได้
จากที่มีการเผยแพร่ ผลการประเมิน PISA ปี 2022 จากอายุนักเรียน 15 ปี ที่เข้าร่วมการสอบ ประมาณ 690,000 ทั้งหมด ใน 81 ประเทศ (ซึ่ง ใน 81 ประเทศ มีนักเรียน ทั้งหมด 29 ล้านคน ) ในจำนวนนี้มีนักเรียนไทย 8,495 คน จาก 279 โรงเรียนทุกสังกัดร่วมสอบ พบว่า
- ด้านคณิตศาสตร์ เด็กไทยได้ 394 คะแนน ลดลงร้อยละ 6 อยู่อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ
- ด้านทักษะการอ่าน ได้ 379 คะแนน ลดลงร้อยละ 4 อยู่ที่ อันดับ 64 จาก 81 ประเทศ
- ด้านวิทยาศาสตร์ ได้ 409 คะแนน ลดลงร้อยละ 4 อยู่ที่ อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ
หากดูจากกราฟ จะเห็นว่า ทั้ง 3 ด้าน ในรอบ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2022 (จะประเมินทุก 3 ปี ต่อครั้ง) จะเห็นว่า ผลประเมินเด็กไทยมีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้าน ลดลงต่อเนื่อง โดยด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน มีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ
ขณะที่ คุณไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็น ถึง คะแนน PISA ว่า สะท้อนถึงคุณภาพของระบบการศึกษาไทยมีแนวโน้มถดถอยมาอย่างต่อเนื่อง เป็น "สัญญาณเตือนภัย" ว่าการศึกษาไทยกำลังอยู่ในขั้น "วิกฤต" ทั้งๆที่เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆของโลก
คุณไอติม บอกว่า ทางแก้เรื่องนี้ คือการ "จัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่" หากก้าวไกลมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล เราจะชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (เช่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ครู นักเรียน ผู้ปกครอง) มาร่วมออกแบบหลักสูตรให้เสร็จภายใน 1 ปี พร้อมกับเสนอมาตรการ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย 9 ข้อด้วยกัน
1. ปรับวิชาหรือเป้าหมายของวิชาให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักเรื่องทักษะ-สมรรถนะ - ทบทวนวิชาที่ควรมีหรือไม่มี
2. ปรับวิธีการสอน - เสริมทักษะให้ครูสามารถพลิกบทบาทจาก "ครูหน้าห้อง" ที่เน้นถ่ายทอดความรู้ มาเป็น "ครูหลังห้อง" ที่เน้นสร้างบรรยากาศและจัดสรรเวลาในห้องเรียนให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น
3.ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียน - ปรับจาก 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือประมาณ 800-1,000 ชั่วโมงต่อปีตามมาตรฐานสากล
4.ลดภาระการบ้านและการสอบแข่งขันที่หนักเกินไป ปรับไปใช้วิธีประเมินผลรูปแบบอื่น
5.ลดวิชาบังคับ และเพิ่มวิชาทางเลือก ให้นักเรียนได้มีอิสรภาพในการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง
6. เพิ่มกลไกการตรวจสอบโดยประชาชน สร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนตรวจสอบเนื้อหาหนังสือเรียน และการเปิดข้อสอบ TCAS ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลย
7.กระจายอำนาจด้านการออกแบบหลักสูตร วางระบบให้มีหลักสูตร 3 ระดับ (แกนกลาง-จังหวัด-สถานศึกษา) ลดกลไกควบคุมจากส่วนกลาง เพื่อให้โรงเรียนมีอำนาจมากขึ้น
8. กำหนดให้ทบทวนหลักสูตรแกนกลางทุก 4 ปี เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
9.ออกแบบสภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เอื้อต่อการ "เติมไฟ" ให้นักเรียนมีความพร้อมในการตั้งคำถามและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ