สังคม

ชาวเน็ตเสียงแตก 'ป้าย Bangkok' โฉมใหม่ 'ชัชชาติ' ยิ้มรับทุกคำวิจารณ์ กทม.แจงไม่เกี่ยวงบ 3 ล้าน

โดย nattachat_c

30 พ.ค. 2567

56 views

ช่วงเช้าวานนี้ (29 พ.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กในกิจกรรมวิ่งออกกำลังยามเช้าตามที่ได้ทำเป็นประจำในทุกๆ วัน โดยได้วิ่งผ่านสวนลุมพินี และใช้ทางเท้าถนนราชดำริ ซึ่งเป็นทางเท้าที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีตามมาตรฐานทางเท้าใหม่ มีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น มีความเป็น Universal Design มากขึ้น และมีไฟฟ้าแสงสว่างตลอดแนว โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้วิ่งผ่านถนนพระราม 1 เพื่อไปยังบริเวณ Sky Walk แยกปทุมวัน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการติดสติกเกอร์ใหม่บริเวณคานรางรถไฟฟ้า


ซึ่งผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ข้อความเก่าที่เห็นไม่ใช่การทาสีแต่เป็นสติกเกอร์ ซึ่งด้วยระยะเวลาที่ติดมานานทำให้ลอกได้ไม่หมด จึงใช้วิธีทำความสะอาด และติดสติกเกอร์ใหม่ทับลงไป ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ไม่ได้มีผลกับชีวิต แต่ก็เป็นรายละเอียดของเมือง ดังนั้น หากใครว่างหรือผ่านไปสามารถไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ได้

-------------
ทั้งนี้ จากการที่กรุงเทพมหานครได้แก้ไขสติกเกอร์บนคานทางรถไฟฟ้าบีทีเอส สี่แยกปทุมวัน จากเดิม Bangkok City of life พื้นหลังสีขาว ซึ่งใช้มาเป็นเวลานาน มาเป็นคำว่า กรุงเทพฯ Bangkok พื้นหลังสีเขียว


ทำเอาชาวเน็ตต่างวิจารณ์จำนวนมากว่าไม่สวย เหมือนป้ายห้างค้าปลีกชื่อดัง หรือไม่ก็ป้ายกีฬาสี หรือป้ายจราจร ไม่มีเอกลักษณ์ ไม่มีความคลาสสิก ไร้รสนิยม และบางคนบอกว่าของเก่าดูดี มีสไตล์กว่า อีกทั้งยังมีการทำภาพเปรียบเทียบ ภาพป้ายแบบเก่าและแบบใหม่อีกด้วย

-------------

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนสติกเกอร์ ชมรมจักรยานประชาชื่น ได้ปั่นจักยานมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก่อเปลี่ยนสติกเกอร์ใหม่ พร้อมเผยว่า สวยงามทั้ง 2 แบบ

-------------

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์พร้อมรอยยิ้ม ระบุว่า เรื่องงานศิลปะ เป็นปกติที่จะมีทั้งคนที่ชอบ และไม่ชอบ แต่การเปลี่ยนแปลงใหม่ มันก็ทำให้ดูดีสะอาดขึ้น ใหม่ขึ้นเพราะของเก่าใช้งานมานาน น้อมรับทุกควาทคิดเห็น ซึ่งจะนำไปเป็นข้อมูลและปรับปรุง เพราะยังมีอีกหลายจุดที่จะดำเนินการติดสติกเกอร์แบบนี้ ขอให้รอดูจุดอื่นๆ ก็ได้


ส่วนความเห็นในครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้รู้สึกน้อยใจ แต่พอเข้าใจได้ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ แสดงความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครเปิดรับสิ่งที่แตกต่าง และมีความหลากหลาย
-------------

นอกจากดราม่าเรื่องความสวยงามแล้ว ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่อง กทม.ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาทเพื่อการออกแบบและติดสติกเกอร์ใหม่บนคานรางรถไฟฟ้า เป็นการใช้งบที่คุ้มค่าหรือไม่


นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีที่มีข้อสงสัยว่า กทม.ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อการออกแบบและติดสติกเกอร์ใหม่บนคานรางรถไฟฟ้า นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน


ข้อเท็จจริง คือ กทม.ใช้งบประมาณจ้างเหมาเอกชนดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์ และภาพลักษณ์หลัก ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ในวงเงิน 2,952,600 บาท


โดย กทม.ได้หาตัวผู้รับจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) โดยใช้เกณฑ์คุณภาพ (70%) ประกอบเกณฑ์ราคา (30%) ดูบริษัทที่มีจุดเด่น และประสบการณ์ด้านการออกแบบเป็นที่ยอมรับ


ซึ่งระหว่างดำเนินการได้รับคำแนะนำ และข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบ และภาพลักษณ์องค์กร ตลอดทั้งกระบวนการ


เพื่อให้กำหนดการใช้อัตลักษณ์ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration) สำหรับจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ให้มีความชัดเจน มีเอกลักษณ์เหมาะสม มีมาตรฐาน และมีความเป็นเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการสื่อสารทั้งภายใน และภายนอกองค์กร สร้างการรับรู้ และจดจำอัตลักษณ์ของหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร


โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วย

1. ระบบตราสัญลักษณ์ ได้แก่ ตราสัญลักษณ์มาตรฐาน ตราสัญลักษณ์แบบอักษร ตราสัญลักษณ์หน่วยงานในสังกัด กทม. ข้อกำหนดการนำไปใช้


2. ระบบสี ได้แก่ ระบบสีหลัก ระบบสีรอง ระบบสีสัญลักษณ์ และข้อกำหนดการนำไปใช้


3. ระบบตัวอักษร ได้แก่ ชุดตัวอักษรหลักภาษาไทย – อังกฤษ (เสาชิงช้า) ชุดตัวอักษรรองภาษาไทย – อังกฤษ (อนุพันธ์ และไทยสารบัญ) และข้อกำหนดการนำไปใช้


4. ลวดลายกราฟิกอัตลักษณ์ จำนวน 2 ชุด


5. หลักเกณฑ์การใช้ภาพถ่ายประกอบกับตราสัญลักษณ์


6. ชุดภาพและระบบสีของชุดภาพสัญลักษณ์


7. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์บนสื่อต่าง ๆ สำหรับการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ สื่อออนไลน์ทั่วไป ข่าวทั่วไป เทศกาลต่าง ๆ การให้ข้อมูลในรูปแบบอินโฟกราฟิก การอ้างอิงคำพูด การประกาศ รูปแบบ VDO


8. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์สำหรับงานต่าง ๆ ได้แก่ งานนำเสนอ (Powerpoint Template) การพิมพ์โปสเตอร์ การพิมพ์ฉากหลัง การพิมพ์แผ่นพับ การพิมพ์ประกาศนียบัตร จอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง ใต้รางรถไฟฟ้า สื่อ VDO การขึ้นชื่อและตำแหน่งบนวิดีโอ เว็บไซต์


9. การนำอัตลักษณ์ไปใช้กับวัสดุ อุปกรณ์ และป้ายหน่วยงาน/ส่วนราชการ (ตัวอย่างการออกแบบ) เช่น สมุดโทรศัพท์ ถุงกระดาษ กล่องพัสดุ จานอาหาร จานรองแก้ว แก้ว แก้วเซรามิก สมุดปากกา ดินสอ ป้ายชื่อประจำโต๊ะ นามบัตร บัตรแสดงตน สายคล้องบัตรแสดงตน บัตรผู้มาติดต่อ เสื้อโปโล เสื้อยืด เสื้อแจ็กเก็ต เนกไท หมวกแก๊ป รถยนต์ รถกระบะ รถตู้ รถบัส รถบรรทุก รถขยะ รถจักรยานยนต์ ถังขยะ ป้ายหน้าหน่วยงาน/ส่วนราชการ เคาน์เตอร์บริการประชาชน และข้อกำหนดการนำไปใช้


10. ตราสัญลักษณ์ประเภทเคลื่อนไหวสำหรับงานวิดีโอ ความยาว 2 วินาที 5 วินาที 10 วินาที 15 วินาที


11.คู่มืออัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร

-------------

ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักประชาสัมพันธ์ ประกวดราคาจ้างจ้างเหมาดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 3,000,000 บาท ปรากฎว่า บริษัท ฟาร์มกรุ๊ป จำกัด ชนะการเสนอราคา เป็นเงินทั้งสิ้น 2,953,200 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566


สำหรับสติกเกอร์ใหม่ที่นำมาติดจะมีข้อความและดีไซน์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยกราฟิกอัตลักษณ์ดังกล่าวมีที่มาจากตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร โดยนำ “วัชระ” อาวุธประจำกายของพระอินทร์ที่ใช้ปกป้องคุ้มครองกรุงเทพมหานคร มาครอบตัด (crop) ภาพ ให้เป็นลวดลายที่มีความเป็นนามธรรม


โทนสีของกราฟิกชุดนี้จะใช้ระบบสีรองซึ่งสะท้อนถึงความสุขของผู้คนและการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร


ส่วนระบบสีหลักจะเป็นสีเขียวมรกตซึ่งเป็นสีที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในงานกราฟิกส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร


ทั้งนี้ รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า แบบอักษรที่นำมาใช้ คือ ฟอนต์ Sao Chingcha (เสาชิงช้า) มีต้นแบบจากฟอนต์เก่าของ กทม. ที่ออกแบบโดย บริษัท ฟาร์มกรุ๊ป จำกัด บริษัทที่รับหน้าที่ออกแบบอัตลักษณ์ใหม่ให้กรุงเทพมหานคร

--------------------------





คุณอาจสนใจ