สังคม

สพฉ. ชี้การฝึกทำ CPR ไม่ควรฝึกกับคนจริง เพราะจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ

โดย gamonthip_s

11 มี.ค. 2567

81 views

เพจ แม่บ้านคุณหมอ โพสต์เรื่องราวของคุณแม่ท่านหนึ่ง ที่ถามในเพจ "จิตวิทยาเด็กและครอบครัว ปรึกษาเรื่องเลี้ยงลูก" ถึงเรื่องราวที่ลูกสาวถูกให้นอนสาธิต CPR ซึ่งเป็นการสาธิตกับคนจริง อีกทั้งระบุว่ามีการถอดเสื้อเขี่ยจุก (หน้าอก) เพื่อเช็กการใช้อุปกรณ์ โดยโพสต์ระบุข้อความว่า



"เมื่อวานอ่านกิจกรรมกีฬารร.ให้เด็กอนุบาลแก้ผ้าแล้วแต่งตัว ยังช็อกไม่หาย!!! วันนี้ตื่นมาอ่านสอนเด็กป.4 CPR แบบแปลกๆ อีก #ใช้คนจริง!! การ CPR กับคนจริงมีโอกาสเกิดอันตรายได้ เช่น ซี่โครงหัก หลายที่จึงจำเป็นต้องใช้หุ่น หากใช้คนจริงจะไม่ลงน้ำหนัก สอนแค่สถานการณ์+ทำท่าเท่านั้น #ถอดเสื้อหมด!! ป.4 น้องผู้หญิงบางคนเป็นสาวมีหน้าอกแล้ว กิจกรรมนี้มีทั้งจนท.ชาย และนร.ชาย #วัดชีพจรขาหนีบให้ถอดช่วงล่าง!! บุคลากรยังหาชีพจรขาหนีบยาก ภาคปชช.วัดที่คอก็ได้ #เขี่ยจุก!!! นี่อ่านวนหลายรอบมาก แวบแรกคิดว่าอุปกรณ์ ย้อนกลับไปอ่านดีๆ เด็กผญ.ป.4 /ป.6  ถอดเสื้อ ดูสีจุก เขี่ยจุก‼️ ถ้าฉันเป็นแม่เด็ก…โรงพักไปทางไหน



เรื่องนี้ทีมข่าวช่อง 3 ได้สอบถามไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานที่มีการเปิดสอน และการฝึกขั้นตอนการกู้ชีพ



ว่าที่ร้อยตรีการันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ชี้แจงกรณีขั้นตอนการฝึกเพื่อการช่วยชีวิตมีสองขั้นตอนหลัก คือ การประเมินอาการ เป็นขั้นตอนที่บางกรณีอาจใช้คนจริงในการฝึก ตามสถานการณ์ที่สมมุติโดยการประเมินอาการผู้ให้การช่วยเหลือ จะตะโกนหรือเรียกชื่อพร้อมใช้มือตีเบาๆ ที่บ่าผู้ถูกช่วยเหลือ เพื่อตรวจสอบดูว่ามีสติหรือไม่ ประเมินเพื่อการช่วยเหลือขั้นตอนต่อไป



ขั้นตอนที่ 2 คือการฝึกกู้ชีพ จะไม่มีการฝึกกับคนจริงโดยเด็ดขาดเพราะอาจเกิดอันตรายโดยปกติการฝึกจะใช้หุ่นฝึก ทั้งการทำ CPR /การผายปอด / การใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า หรือเครื่อง AED ซึ่งในกรณีการใช้เครื่องมือ หากเป็นสถานการณ์จริงจำเป็นต้องถอดหรือถลกเสื้อผ้าของผู้ประสบเหตุเพื่อให้เครื่องมือติดกับลำตัว และสามารถช่วยเหลือได้ แต่ทั้งนี้ในการฝึกซึ่งใช้หุ่นจะไม่มีการสวมใส่เสื้อผ้าอยู่แล้ว



แม้จะไม่มีข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบที่กำหนดชัดเจน แต่การฝึกซ้อมเหล่านี้ ครูผู้ฝึกสอนจะทราบดีว่าไม่ควรใช้คนจริงเป็นหุ่นเพื่อการฝึกไม่ว่าจะเป็นกลุ่มช่วงอายุ หรือเพศใดก็ตาม เพราะอาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ และในการฝึกทำ CPR ไม่มีขั้นตอนใดที่ชี้เฉพาะถึงการต้องสังเกตการตอบสนองของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งหรืออวัยวะใด แต่ในสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ให้การช่วยเหลือสามารถสังเกตจากการตรวจชีพจรได้



นอกจากนั้นในกลุ่มผู้ที่จะเป็นครูซึ่งทำการฝึกสอน การทำ CPR และการช่วยชีวิตบุคคลเหล่านี้ ควรผ่านการอบรมหลักสูตรครูผู้สอนก่อน เพื่อให้ถ่ายทอดได้ถูกต้องเพราะการทำ CPR และการช่วยชีวิตนั้นเป็นเรื่องสำคัญ

คุณอาจสนใจ