สังคม

ทนายอธิบดีกรมข้าวแฉเพิ่ม “นายป.” นักการเมือง สนับสนุน “ศรีสุวรรณ” รีดทรัพย์ คาดแบ่งหน้าที่ทำเป็นขบวนการ

โดย gamonthip_s

29 ม.ค. 2567

4.5K views

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.67 ที่บริเวณลานจอดรถศาลแพ่งรอยต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายดนุเดช ศิริวงษ์ตระกุล ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายอธิบดีกรมการข้าว ให้สัมภาษณ์ย้อนไปถึงก่อนเหตุว่า มีบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนอธิบดีกรมการข้าว ส่งมายังกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ก่อนที่อธิบดีกรมการข้าวจะถูกเรียกเข้าไปชี้แจงถึงงบก้อนดังกล่าว ไม่ได้ใช้แล้ว และส่งให้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ช่วยชาวนาไปแล้ว จากนั้นเรื่องจึงยุติไป จนอธิบดีกรมการข้าวจึงมาปรึกษากับตัวเองว่าน่าจะถูกคนกลั่นแกล้ง จึงมอบอำนาจให้ไปแจ้งความร้องทุกข์


ต่อมามีที่ปรึกษาของผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ เรียกอธิบดีกรมการข้าวเข้าไปพบ ก็ยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ซึ่งปรึกษาคนนี้ได้แนะนำให้จ่ายเงินเคลียร์นายศ. เรื่องจะได้ยุติลง เพราะหากมีการแถลงข่าวก็จะเกิดความเสียหายอย่างมาก ก่อนจะนัดแนะให้ไปจ่ายเงินที่บ้านนายศ. จำนวน 6 หลัก ซึ่งขณะนั้นก็คิดว่าเรื่องจะจบแล้ว แต่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายศ. และนายจ. ไปแถลงข่าวที่รัฐสภา กล่าวหาถึงการทุจริตในกรมฝนหลวง ซึ่งในช่วงท้ายมีการกล่าวถึงกรมการข้าวว่า เป็นกรมเล็กแต่มีการซุกงบกว่าหมื่นล้าน และตั้งภรรยาผู้บริหารให้เปิดบริษัทรองรับการการทุจริต


ในวันเดียวกันก็มีโทรศัพท์จากนายศ.โทรเข้ามาหาอธิบดีกรมการข้าว แต่ไม่ได้รับ วันถัดมานายศ.ก็โทรเข้ามาอีก เพื่อนัดกินกาแฟช่วงเที่ยง มาถึงก็บอกว่า ขณะนี้เตรียมตอบสอบงบประมาณ และเตรียมยื่นให้กรรมาธิการตรวจสอบ ซึ่งอธิบดีกรมการข้าว ตอบกลับว่า จะตรวจสอบอะไร และยืนยันว่าไม่ได้ทำความผิด จากนั้นเมื่อแยกย้ายกันแล้วก็มีโทรศัพท์เข้ามาหาอธิบดีกรมการข้าวอีกครั้ง และเรียกรับเงินเพิ่ม ก่อนที่อธิบดีกรมการข้าวจะยื่นโทรศัพท์ให้ภรรยาเป็นคนคุย ปลายสายตอบกลับว่า จะเรียกเงินจำนวน  2 โล หรือ 2 ล้านบาท ซึ่งภรรยาอธิบดีกรมการข้าวก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ และหากดูแลเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ดูแลได้ ก่อนจะมีการต่อรองกันจนเหลือ 1 กิโลครึ่ง หรือ 1.5 ล้านบาท


โดยทางฝั่งนั้นได้ขอให้โอนมาก่อน 100,000 บาท แต่ตัวเองนั้นบอกภรรยาอธิบดีกรมการข้าวว่า โอนไปแค่ 50,000 บาทก่อน ทั้งนี้เลขที่บัญชีที่มีการส่งมาให้โอนไปนั้นไม่ได้เป็นชื่อของ 1 ใน 3 ผู้ต้องหา จากนั้นก็มีการเร่งเร้าให้จ่ายเต็มจำนวน 100,000 บาท วันที่ 23 ธ.ค. 2566 จึงโอนให้อีก 10,000 บาท


ระหว่างนั้นก็ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพียงพอส่วนหนึ่ง และเข้าพบกับตำรวจบก.ปปป.แล้ว ก็โทรกลับไปหานายศ. ซึ่งบอกว่ายังเหลือเงินที่ต้องจ่ายอีก 1,440,000 บาท ภรรยาอธิบดีกรมการข้าวจึงนำเงินจำนวน 100,000 บาท ไปให้นายศ.ที่บ้าน เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 ซึ่งวันนั้นมีการถ่ายคลิปวีดิโอ ขณะที่นายศ. กำลังรับรับเงิน เป็นพยานหลักฐานจนนำไปสู่การออกหมายจับ จนวันที่ 26 ม.ค.67 ตำรวจบก.ปปป.จึงเข้าจับกุมนาย ศ. โดยมีของกลางเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท


ส่วนกรณีที่นาย ศ. อ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นเงินใครนั้น นายดนุเดช บอกว่า ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาจะพูดอะไรก็ได้ แต่ตัวเองในฐานะทนายความที่ทำงานเกี่ยวกับคดีทุจริต มั่นใจว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอทั้งภาพถ่าย และคลิป ซึ่งนาย ศ. นั้นมีลักษณะเหมือนวางใจ หลังจากได้เงินไปก้อนหนึ่งแล้ว และคิดว่าจะได้อีก


นายดนุเดช กล่าวต่อว่า ตัวเองนั้นกังวลว่าจะมีการเมืองเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้นายจ.ผู้กระทำผิดไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะไม่เข้าข่ายมาตรา 173 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบโทษที่จะได้รับสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ก็จะเหลือเพียงข้อหากรรโชกทรัพย์ ซึ่งโทษเบากว่า และนายศ.ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดก็จะไม่ถือเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ก็จะได้รับโทษน้อยไปด้วย จึงอยากให้ตำรวจเดินหน้าทำงานต่ออย่าให้เรื่องเงียบ


นายดนุเดช เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักการเมืองตัวย่อ นาย ป. ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้ติดต่อมายังอธิบดีกรมการข้าว และภรรยาของอธิบดีกรมการข้าว ฝากมาบอกตัวเองให้เบา ๆ หน่อย และให้ยุติบทบาท รวมทั้งพยายามโยงธุรกิจของภรรยาอธิบดีกรมการข้าว ที่ทำธุรกิจฟาร์มหมู และฟาร์มไก่ ให้ไปเชื่อมโยงกับคดีหมูเถื่อนตีนไก่เถื่อนด้วย


นายดนุเดชได้ย้ำว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ แต่ส่วนตัวไม่กลัว เพราะเห็นว่าหากมัวเกรงกลัวอิทธิพลคงไม่ได้เพราะวิธีการมาใช้อำนาจโดยมิชอบเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


ด้านนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ในฐานะเพื่อนของนายดนุเดช เปิดเผยว่าได้แนะนำให้นายดนุเดชให้นำหลักฐานสำคัญ ๆ มาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อให้ยากต่อการวิ่งเต้นล้มคดี ช่วยเหลือพวกพ้องกัน ไม่ต้องกลัวตาย ถ้าตายจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ให้ ในขณะที่ปรึกษารัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย ตำรวจเองก็อย่าปอดแหก ไม่ใช่สร้างภาพจนในที่สุดคดีก็หายไป ต้องทำคดีถึงที่สุด


หลังจากเกิดกรณีนี้ทำให้วงการของนักร้องเรียนต่าง ๆ สั่นสะเทือนพอสมควร ซึ่งจากการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่าพฤติกรรมของนักร้องเรียนประเภทตบทรัพย์ จะมีการโพสต์เฟซบุ๊กก่อนว่าจะมีการแถลงข่าว และแจ้งหมายข่าวล่วงหน้าว่าจะไปร้องเรียนใคร หลังจากนั้นก็จะมีการยกเลิกหมายข่าว และเมื่อไปร้องเรียนจะเป็นการยื่นซองเปล่าไม่มีเอกสารอยู่ด้านใน มีเพียงกระดาษแผ่นเดียว และเมื่อถูกเรียกไปสอบสวนก็จะไม่ไปพบ และเงียบหายไป


โดยลักษณะของคนเหล่านี้จะไม่มีอาชีพ ไม่มีหลักฐานการเสียภาษี แต่มีเงินใช้อยู่ตลอด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ถูกร้องเรียนจะไม่กล้าเอาผิดคนกลุ่มนี้ จึงยอมเอาเงินไปจ่าย เพราะส่วนใหญ่คนที่โดนตบทรัพย์จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่มีบ่อนการพนันเยอะ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง เป็นเรื่องของการตบทรัพย์ล้วน ๆ ส่วนตัวมองว่าคนกลุ่มนี้น่าจะทำมานานแล้ว โดยแนะนำว่าใครที่ได้รับความเสียหายควรออกมาแสดงตัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคลิปหลักฐานใด ๆ เพียงแค่ผู้เสียหายมายืนยันว่าถูกตบทรัพย์ก็สามารถเอาผิดได้แล้ว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าอย่างไรก็ตามวันนี้ นางธัญญรัตน์ ภรรยาอธิบดีกรมการข้าว เดินทางมาศาลแพ่งเพื่อให้การในคดีอื่น แต่ไม่ได้ปรากฎตัวพบสื่อมวลชนแต่อย่างใด.

คุณอาจสนใจ

Related News